มองอนาคต ขยะพลาสติกของไทย กับโอกาสสู่เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก สร้างธุรกิจให้ถูกทาง

มองอนาคต ขยะพลาสติกของไทย กับโอกาสสู่เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก สร้างธุรกิจให้ถูกทาง

ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับเรามาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว 1.91 ล้านตัน แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.35 ล้านตัน ที่เหลืออีก 1.56 ล้านตันอยู่ในบ่อขยะและหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา การนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิล และการเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นับว่าเป็นการจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

จากงานวิจัยของ Ocean Conservancy เผยว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด โดยระบุว่า ขยะพลาสติกกว่า 60% ของทั้งโลกมาจาก 5 ประเทศในเอเชีย นั่นคือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

Roadmap ประเทศไทยกับเป้าหมายลดขยะพลาสติก

สำหรับการจัดการขยะพลาสติกในไทย รัฐบาลได้มีมติรับร่าง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ โดยคาดว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3.9 พันล้านบาทต่อปี

โอกาสธุรกิจ หลอดกระดาษ ขยับสูงขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ การที่สภายุโรปออกมาตรการรับมือกับปัญหาปริมาณขยะทะเลที่ส่วนใหญ่มาจาก ขยะพลาสติก ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง 10 ประเภท ทำให้ เทรนด์ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะร้านอาหารและร้านกาแฟจำนวนมากที่ต้องปรับตัวใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก โดยเฉพาะการหาวัสดุทดแทนการใช้งานหลอดพลาสติก ซึ่งทำให้ดีมานด์หลอดกระดาษเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยจะเห็นได้จากรายงานล่าสุด Transparency Market Research ของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า ความต้องการหลอดกระดาษจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 มีมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงระหว่างปี 2019-2027 จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ที่ 13.8% ต่อปี ซึ่งมาตรการที่ภาครัฐแบนการใช้หลอดพลาสติก เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกามีการทิ้งหลอดพลาสติกกว่า 500 ล้านหลอดต่อวัน นั่นจะทำให้เกิดความต้องการหลอดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมหลอดกระดาษอย่างแน่นอน

หลอดกระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือ?

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษหรือผลิตภัณฑ์กระดาษแทนการใช้พลาสติกยังเป็นที่กังขาในหลายประเด็น ซึ่งบทความที่เผยแพร่โดย สถาบันพลาสติก (http://plastic.oie.go.th) ได้ให้ข้อแนะนำในประเด็นนี้ไว้ว่า ผู้ประกอบการควรใส่ใจและรอบคอบในเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์กระดาษดังกล่าว

จากรายงานการวิจัยหลายฉบับ พบว่า หลอดกระดาษนั้นไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปเสียทั้งหมด ซึ่งข้อเสียที่พบคือ การผลิตหลอดกระดาษรีไซเคิลต้องใช้คลอรีนในการฟอกสีกระดาษ ซึ่งเมื่อนำไปใช้ อาจทำให้เกิดสารตกค้างในร่างกายผู้บริโภคและทำให้เครื่องดื่มมีรสชาติผิดเพี้ยนได้ นอกจากนี้ ในการผลิตหลอดกระดาษ ยังต้องใช้ต้นทุนที่สูงกว่าหลอดพลาสติก รวมถึงยังต้องใช้สารเติมแต่งหลายตัวที่จำเป็นสำหรับการทำให้หลอดกระดาษมีความแข็งแรงไม่เปื่อย ยุ่ยง่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจกลายมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจหลอดกระดาษได้

แต่ข้อดีของหลอดกระดาษก็คือ การนำไปรีไซเคิลได้ และกระบวนการผลิตหลอดกระดาษจากกระดาษรีไซเคิลนั้นใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าหลอดที่ผลิตจากเยื่อไม้โดยตรง ซึ่งตอบโจทย์การทำธุรกิจสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การผลิตหลอดจากสาหร่ายทะเล ที่ใช้งานได้ดีกว่าหลอดกระดาษเพราะจะไม่เปื่อย ยุ่ย ง่ายเท่าหลอดกระดาษ นอกจากนี้ หลอดสาหร่ายทะเลยังให้ความรู้สึกเหมือนการใช้หลอดพลาสติก แต่ไม่มีความเค็มของสาหร่ายทะเลมาเจือปนแต่อย่างใด

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด ผู้ผลิตแกนกระดาษที่ต่อยอดธุรกิจของตัวเองสู่การผลิต ‘หลอดกระดาษรักษ์โลก’ โดยใช้หลักการย่อส่วนแกนกระดาษให้เล็กลง และด้วยความชำนาญเรื่องการผลิตกระดาษมาเกือบ 40 ปี ทำให้หลอดกระดาษมีความแข็งแรงไม่เปื่อยยุ่ยง่าย และไม่ทำให้หลอดกระดาษที่แช่ในเครื่องดื่มนานๆ รสชาติผิดเพี้ยนหรือเสียรสชาติไป โดยไม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย แต่กลับเป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ สร้างธุรกิจใหม่ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ได้อย่างชาญฉลาด

อ่านบทความ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด : ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว ผู้ผลิตแกนกระดาษ TOP 5 เมืองไทย

จับตา ‘ตลาดพลาสติกชีวภาพ’ ขยายตัวทั่วโลก

เมื่อกระแสผลิตจากวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ง่ายกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก โอกาสแจ้งเกิด  ‘พลาสติกชีวภาพ’ จึงเริ่มเปล่งประกายมากขึ้น ยืนยันได้จากรายงานล่าสุดของ Market Analyst ที่ระบุว่าตลาดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพจะเติบโตขึ้นจากในปี 2018 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 2,960 ล้านเหรียญสหรัฐ จะมีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2023

ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่กล่าวถึงนี้ เป็นพลาสติกที่ผลิตด้วยวัตถุดิบจากพืช เช่น อ้อย มัน แป้งข้าวโพด และอื่นๆ เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งพลาสติกชีวภาพช่วยลดการใช้ปิโตรเลียมและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เพราะได้ชื่อว่าผลิตจากเป็นวัสดุอินทรีย์

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ของไทย ระบุว่า สินค้าเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือ Bioplastic เป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มเติบโตสูง ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG

โดยไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตและส่งออกสินค้ากลุ่ม ‘พลาสติกชีวภาพ’ โดยเฉพาะเม็ดพลาสติกชนิดโพลีแลคติคแอซิด (Polylactic Acid) หรือ PLA ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ทำมาจากข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง หรืออ้อย ซึ่งนิยมใช้ในการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์หลายประเภท อาทิ กล่อง จาน ช้อนส้อม มีด แก้วน้ำที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผ้าอ้อม หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ภายในบ้าน ซึ่งไทยมีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบตั้งต้นที่นำไปใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ อาทิ มันสำปะหลังและอ้อย ทั้งปริมาณและคุณภาพ จึงทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงและเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกเม็ดพลาสติก PLA สูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ในปี 2564 ยอดการส่งออกเม็ดพลาสติก PLA ของไทย มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 112.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 50% จากปี 2563 โดยตลาดส่งออกสำคัญและมีการขยายตัวสูง ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ จีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

ที่ผ่านมา มีนักวิจัยไทย ได้วิจัยเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพจากวัตถุดิบชีวมวลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นมูลค่าต่ำ นำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพได้ และเมื่อเทียบแล้วมีคุณภาพพอๆ กับเม็ดพลาสติกชีวภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีหน่วยงานเอกชนนำมาต่อยอดและทำการตลาดในต่างประเทศ จนทำให้เกิดตลาดส่งออกในต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขอยกตัวอย่างที่ดีในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดรักษ์โลกจนประสบความสำเร็จ อย่าง บริษัท โกลบอล ไบโอพอลิเมอร์ จำกัด ที่ผลิตเม็ดพลาสติกจากพืชเกษตรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเกิดปัญหาขยะพลาสติก นำพาบริษัทประสบความสำเร็จ ลูกค้าต่างชาติให้การยอมรับทั้งจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป และกำลังขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในการใช้ไบโอพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น ตอบรับกระแสโลกร่วมด้วยช่วยลดปัญหาการเกิดขยะพลาสติกซึ่งทุกประเทศกำลังให้ความสำคัญ

อ่านบทความ บริษัท โกลบอล ไบโอพอลิเมอร์ จำกัด : Save The World ‘โกลบอล ไบโอพอลิเมอร์’

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นี่เป็นโอกาส สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ เทรนด์รักษ์โลกนี้จึงเป็นโอกาสที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างไม่ต้องสงสัย รับรองได้ว่ามาไม่ผิดทางแน่นอน เพราะผู้บริโภคและผู้ประกอบการ SMEs ยุคใหม่ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม ถึงจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ด้วยความยั่งยืน (Sustainability)

ที่มา 

https://www.nxpo.or.th/th/10302/

http://plastic.oie.go.th/

http://plastic.oie.go.th/ReadArticle.aspx?id=19003

https://www.voathai.com/a/un-issues-urgent-call-for-curbs-on-use-of-plastic/4426445.html

http://plastic.oie.go.th/ReadArticle.aspx?id=19291

https://www.ryt9.com/s/beco/3298598

https://www.thaiplastics.org/img/content_attachment/attach/plastics_foresight_vol.8_.pdf

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือ สายด่วน 1333