สสว. ต่อยอดมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน ปี 2 ลุย อุดหนุนค่าใช้จ่าย SMEs

สสว. ต่อยอดมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน ปี 2 ลุย อุดหนุนค่าใช้จ่าย SMEs ในสัดส่วน 50-80%

สสว. เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการ จัดเสวนา “ถอดรหัส ไขเคล็ดลับ BDS : SME ปัง ตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ปีงบประมาณ 2566 มุ่งพัฒนา ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการผ่านมาตรการ “SME ปัง ตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” พร้อมอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเอสเอ็มอี แบบร่วมจ่าย (Co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 วงเงินสูงสุดถึง 200,000 บาท

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายในงานเสวนา “ถอดรหัส ไขเคล็ดลับ BDS : SME ปัง ตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” ว่า จากการที่ สสว. ได้ดำเนินมาตรการการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน ผู้ประกอบการ MSME เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ที่ผู้ประกอบการจะสามารถเลือกรับการบริการหรือพัฒนาทางธุรกิจกับผู้ให้บริการทางธุรกิจ ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” ปี 2565 มาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ สสว. จึงมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการในระยะที่ 2 ผ่านมาตรการ “SME ปัง ตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (MSME Recovery & Beyond) ปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการ MSME ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังได้มีการขยายระยะเวลาการดำเนินงานปี 2565 ไปจนถึงเดือนกันยายน 2566

ผอ.สสว. กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2566 สสว. มีโครงการที่น่าสนใจมากมายที่ผู้ประกอบการจะได้ใช้สิทธิ์เป็น 2 เท่า โดยมุ่งเน้นกิจกรรมผ่านโครงการ BDS ซึ่งเพิ่มหมวดการพัฒนาเป็น 5 หมวด ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาและบริหารธุรกิจ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและตลาดและการพัฒนาสู่ตลาดต่างประเทศ ณ ขณะนี้ มีผู้ให้บริการทางธุรกิจรวมกว่า 120 ราย

และบริการที่อยู่ในระบบกว่า 200 บริการ และยังเพิ่มบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการ สามารถเลือกรับบริการเพื่อพัฒนาธุรกิจได้เอง ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS โดย สสว. พร้อมจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเอสเอ็มอีแบบร่วมจ่าย (Co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 วงเงินสูงสุด 200,000 บาท ตามขนาดของธุรกิจ

“สสว. ขอเชิญชวน ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน SME One ID และสมัครเข้าร่วมโครงการ BDS สามารถสมัครเข้ารับการช่วยเหลืออุดหนุนบนแพลตฟอร์มนี้ได้ที่ Application SME Connext และ bds.sme.go.th เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ มีศักยภาพและเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง พร้อมขยายสัดส่วนมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของเอสเอ็มอีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่อไป” ผอ.สสว. กล่าว

ขณะที่ นางสุดา ยังให้ผล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในฐานะหน่วยพันธมิตรให้บริการ หรือ BDSP กล่าวถึงการจับมือกับ สสว. ว่า สถาบันฯ ได้ให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อการพัฒนาตามความเชี่ยวชาญของเรา โดยเฉพาะด้านสิ่งทอ แบบครบวงจร ทั้งการจัดอบรมให้ความรู้ และด้านห้องปฏิบัติการทดสอบด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน

เราสามารถทดสอบวัสดุสิ่งทอ สินค้าสำเร็จรูป เส้นด้าย เส้นใย สิ่งทอ เสื้อผ้า สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร รวมมากกว่า 500 รายการ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานสากล มาตรฐานโรงงาน มาตรฐานผู้ซื้อผู้ขาย ที่จำหน่ายภายในประเทศและเพื่อการส่งออก รวมทั้งมาตรฐาน ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ฉลาก Smart Fabric ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) ฉลาก Cool Mode ฉลากเสื้อประหยัดพลังงานเบอร์ 5 มาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้านความปลอดภัย (S-Mark) เป็นต้น

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้ร่วมกับ สสว. ส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ปีงบประมาณ 2566 โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มองหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยอุดหนุนค่าใช้จ่าย แบบร่วมจ่าย (Co-payment) ตามมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อออกงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านแพ็กเกจต่างๆ”

“โดย MSME ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี ภาคการค้า และภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 50% ส่วน ไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท และกิจการเพื่อสังคม หรือ SOCIAL ENTERPRISE (SE) ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 40 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80%”

ด้าน ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อีกหนึ่งหน่วยพันธมิตรให้บริการ หรือ BDSP เผยว่า ในสภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากโควิดผ่านพ้นไป ผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน

เพื่อเร่งให้ธุรกิจกลับมาเดินหน้าต่อได้อีกครั้ง การที่ สสว. ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจรายย่อย ให้สามารถเข้าถึงงานบริการของหน่วยงานผู้ให้บริการได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงนวัตกรรมในการยกระดับสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่าง

“สำหรับในปี 2566 วว. ได้เตรียมบริการที่สอดคล้องกับหมวดการสนับสนุนของ สสว. โดยมุ่งเน้นการให้บริการวิจัยและพัฒนาภายใต้ BCG Model ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล ครอบคลุมผู้ประกอบการใน Sector ต่างๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรแปรรูป อาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร และพลังงาน เป็นต้น”

“ซึ่ง วว. เชื่อมั่นว่าการเข้าร่วมเป็น BDSP กับ สสว. ในครั้งนี้ จะสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจรายย่อยได้อย่างแน่นอน”

ซึ่งการดำเนินโครงการสามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการอย่างแท้จริง โดย นายเชาว์ เมธาเพิ่มสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้ใช้บริการแพลตฟอร์มในปี 2565 กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการ ของ สสว. ผ่าน BDS ทำให้ เพอร์มา สามารถผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสิ่งทอ ให้ประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก จากวิกฤต COVID-19 แต่ก็ข้ามผ่านมาได้

เราเป็นผู้ประกอบการสิ่งทอขนาดเล็ก ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีนวัตกรรม จนเป็นที่รู้จักและต้องการของตลาดได้ ก็เพราะได้รับความสนับสนุนจาก สสว. และหน่วยพันธมิตรให้บริการ โดยให้ทุนสนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืน ตลอดจนสินค้าสำเร็จรูป ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทออีกด้วย

ภายในงาน ยังจัดให้มีกิจกรรมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ให้บริการ ทางธุรกิจ และพัฒนาระบบการให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (BDS) ระหว่างกัน พร้อมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน SME ปัง ตังได้คืน ปี 2 รวมถึงวิธีการที่ทำให้สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ตามเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นด้านการตลาดอย่างเข้มข้น กระทั่งกิจกรรมที่เต็มอิ่มด้วยความรู้ และการสานต่อความร่วมมือ เพื่อพัฒนาธุรกิจ ได้จบลงด้วยความประทับใจ