เป๊ปซี่โค ผุด pep+ กลยุทธ์ใหม่ ที่เน้นความยั่งยืน-พัฒนาประชากรโลก

เป๊ปซี่โค เดินหน้าสานพลังบวก pep+ ผลักดันการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเกษตรกร ด้วยเทคโนโลยี และโครงการความร่วมมืออย่างรอบด้าน

เป๊ปซี่โค ได้ประกาศกลยุทธ์ PepsiCo Positive (pep+) ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อปรับโฉมธุรกิจในทุกขั้นตอน โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลก ด้วยการนำเรื่องความยั่งยืนและการพัฒนาประชากรโลก เข้ามาเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจและคุณค่าให้กับสังคม

กลยุทธ์ pep+ ถูกผนวกเข้ามาในทุกส่วนของธุรกิจ โดยในรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ปี 2564 ได้กล่าวถึงรายละเอียดเรื่องความก้าวหน้าและแสดงตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง จาก 3 เสาหลักภายใต้กลยุทธ์ ซึ่งประกอบด้วย การเกษตรเชิงบวก (Positive Agriculture) ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก (Positive Value Chain) และทางเลือกเชิงบวก (Positive Choices)

สนับสนุนเกษตรแบบฟื้นฟูและเกษตรอัจฉริยะ

หนึ่งในกลยุทธ์ PepsiCo Positive (pep+) ของเป๊ปซี่โค มีเป้าหมายและแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อผืนดิน เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้านการเกษตรบนที่ดินอันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งหมด 7 ล้านเอเคอร์ทั่วโลก จัดหาพืชผลและวัตถุดิบหลักอย่างยั่งยืน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรจำนวน 250,000 คน ในห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรของบริษัท

โดยการนำระบบเกษตรแบบฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) และเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เข้ามาช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาวะทางชีวภาพของดิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนศักยภาพให้กับเกษตรกร

ที่สำคัญ เป๊ปซี่โค ยังได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารการจัดการน้ำและแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้ระบบน้ำหยด (Drip Irrigation System) การใช้เทคโนโลยีต่างๆ อาทิ โซลาร์เซลล์ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพของดิน และความเป็นไปได้ในการเกิดโรคพืชโดยการใช้โดรน เข้ามาใช้ในแปลงปลูกมันฝรั่งของเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับบริษัท

ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรได้จาก 1.5 ตันต่อไร่ เป็น 4 ตันต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรสามารถลดต้นทุนทางการผลิตได้ รวมถึงสามารถลดน้ำที่เหลือทิ้งสูญเปล่าได้เช่นเดียวกัน

คุณคอลิน แมทธิวส์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายซัพพลายเชน บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด

โครงการ “Journey to Zero Waste” เก็บกลับขยะพลาสติกยั่งยืน

เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มุ่งมั่นในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกอ่อนหลายชั้น หรือ MLP (Multilayer Plastic) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหา ขยายการเรียนรู้เรื่องการจัดการและแยกขยะร่วมกับชุมชนต่างๆ รวมถึงการเก็บกลับขยะบรรจุภัณฑ์ MLP หลังการบริโภค เพื่อนำไปแปรรูปและเพิ่มมูลค่า

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา เป๊ปซี่โคได้นำขยะ MLP ที่ได้ไปแปรรูปเป็นไม้เทียม เพื่อเป็นเก้าอี้ และโต๊ะนักเรียน ส่งมอบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มีเป้าหมายขยายโครงการฯ และความร่วมมือไปยังพันธมิตรและชุมชนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสานต่อภารกิจภายใต้กลยุทธ์ pep+ และกำจัดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์อ่อนหลายชั้น (MLP) อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เสริมสร้างศักยภาพสตรี (Woman Empowerment)

ไม่เพียงแต่การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนของภาคสังคม เป๊ปซี่โคให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียม เป๊ปซี่โคมุ่งมั่นที่จะผลักดันเรื่องความหลากหลายในที่ทำงาน โดยกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 พนักงานของเป๊ปซี่โคระดับผู้จัดการขึ้นไป จะต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชาย อยู่ที่ 50:50 เป๊ปซี่โค เชื่อมั่นในความแตกต่างและความหลากหลาย ความหลากหลายจะนำมาซึ่งนวัตกรรม และนวัตกรรมจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่า

คุณคอลิน แมทธิว (Mr.Colin Matthews) ผู้อำนวยการอาวุโสด้าน Supply Chain ของ PepsiCo Indochina Food ย้ำว่า เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ถือเป็นบริษัทด้านการเกษตรที่มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้การทำไร่มันฝรั่งในประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันและประสบความสำเร็จของเกษตรกรไทยเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจเป๊ปซี่โค ประเทศไทย

คุณจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด

ในปัจจุบัน การทำการเกษตรกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เป๊ปซี่โคมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรร่วมกับเกษตรกรไทยเพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตของฟาร์มเพิ่มขึ้น มีความยั่งยืน และเกษตรกรและชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเชื่อมั่นในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในการสร้างความก้าวหน้าให้กับการเกษตรของประเทศไทย