“โรคหลอดเลือดสมอง” ต้นเหตุอัมพาต ไม่ว่าวัยไหน ก็เป็นได้

“โรคหลอดเลือดสมอง” ต้นเหตุอัมพาต…ไม่ว่าวัยไหนก็เป็นได้

มีหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าโรคหลอดเลือดสมอง หรือ STROKE เป็นความเสี่ยงเฉพาะผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงโรคนี้สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยบ่อยขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 18-50 ปี ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยอายุน้อย ส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัจจัยที่มาจากอายุ เพศ หรือเชื้อชาติ แต่อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ ได้แก่

1. ปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาเสพติด

2. ปัจจัยที่เกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ภาวะหลอดเลือดแข็งตัวง่าย ความผิดปกติของหลอดเลือด และโรคทางพันธุกรรม

3. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคในผู้หญิง เช่น ไมเกรนชนิดมีอาการนำ การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน และการตั้งครรภ์

โดยอาการของโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยอายุน้อย จะมีอาการคล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยที่มีอายุมาก ดังนี้

– ปวดศีรษะรุนแรงและฉับพลัน

– คอแข็ง

– พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง

– คิดคำพูดไม่ออก สื่อสารไม่เข้าใจ

– แขนขาอ่อนแรง ข้างใดข้างหนึ่ง

– แขนขาชา ข้างใด ข้างหนึ่ง

– เวียนศีรษะ เดินเซ

– ภาพซ้อน มองเห็นผิดปกติไป

หากมีความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยทางด้านพฤติกรรม โรคประจำตัว หรือมีอาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาตามความเหมาะสม ตลอดจนสามารถเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต ให้กับผู้ป่วยได้

 

ศูนย์สมองและระบบประสาท

โรงพยาบาลเวชธานี