เผยแพร่ |
---|
เอเชีย อาจเผชิญกับความท้าทายระดับโลกที่รุนแรงขึ้น ในยุคที่กำลังจะมาถึง
โดยคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ด้านธุรกิจของเอเชีย
งานวิจัยล่าสุดที่จัดทำโดย McKinsey Global Institute (MGI) ในหัวข้อ Asia on the cusp of a new era เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกในปัจจุบันอาจส่งผลให้โลกเข้าสู่ยุคใหม่ ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเชียกำลังเริ่มต้นยุคใหม่นี้อย่างแข็งแกร่ง แต่ก็คาดว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายระดับโลกที่เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากบทบาทสำคัญที่เอเชียมีต่อเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ความตึงเครียดทางการค้า สังคมผู้สูงวัย ไปจนถึงความต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ภาคธุรกิจในเอเชียกำลังเตรียมการเชิงรุกสำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการวิจัยใหม่นี้ ทาง MGI ยังได้ร่วมมือกับ Asia Business Council ดำเนินการสำรวจซีอีโอในภูมิภาค ผลการวิจัยพบว่า ซีอีโอ กว่าร้อยละ 80 มีทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ อย่างไรก็ตาม 3 ใน 4 ของบรรดาซีอีโอมองว่าการเปลี่ยนแปลง หรือปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญจะมีความจำเป็นในการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า
“ในยุคที่ผ่านมา เอเชียอาจได้รับประโยชน์มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากเทรนด์สำคัญ เช่น โลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” Jeongmin Seong, Partner, McKinsey Global Institute (MGI) กล่าว “และเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแข็งแกร่ง เมื่อคำนึงถึงภาพรวมซึ่งประกอบไปด้วยประเทศที่หลากหลาย เห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันประเทศในเอเชียได้กลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลกและพร้อมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของยุคใหม่นี้”
“ยุคใหม่จะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างไปจากที่เคยพบเห็นในอดีต และเอเชียจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบการดำเนินการเหล่านี้” Chris Bradley, Senior Partner, McKinsey & Company และ Director, MGI กล่าว “เอเชียเป็นเหมือนเตาที่หล่อหลอมยุคใหม่ และเป็นไปได้ที่เอเชียจะเผชิญกับความท้าทายระดับโลกที่เข้มข้นและแข็งขันมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เอเชียนั้นเป็นทางแยกทางการค้าที่สำคัญของโลก และอาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก”
“ซีอีโอในเอเชียส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคต แต่พวกเขาก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคใหม่นี้” Nick Leung, Senior Partner ของ McKinsey & Company กล่าว “สิ่งที่น่าสนใจคือ ธุรกิจในเอเชียจำนวนมากตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อว่าในปีถัดๆ ไปจะมีความแตกต่างไปจากช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก และพวกเขาจะต้องมีความพร้อมในการปรับตัว”
“ภายในเอเชียมีกลุ่มภูมิภาคที่แตกต่างกันออกไปอย่างน้อย 5 กลุ่มภูมิภาค โดยแต่ละกลุ่มภูมิภาคจะเข้าสู่ยุคใหม่นี้ด้วยวิธีเฉพาะตัวของตัวเอง แต่พร้อมที่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของยุคใหม่นี้ด้วยเช่นกัน” Gautam Kumra, Senior Partner, McKinsey & Company และ Chairman of McKinsey Asia กล่าว “เหล่านานาประเทศในเอเชียในแต่ละภูมิภาคสามารถนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาเกื้อกูลกันผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ”
ข้อมูลสำคัญที่นำเสนอ ได้แก่
– ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเอเชียได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเชื่อมต่อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนการขยายตัวของเมืองและจำนวนเงินทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบัน ร้อยละ 59 ของการค้าที่เกี่ยวข้องกับประเทศในเอเชียเกิดขึ้นระหว่างประเทศในเอเชีย
– ในยุคที่กำลังจะมาถึงนี้ ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากปัจจัยที่มีอิทธิพลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในแกนหลักของปัจจัยเหล่านี้ คาดได้ว่าเหล่าประเทศในเอเชียจะต้องเผชิญกับความท้าทายระดับโลกที่เข้มข้นและแข็งขันมากขึ้นในห้าประเด็นสำคัญ ดังนี้
- เอเชียครองตำแหน่งทางแยกทางการค้าโลก แต่อาจกลายเป็นจุดสำคัญของความตึงเครียดทางการค้า จากเส้นทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก 80 เส้นทาง เอเชียมีส่วนร่วมในอย่างน้อย 49 เส้นทางจากปลายด้านหนึ่ง และอีก 22 เส้นทางจากทั้ง 2 ปลายทาง นอกจากนี้ เอเชียยังเป็นที่ตั้งของระเบียงเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด 18 แห่งจาก 20 แห่งทั่วโลก และ 13 แห่งจาก 20 แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปัจจุบันความร่วมมือทางการค้าอย่างมีประสิทธิภาพเป็นตัวขับเคลื่อนการบูรณาการเชิงพาณิชย์มากกว่าความร่วมมือทางการเมือง แล้วความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่หากความตึงเครียดทางการค้าเพิ่มขึ้น
- เอเชียมีความเป็นเลิศในด้านการผลิตเทคโนโลยี ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า และเซมิคอนดักเตอร์ สัดส่วนดังกล่าวคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 40 ของส่วนแบ่งรายได้ การลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและสิทธิบัตรที่ถือครองโดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นนำ 3,000 แห่งทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังเคลื่อนไปสู่ซอฟต์แวร์และโซลูชันเป็นหลัก แล้วเอเชียจะสามารถสร้างบทบาทใหม่ให้กับตัวเองในฐานะผู้คิดค้นและผู้ผลิตเทคโนโลยีได้หรือไม่
- เอเชียมีตัวเลขของประชากรอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาตลอด โดยมีประชากรวัยทำงานอายุน้อยจำนวนมากและผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นในประเทศเศรษฐกิจที่มีความสำคัญตามแนวขอบแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคที่มีผลผลิตสูงเหล่านี้กำลังเผชิญกับความท้าทายในแง่ของประชากรสูงวัย แม้ว่าเอเชียยังคงมีแรงงานที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเติบโต แต่ประมาณร้อยละ 90 ของการเติบโตที่คาดหวังของแรงงานนอกภาคเกษตรระหว่างปี พ.ศ. 2565-2593 (2022-2050) จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่ระดับผลผลิตค่อนข้างต่ำ แล้วเอเชียจะสามารถเคลื่อนตัวไปสู่ห่วงโซ่คุณค่าใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการกระจายตัวของแรงงานและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานอย่างทั่วถึงได้หรือไม่
- เอเชียเป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ก็ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ปัจจุบันเอเชียยังคงตามหลังในด้านการใช้พลังงาน โดยการใช้พลังงานต่อหัวมีเพียง 1 ใน 3 ของค่าเฉลี่ย OECD เท่านั้น การรักษาความมั่นคงทางพลังงานที่ต้องการอาจมีความซับซ้อนมากขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้า นอกจากนี้ เอเชียยังติดอันดับประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดของโลก และการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ที่ต้องคอยจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่ภูมิภาคต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งยากต่อการลดการปล่อยคาร์บอน แล้วเอเชียจะสามารถรักษาความมั่นคงพลังงานที่จำเป็นพร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้หรือไม่
- เอเชียดึงดูดเงินทุนได้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีมูลค่ารวม 91 ล้านล้านดอลลาร์ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2564 (2000-2021) อย่างไรก็ตาม ความต้องการเงินทุนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทศวรรษหน้า ความต้องการการลงทุนคงที่ของเอเชียอาจสูงถึงเกือบ 140 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเกินกว่ามูลค่ารวมทั้งสิ้น 89 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป แล้วเอเชียจะสามารถรักษาเงินทุนที่จำเป็นในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่คาดการณ์ได้ยากกว่าเดิมและแรงกดดันด้านงบดุลที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ความท้าทายจึงตกไปอยู่ที่การขยายตลาดการเงินและเพิ่มการจัดสรรทุนและผลตอบแทนจากการลงทุน
– เอเชียเข้าสู่ยุคใหม่จากตำแหน่งที่แข็งแกร่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นตัวแทนของกลุ่มคน “ส่วนใหญ่” ของโลก โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2558-2564 (2015-2021) เอเชียมีส่วนทำให้ GDP โลกเติบโตถึงร้อยละ 52 ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2564 (2001-2021) เอเชียมีบทบาทสำคัญโดยมีส่วนทำให้การเติบโตของการค้าโลกร้อยละ 59 และมูลค่าเพิ่มการผลิตทั่วโลกร้อยละ 53 นอกจากนี้ เอเชียยังเป็นที่ตั้งของครัวเรือนชนชั้นกลางถึงร้อยละ 56 ของโลก
– จากการสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดย Asia Business Council พบว่าร้อยละ 82 ของผู้บริหารระดับสูงที่ตอบแบบสำรวจมีทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับยุคที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญหรือการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นทั่วทั้งประเด็นสำคัญทั้งห้า ผลการสำรวจเผยให้เห็นถึงกลุ่มบริษัท 3 ประเภทที่แตกต่างกัน มีดังนี้
- บริษัทประมาณร้อยละ 10 รู้สึกว่าพวกเขาสามารถรักษาแนวทาง “การดำเนินธุรกิจตามปกติ” ได้ ผู้นำธุรกิจส่วนน้อยกลุ่มนี้เชื่อว่าแนวโน้มใน 5 ประเด็นสำคัญดังกล่าวมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ค่อนข้างต่ำสำหรับธุรกิจของตน
- บริษัทประมาณร้อยละ 16 ตระหนักถึงความจำเป็นในการพิจารณาทบทวนกลยุทธ์ของตนใหม่ใน 1 หรือ 2 ประเด็น โดยที่เทคโนโลยีและพลังงานเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุด
- บริษัทกลุ่มที่เหลือกว่าร้อยละ 74 เชื่อว่าพวกเขาจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างน้อยภายใน 3 ประเด็นสำคัญขึ้นไป
หมายเหตุ : รายงานนี้นับเป็นรายงานลำดับที่สามในชุด cusp of a new era ของ MGI ที่มุ่งเน้นไปที่เอเชียเป็นหลัก ในปี พ.ศ. 2565 (2022) MGI เผยแพร่งานวิจัยระดับโลกภายใต้ชื่อ On the cusp of a new era? ในเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2566 (2023) เราได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ปรับแต่งมาโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มละตินอเมริกา ในฐานะส่วนหนึ่งของการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับเอเชีย MGI ได้ร่วมมือกับ Asia Business Council เพื่อดำเนินการสำรวจในหมู่สมาชิก โดยการสำรวจมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อประเมินความเกี่ยวข้องของประเด็นหลักทั้ง 5 ประการที่เป็นแกนหลักของการวิจัยของ MGI และเพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงกลยุทธ์ที่จำเป็น ตลอดจนการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นในแต่ละประเด็น สามารถอ่านบทความดังกล่าวได้ที่นี่
McKinsey Global Institute (MGI)
ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2533 (1990) ภารกิจของเราคือการให้ข้อเท็จจริงเพื่อช่วยผู้มีอำนาจตัดสินใจในประเด็นความท้าทายทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่สำคัญที่สุดแก่ผู้บริหารในบริษัทและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ในขณะที่เราใช้ประโยชน์จากเครือข่ายระดับภูมิภาคที่หลากหลายของ McKinsey ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเฉพาะภาคส่วนอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลและการตัดสินใจด้านบรรณาธิการถือเป็นความรับผิดชอบของทีมงาน MGI แต่เพียงผู้เดียว ความมุ่งมั่นหลักของเราคือการวิจัยและวิเคราะห์ที่เป็นอิสระและขับเคลื่อนด้วยข้อเท็จจริง งานของเราไม่ได้รับมอบหมายหรือสนับสนุนทางการเงินจากธุรกิจ รัฐบาล หรือหน่วยงานอื่นใด เราเผยแพร่ผลการวิจัยของเราต่อสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเงินทุนทั้งหมดของเรามาจากพันธมิตรของ McKinsey หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MGI และเข้าถึงรายงานทั้งหมดของเราได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถเข้าชมได้ที่ http://www.mckinsey.com/mgi