“กลุ่มพูลผล และ SMS Group” จัดงาน “วันสมาชิกชาวไร่” ปีที่ 30

“กลุ่มพูลผล และ SMS Group” จัดงาน “วันสมาชิกชาวไร่” ปีที่ 30

เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสู่ความยั่งยืน

เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนเพาะปลูก ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

 

กลุ่มพูลผล และกลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส จัดงาน “วันสมาชิกชาวไร่” ประจำปี 2566/2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 30 สานต่อการช่วยเหลือและสนับสนุนสมาชิกชาวไร่ของบริษัท รุกจัดโครงการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนเพาะปลูก มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสู่ความยั่งยืน

กลุ่มพูลผล และกลุ่ม เอส เอ็ม เอส

จัดงาน “วันสมาชิกชาวไร่” ต่อเนื่องปีที่ 30

ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มพูลผล ได้เปิดเผยถึงการจัดงาน “วันสมาขิกชาวไร่” ครั้งล่าสุดว่า

“การจัดงาน “วันสมาชิกชาวไร่” ประจำปี 2566/2567 ครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 30 นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรให้ยืดอาชีพการปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพที่มั่นคงผ่านรูปแบบ “ระบบสมาชิกชาวไร่” ด้วยการรับซื้อผลิตผลหัวมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี และแต่ละปีบริษัทฯ จะซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมากกว่า 3,700 ครอบครัว”

ทั้งนี้ ดร.วีรวัฒน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส เป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มพูลผล ซึ่งก่อตั้งมากว่า 37 ปี และเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรคุณภาพสูงระดับแนวหน้าของประเทศไทยและของโลกที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้ริเริ่มนำแป้งมันสำปะหลังมาดัดแปร โดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันสำปะหลัง และเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร กระดาษ สิ่งทอ กาว อาคารและสิ่งก่อสร้าง รวมถึงพลาสติกชีวภาพ กลุ่ม เอส เอ็ม เอส มีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรทั้งหมด 3 แห่งที่ปทุมธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ด้วยกำลังการผลิตรวมประมาณ 4 แสนตันต่อปี ส่งผลให้กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส ครองตำแหน่งเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรของคนไทยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้”

“เพื่อนคู่คิด สมาชิกชาวไร่”

ดร.วีรวัฒน์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส ภายใต้แนวคิด “เพื่อนคู่คิด สมาชิกชาวไร่” ว่า

“เนื่องจากบริษัทฯ ตระหนักดีว่า หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของกลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คือ “เกษตรกร” ซึ่งเปรียบเสมือน “หุ้นส่วนที่สำคัญ” ของบริษัทฯ ดังนั้น ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการผ่าน “ระบบสมาชิกชาวไร่” และได้ขับเคลื่อนจนทำให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ทางด้านเกษตรกรก็ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่านการดำเนินการทำโครงการ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ อีกมากมายของบริษัทฯ กับเกษตรกร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชน

ที่สำคัญ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นและมุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุนของเกษตรกรด้วย โดยได้ดำเนิน “โครงการการเพิ่มผลิตมันสำปะหลัง” ภายใต้สโลแกน “เพื่อนคู่คิด สมาชิกชาวไร่” เพื่อมุ่งส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรต่อไร่ให้สูงขึ้นในรูปแบบของ SMS Model เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับแต่ปัญหาจากการเพาะปลูกของเกษตรกรที่ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ซึ่งบริษัทฯ ได้นำประเด็นปัญหาดังกล่าวมาพูดคุยในกลุ่มสมาชิก เพื่อหา “ปัจจัยสู่ความสำเร็จ” ทั้งการค้นคว้าหาข้อมูลที่หน่วยงานวิชาการได้ศึกษามาก่อนหน้านี้แล้ว ตลอดจนการทดลองต่างๆ เพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหา หรือการทดลองร่วมกับเกษตรกรที่สนใจ และนำสิ่งที่ได้เหล่านี้ไปส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกร ประกอบด้วย การแบ่งปันความรู้ทั่วไปทางด้านการปลูกมันสำปะหลังให้กับเกษตรกรด้วยกัน, การทำแปลงสาธิต เช่น การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อลดการใช้ปุ๋ยโดยไม่จำเป็น และลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์, การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน ด้วยปุ๋ยพืชสด เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกษตรกรได้รู้จัก, การปลูกมันสำปะหลังด้วยการใช้ Bio Plastic Mulch Film ซึ่งเป็นฟิล์มคลุมดินที่ย่อยสลายได้เพื่อระบบนิเวศ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินโครงการช่วยเหลือและลดต้นทุนการปลูกของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อาทิ ในปี 2560 ซึ่งราคามันสำปะหลังตกต่ำลงอย่างมาก บริษัทฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นเงินพิเศษแก่เกษตรกรคู่ค้ามากกว่า 1,900 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านบาท, การทำปุ๋ยหมักจากเปลือกดิน เพื่อลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน และยังช่วยปรับโครงการดินให้มีสารอินทรีย์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แจกพันธุ์มันดี เพื่อลดการซื้อต้นพันธุ์ โดยเกษตรกรนำต้นพันธุ์ไปปลูกจนเพียงพอ แล้วนำมาคืนในปีถัดไปเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรคนอื่นๆ ได้มีปลูกต่อไป”

มุ่งยกระดับ “ความกินดี อยู่ดี” ของเกษตรกร

ดร.วีรวัฒน์ กล่าวถึงความมุ่งมั่นอีกประการของบริษัทฯ เพิ่มเติมว่า

“กลุ่มเอส เอ็ม เอส ยังมีโครงการเพื่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรในนามของ “โครงการอยู่ดี มีความสุขของเกษตรกร” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชุมชน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยบริษัทฯ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความรู้และสร้างรายได้ของชุมชนและด้านสุขภาพ ประกอบด้วย

โครงการเพาะเห็ดจากเศษดินและเปลือกมันสำปะหลังในโรงเรียน และชุมชน ซึ่งเป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตของโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้นำไปประกอบอาชีพ และขยายผลสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยบริษัทฯ สนับสนุนวัตถุดิบ และวิทยากรเพื่อสอนการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยอย่างง่ายๆ ตลอดจนการสร้างโรงเรือนเพื่อเพาะเห็ด ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้โรงเรียนสามารถนำเห็ดที่ปลูกไปประกอบอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กนักเรียน หรือจำหน่ายให้กับชุมชนในราคาถูกได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมี โครงการศูนย์เรียนรู้มันสำปะหลัง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน โดยให้ความรู้กับนักเรียนอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อทำให้เยาวชนเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการปลูกมันสำปะหลังได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับ การดูแลสุขภาพของเกษตรกร โดยจัดการอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งตรวจหาสารเคมีในเลือดให้แก่เกษตรกร รวมทั้งดำเนินโครงการเพื่อสังคมด้วย การรณรงค์งดใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทั้งแรงงานบังคับ และแรงงานเด็กอีกด้วย”

รุกใช้ AgriTech พัฒนาแอป FMS

ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

สำหรับความมุ่งมั่นของบริษัทฯ เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

ดร.วีรวัฒน์ กล่าวถึงการดำเนินโครงการของบริษัทฯ เพิ่มเติมว่า

“บริษัทฯ ยังมีโครงการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและนำ AgriTech มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในนามของโครงการ “ส่งมาก แลกได้มาก” เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรสมาชิกคู่ค้าได้สะสมแต้มจากการขายหัวมันสำปะหลัง และนำมาแลกเป็นของรางวัลต่างๆ นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ อีกมากมาย และสามารถติดตามข่าวสารของบริษัทฯ ได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน FMS (Farmer Member Survey) ที่มีความทันสมัย เพื่อตอบสนองการใช้งานของเกษตรกร และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรในปัจจุบัน พร้อมทั้งทำให้เกษตรกรสามารถดูคะแนนสะสมจากการขายหัวมันสำปะหลัง รวมทั้งการจองและการแลกของรางวัล ตลอดจนการจองคิวเพื่อขายมันสำปะหลัง อีกทั้งสามารถบันทึกข้อมูลเพาะปลูก และบันทึก ต้นทุนการเพาะปลูกผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้อีกด้วย”