เผยแพร่ |
---|
สสว. เผยเวทีประชุม ASEAN Inclusive Business Summit ครั้งที่ 6 ที่บาหลี อินโดนีเซีย ผู้ประกอบการ SMEs ไทย “บริษัท ภาลักษณ์เจริญ จำกัด” จ.ตาก คว้ารางวัล ASEAN Inclusive Business Award 2023 ด้วยรูปแบบธุรกิจแบบมีส่วนร่วม พร้อมกันนี้เวที ASEAN เดินหน้าขยายผลแนวคิดให้ SMEs แข่งขันได้ เข้าถึงข้อมูลความรู้ และขยายโอกาสทางการตลาด เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายในปี 2568
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ตามที่ สสว. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อยของอาเซียน (ASEAN Coordinating Committee on Micro, Small and Medium Enterprises : ACCMSME) ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกับผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ในการแสวงหาความร่วมมือและแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาทั้งในระดับภูมิภาคและพหุภาคี
โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของ ACCMSME คือการจัดการประชุมสุดยอดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมอาเซียน (ASEAN Inclusive Business Summit) ซึ่งปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2566 ณ จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพอาเซียนในปีนี้ได้ยกระดับการประชุมสุดยอดธุรกิจแบบมีส่วนร่วมอาเซียน โดยจัดการประชุมรัฐมนตรีระดับสูงและแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมธุรกิจแบบมีส่วนร่วมในอาเซียน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางการส่งเสริมธุรกิจแบบมีส่วนร่วมในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการส่งเสริมธุรกิจแบบมีส่วนร่วมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ รวมถึงขยายโอกาสทางการตลาด และจัดพิธีมอบรางวัล ASEAN Inclusive Business Award 2023 โดย H.E. Mr.Teten Masduki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อยกย่องเชิดชูผู้ประกอบการ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business) ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมกับคู่ค้า ผู้ผลิตวัตถุดิบ ลูกค้า หรือแรงงานจากชุมชนรายได้น้อย ฯลฯ ให้ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเอสเอ็มอี ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน
“สสว. ทำหน้าที่เสาะหา คัดเลือก และนำเสนอผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Inclusive Business ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อรับรางวัลดังกล่าว ซึ่งในปีนี้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากประเทศไทยคือบริษัท ภาลักษณ์เจริญ จำกัด จากจังหวัดตาก ผู้ผลิตและแปรรูปสมุนไพรแบรนด์ “Pansan” (ปันแสน) และ “Plantlove” ซึ่งเป็นต้นแบบสำคัญของความมุ่งมั่น ที่เริ่มจากพัฒนาตัวเอง ขยายสู่เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อร่วมกันสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ คืนสิ่งดีๆ สู่ชุมชน ซึ่งในเส้นทางการพัฒนา ยังได้รับการบ่มเพาะและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในส่วนของ สสว. ได้สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน การขยายโอกาสทางการตลาด การสนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้และเครือข่ายการพัฒนา ผ่านโครงการ BDS โครงการ SME ONE ID มาตรการ THAI SME-GP และศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างสนับสนุนการสร้างมาตรฐานเพื่อเข้าสู่ตลาดสากล” ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัท ภาลักษณ์เจริญ จำกัด เริ่มจากการเป็นต้นแบบให้เกษตรกรและเครือข่าย เปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นสวนป่าสร้างอาหารสู่ความยั่งยืน พร้อมๆ กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรักษ์ โดยเลือก “ขมิ้นชัน” เป็นผลิตภัณฑ์นำร่องในการพัฒนาและทำการตลาด ทั้งในรูปแบบขายส่งเป็นวัตถุดิบหลักให้กับบริษัทคู่ค้าและองค์การเภสัชกรรม วิจัยพัฒนาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ชาขมิ้นชัน ชาหัวปลี โกโก้ ที่ได้รับมาตรฐาน อย. เครื่องหมาย BIO ECONOMY พัฒนาโรงงานจนได้รับมาตรฐาน GHP HACCP ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO22000:2018 โดยเป้าหมายเพื่อขยายการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งกระบวนการทำงานดังกล่าวช่วยให้เกษตรกรในเครือข่ายมีรายได้เพิ่มขึ้น และคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สสว. ทำการคัดเลือกเอสเอ็มอีไทยให้ได้รับรางวัล ASEAN Inclusive Business Award มาก่อนหน้านี้แล้ว 2 ราย ได้แก่ 1) ปี 2564 คือ Akha Ama Coffee (กาแฟอาข่าอาม่า) จากจังหวัดเชียงราย ที่มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกับชาวไร่กาแฟเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน จนทำให้กาแฟไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ช่วยสร้างรายได้และพัฒนาให้ชุมชนบ้านแม่จันใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 2) ปี 2565 บริษัท Local Alike ที่มีพันธกิจในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายพื้นที่ เพื่อพัฒนาเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวสำหรับนักเดินทางทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น ทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้รับความนิยมในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วม หรือธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (Inclusive Business) ได้รับความสำคัญและการยอมรับจากประชาคมภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดการสร้างงานและช่วยพัฒนากลุ่มผู้มีรายได้น้อยของภูมิภาคอาเซียนที่มีจำนวนรวม 332 ล้านคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นได้จากปัจจุบัน แม้ว่าจะมีธุรกิจภายใต้แนวคิด Inclusive Business เพียงไม่ถึง 1% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดของอาเซียน แต่สามารถดึงดูดนักลงทุนผู้ทรงอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เกือบ 60% ซึ่งบริษัทเหล่านี้ส่งผลดีต่อประชากรหลายล้านคนในหลายๆ ด้าน เช่น สุขภาพ น้ำ พลังงาน และที่อยู่อาศัย สิ่งต่างๆ ดังกล่าวจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายในปี 2568 ในที่สุด