สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดินหน้าตรวจสอบความปลอดภัยสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 100 สถานีทั่วประเทศ

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดินหน้าตรวจสอบความปลอดภัยสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 100 สถานีทั่วประเทศ

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่งทีมวิศวกรลงพื้นที่สำรวจความปลอดภัยและสมรรถนะการทำงานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งใช้งานตามที่พักอาศัยและจุดให้บริการสาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และศูนย์ราชการ ครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศมากกว่า 100 สถานี ทั้งที่เป็นสถานีชาร์จฯ ประเภทโหมด 2 (สายชาร์จฉุกเฉิน) ประเภทโหมด 3 (AC Wallbox) และประเภทโหมด 4 (DC Fast Charging)

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า “ตามที่ภาครัฐได้เร่งสนับสนุนให้มีการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ให้สอดรับกับนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือในปี พ.ศ. 2573 หน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งได้จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับการติดตั้งใช้งานสถานีชาร์จฯ ออกมาแล้ว แต่ประเด็นที่อาจจะยังเป็นปัญหาได้แก่ข้อกังวลในการใช้งานภายหลังการติดตั้ง ทั้งด้านสมรรถนะ ความปลอดภัย หรือความเที่ยงตรงของมิเตอร์ สถาบันจึงได้ริเริ่มโครงการจัดทำกระบวนการตรวจสอบรับรองและตรวจติดตามสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งานขึ้น”

“การดำเนินงานระยะแรกของโครงการนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลของสถานีชาร์จฯ ที่ติดตั้งใช้งานแล้ว สถาบันได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดหัวข้อการตรวจสอบและเก็บข้อมูล โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (OR) และผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายรายเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วย”

“ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ทีมวิศวกรของสถาบันได้ตรวจสอบสถานีชาร์จฯ ที่ติดตั้งใช้งานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มากกว่า 100 สถานี การตรวจสอบครอบคลุมด้านสมรรถนะหรือฟังก์ชันการทำงาน เช่น ระบบควบคุมการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับอุปกรณ์ชาร์จ ความเข้ากันได้ของแรงดันไฟฟ้า การสั่งหยุดฉุกเฉินในขณะชาร์จ และด้านความปลอดภัย เช่น การทำงานของอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว ความต่อเนื่องของสายดิน การเรียงลำดับเฟสทางไฟฟ้า ทั้งนี้ สถานีชาร์จฯ ที่ตรวจสอบมีทั้งประเภทโหมด 2 แบบสายชาร์จฉุกเฉิน ประเภทโหมด 3 ที่เป็นเครื่องชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับขนาดเล็กติดตั้งตามที่พักอาศัย รู้จักกันในชื่อ AC Wallbox หรือ Wall Charger และประเภทโหมด 4 ที่เป็นระบบชาร์จเร็วด้วยกระแสตรง หรือ DC Fast Charging ที่ติดตั้งตามจุดให้บริการสาธารณะ ผลที่ได้จากการสำรวจจะนำมาวิเคราะห์ ใช้เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาจัดทำแนวปฏิบัติการตรวจสอบรับรอง การตรวจติดตามภายหลังการติดตั้ง และการกำจัดซากสถานีชาร์จฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสถานีชาร์จฯ รองรับปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวทิ้งท้าย