เผยแพร่ |
---|
สสว. เผยแพร่แผนส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 เพื่อเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีไทย
สสว. เผยแพร่แผนส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 มุ่งสร้างขีดความสามารถให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่มแข่งขันได้ และยกระดับเข้าสู่ Global Supply Chain ด้วยแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมเปิดเวทีเสวนา “ถอดรหัส Sustainable Business สำหรับ SME” สะท้อนต้นแบบให้เอสเอ็มอีกลุ่ม BCG ที่มีกว่า 1.9 แสนราย และเตรียมสร้างแผนที่นำทางเอสเอ็มอีสู่ธุรกิจสีเขียว เพื่อฝ่าอุปสรรคการค้าโลกให้กลุ่มผู้ส่งออกกว่า 32,842 ราย และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นถึงปี 2570 จะผลักดัน SME GDP เพิ่มเป็นร้อยละ 40
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานประชุมสัมมนา “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)” และการเสวนา “ถอดรหัส Sustainable Business…สร้างธุรกิจ SME เติบโตยั่งยืน” ว่า
ตามที่ สสว. มีภารกิจเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีของประเทศ ขณะนี้อยู่ภายใต้แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชน ใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนงาน โครงการและกิจกรรม ในการส่งเสริมเอสเอ็มอี โดย สสว. ทำหน้าที่เป็น System Integrator เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้บรรลุเป้าหมายการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (SME GDP) เพิ่มเป็นร้อยละ 40 ในปี 2570
“แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 ต้องการให้เอสเอ็มอีไทย ที่มีกว่า 3.18 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.5 ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ทำได้เพียง 1 ใน 3 ของ GDP รวมของประเทศ หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการยกระดับเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป ช่วยให้เอสเอ็มอีปรับตัวทัน แข่งขันได้ และเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด” ผอ.สสว. กล่าว
แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 มีวิสัยทัศน์ให้ไทยมีเอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันได้ด้วย 3 ประเด็นหลักในการส่งเสริม คือ 1) สร้างการเติบโตให้ครอบคลุม 2) สร้างการเติบโตแบบมุ่งเป้า และ 3) พัฒนาสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างการเติบโตให้ครอบคลุม มีกลยุทธ์ในการยกระดับให้เอสเอ็มอีเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก ด้วยการประยุกต์ใช้ BCG Model (Bio–Circular–Green Model) เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน
โดยเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรม BCG ที่มีศักยภาพ ให้พัฒนาสู่มาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์นวัตกรรมเอสเอ็มอีในกลุ่ม BCG อย่างครบวงจรและเชื่อมโยงสู่เครือข่ายในต่างประเทศ สนับสนุนการมี Carbon Footprint ในสินค้าของเอสเอ็มอี และสนับสนุนให้เกิด Green Procurement รวมถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม เช่น Green Finance เป็นต้น
จากฐานข้อมูลของ สสว. พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลและเกี่ยวข้องกับ BCG ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มพลังงาน วัสดุ เคมี ชีวภาพ และกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 190,537 ราย นับเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญภายใต้แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5
นอกจากนี้ ยังมีเอสเอ็มอีที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากข้อกีดกันทางการค้า ทั้งกลุ่มผู้ส่งออกโดยตรงที่มีจำนวน 32,843 ราย และเอสเอ็มอีที่เป็น Supply Chain ของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ส่งออกไปตลาด EU ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM เช่น กลุ่มพลาสติก เหล็ก อะลูมิเนียน ฯลฯ ที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับอุปสรรคทางการค้าที่จะเกิดขึ้น
สำหรับปี 2566 สสว. มีแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย BCG Model โดยร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการสร้างความตระหนักรู้ และพัฒนาเครื่องมือและเกณฑ์วัด BCG ในกลุ่มเอสเอ็มอีและร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS โดยการพัฒนา SME ให้ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอน (Carbon Footprint) และรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจก
ขณะเดียวกัน สสว. ยังพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้เอสเอ็มอีพัฒนาศักยภาพสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นระบบ THAI SME-GP แพลตฟอร์มศูนย์รวมข้อมูลความรู้อย่าง SME ONE / SME Academy 365 และ SME Coach เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำแนวทางการเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีต่อมาตรการ CBAM เพื่อสร้างแผนที่นำทางเอสเอ็มอีในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เชื่อมต่อระบบนิเวศในการพัฒนา และบูรณาการความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความยั่งยืน
อย่างไรก็ดี เพื่อเผยแพร่แผนการส่งเสริมเอสเอ็มอีไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สสว. ได้จัดงานประชุมสัมมนา “ถอดรหัส Sustainable Business…สร้างธุรกิจ SME เติบโตยั่งยืน” โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้นแบบที่ทำธุรกิจด้วย BCG Model ได้แก่
นายอมรพล หุวะนันทน์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Moreloop แพลตฟอร์มออนไลน์ขายผ้า deadstock จากโรงงานที่ยึดหลักทำธุรกิจแบบ Circular Economy นาย ลี-อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ AKHA AMA Coffee แบรนด์กาแฟท้องถิ่นที่เติบโตสู่สากลด้วยการพัฒนาที่คงความหลากหลายทางชีวภาพ และนางสาวปรัชวัน เกตวัลห์ จากบริษัท DTGO ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ธุรกิจ มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีมองเห็นโอกาสและแนวทางการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐ ได้เห็นช่องทางการบูรณาการเพื่อการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้บรรลุเป้าหมายทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศต่อไป