สอน. ชูปัญญาประดิษฐ์ เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สู่สากล

สอน. ชูปัญญาประดิษฐ์ เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สู่สากล

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ดำเนินการจัดทำโครงการ “พัฒนาระบบวิเคราะห์และชี้นำเตือนภัยอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย” โดยเน้นแนวทางที่จะต่อยอดและบูรณาการร่วมกับระบบสารสนเทศ และฐานข้อมูลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาเป็นแกนหลักในการพัฒนาระบบวิเคราะห์และชี้นำเตือนภัยอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

นอกจากนี้ จะได้พัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์การดำเนินงานตามภารกิจหลักของสำนักงานฯ และเชื่อมโยงกับระบบศูนย์ข้อมูล (Data Center) และระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytic) สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “การจัดทำโครงการ “พัฒนาระบบวิเคราะห์และชี้นำเตือนภัยอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้สามารถวิเคราะห์ คาดการณ์และแจ้งเตือนสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทรายโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และแม่นยำมากยิ่งขึ้น สร้างนักวิเคราะห์ข้อมูลด้านอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ในการวางแผน สนับสนุนการตัดสินใจ สำหรับการบริหารจัดการเชิงนโยบายและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การอบรมในวันนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงฝ่ายของโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย เพื่อทุกคนมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลและไอที การนำเอาข้อมูลที่ค่อนข้างมีความหลากหลายของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาทำการวิเคราะห์และนำเสนอ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับข้อมูลต่างๆ ให้มาอยู่ในระบบเดียวกันและมีการสื่อสารหรือทำงานร่วมกันได้ในทุกภาคส่วนและหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางส่วนจังหวัด ข้อมูลทางส่วนภูมิภาค ข้อมูลทางส่วนกลางตลอดจนข้อมูลในระดับเวทีสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเรามีข้อมูลที่ค่อนข้างจะแม่นยำ เพื่อเตรียมการในอนาคตได้ว่าจะสามารถจัดการตัวปริมาณน้ำตาล ปริมาณอ้อยได้นั้น เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสากล มีการส่งออกฤดูกาลหนึ่งไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการติดอาวุธในกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่ให้ครบเครื่องที่สุด เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับระดับโลกได้”

“สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ต้องการวางแผนข้อมูลเรื่องของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายครบวงจรทั้งหมด ตั้งแต่การเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุปสงค์ (Demand-side) และ อุปทาน (Supply-side) ด้านละ 3 เรื่อง ประกอบด้วย อ้อย น้ำตาล และชีวภาพเป็นอย่างน้อย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ภาคธุรกิจลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ

พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการวางรากฐานการแข่งขันเชิงธุรกิจในระยะยาวภายในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์ One Stop Service ได้บริการข้อมูลข่าวสารได้อย่างแม่นยำ มุ่งเน้นการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ที่จะส่งผลต่อการขยายฐานเศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานของไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายนรุณ กล่าวทิ้งท้าย