ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“TRIUP FAIR 2023” เปิดปรากฏการณ์สำคัญแห่งปี ของวงการวิจัยและนวัตกรรมไทย ชูผลงานวิจัยการแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง และ Net Zero Carbon Emission
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านวิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) 9 แห่ง มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน นำโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลกลไกหนุนเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ
รวมถึงหน่วยงานภาคการเงิน และการลงทุนอีกมากมาย ร่วมจัดงานนี้ขึ้นเพื่อผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมของไทยสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับเกียรติจาก ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานในพิธี
พร้อมด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณปริม จิตจรุงพร ประธานคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรม และวิจัย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และผู้มีเกียรติ เข้าร่วมในพิธีเปิดงาน ดังกล่าว
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า แต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการลงทุนในส่วนนี้จะเป็นพื้นฐานของการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ และสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคต แม้จะมีการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกมามาก แต่ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ถูกนำไปต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างได้มากเท่าที่ควร
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการนำผลงานวิจัย พ.ศ. 2564 (Thailand Research and Innovation Utilization Promotion Act ; TRIUP Act) ขึ้น ซึ่งก็คาดหวังให้ทุกภาคส่วนได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศดังเช่นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศที่มีการใช้กฎหมายในลักษณะนี้มาแล้ว ในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญและได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ดังนี้
1) มอบหมายให้ สกสว. ยกร่างเพื่อประกาศใช้กฎหมายลำดับรองและประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2) ดำเนินการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนให้เหมาะสมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงพัฒนากลไก และมาตรการให้เอื้อต่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และหนุนเสริมการทำงานของภาคเอกชน
“อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุผลตามเป้าหมาย และเกิดผลกระทบได้จริงนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อน และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในมิติต่างๆ ซึ่งการที่ สกสว. พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรร่วมกันจัดงาน TRIUP Fair 2023 ครั้งนี้ขึ้นถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เจ้าของผลงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะภาคเอกชนได้มาพบกัน และเกิดการเชื่อมโยงและร่วมเส้นทางสู่การสร้างผลกระทบต่อไป” ประธาน กสว. กล่าวเสริม
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ตามแนวคิด JOURNEY TO IMPACT เส้นทางจากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เห็นได้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและมีรายได้สูง
จะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP มากกว่าร้อยละ 2.5 ในขณะที่ไทยยังลงทุนในสัดส่วนน้อยมากประมาณร้อยละ 1.3 ของ GDP นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การลดลงของแรงงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งล้วนต้องการความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้มากยิ่งขึ้น
“จุดมุ่งเน้นสำคัญของงานนี้ คือ ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU Ecosystem) ที่ได้มาร่วมกันวางเป้าหมายร่วมในการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ไปสู่การสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรม”
“โดยมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าเส้นทางการไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมนั้น จะต้องมีกระบวนการ และมีหน่วยงานที่ต้องเข้ามาหนุนเสริมในแต่ละขั้นตอนอย่างไร และภาพการทำงานใน 3 ประเด็นหลักนี้จะนำไปสู่การขยายโมเดลการทำงานในประเด็นสำคัญอื่นๆ ของประเทศต่อไป” ผอ.สกสว. กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ
1) การจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ของนักวิจัย และผู้ประกอบการไทย รวมกว่า 300 ผลงาน
2) กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ ซึ่งภายในงานได้เปิดพื้นที่เพื่อทํา Business Matching ให้ภาคเอกชนและนักวิจัยได้เจรจาต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์
3) กิจกรรมเวทีเสวนาวิชาการ และการอบรมด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การยื่นขอรับรองมาตรฐาน ที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 60 ท่าน
4) การให้คําปรึกษา และคําแนะนําด้านต่างๆ สําหรับผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจด้านนวัตกรรม อาทิ การเข้าถึงแหล่งทุนวิจัย การให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบและมาตรการกลไกต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินสําหรับการต่อยอดธุรกิจ และการมอบประกาศเชิดชูเกียรติ “งานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบสูง” เพื่อเป็นการยกย่องและเป็นแรงหนุนเสริมให้นักวิจัย และผู้ประกอบการไทยผลิตผลงานที่มีคุณภาพ และสร้างผลกระทบได้จริง
ปรากฏการณ์สำคัญแห่งวงการวิจัยและนวัตกรรมในครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำความสำคัญของกลไกที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น เกิดการเจรจาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการ Startup และภาคเอกชน ช่วยสร้างธุรกิจใหม่ สร้างการเติบโตด้านรายได้ และสร้างความแตกต่างในการแข่งขันได้อย่างแท้จริง