หยิบเอา ปลาตะเพียน มาแปรรูปเป็น ปลาส้ม สร้างรายได้ เลี้ยงชีพ พึ่งพาตน

หยิบเอา ปลาตะเพียน มาแปรรูปเป็น ปลาส้ม สร้างรายได้ เลี้ยงชีพ พึ่งพาตน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านห้วยหมากหล่ำ จ.อุดรธานี เกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิก ในชุมชนหมู่ที่ 6 ชุมชนบ้านห้วยหมากหล่ำ จ.อุดรธานี ดำเนินการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนภายใต้การดูแลของสำนักงานเกษตรอำเภอโนนสะอาด และได้การรับรองกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 รหัสทะเบียน 4-41-05-04/1-0027

มีสมาชิกทั้งหมด 7 คน มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้แก่สมาชิกกลุ่ม เนื่องจากชุมชนบ้านห้วยหมากหล่ำ มีฐานะยากจน ไม่มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพ ดังนั้น หากเกิดการรวมกลุ่มและสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปจำหน่าย ก็สามารถที่จะสร้างรายได้เลี้ยงชีพแก่สมาชิกในกลุ่มได้ และสามารถสร้างอาชีพพึ่งพาตนเองได้

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 วิสาหกิจชุมชนได้รับความรู้จากการอบรมการแปรรูปปลาส้ม จัดโดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้การสนับสนุนความรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปปลาส้มจากปลาตะเพียนให้แก่สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และครู-นักเรียน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไปรษณีย์ไทย บ้านห้วยหมากหล่ำ

นอกจากนี้ มีหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ องค์การบริหารส่วนตำบลทมนางาม ครูนิเทศ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 24 นักวิชาการประมง สำนักงานประมงอำเภอโนนสะอาด กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพให้มีความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ครู-นักเรียน และชุมชนห้วยหมากหล่ำ เป็นกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม “ไปรษณีย์เพิ่มสุข”

กิจกรรมมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการแปรรูป ขั้นตอนการแปรรูปปลาส้ม และเทคนิคในการแปรรูปปลาส้มให้มีรสชาติที่อร่อย โดยคุณสุเพ็ญพรรณ ทองกลัด เจ้าของร้านปลาส้มสมหวัง ซึ่งเป็นร้านปลาส้มที่มีรายได้ที่จำหน่ายและฝากขายส่งผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทยมากกว่า 1,500 แพ็กต่อเดือน สมาชิกกลุ่มและครู-นักเรียน ได้เรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกปลาที่จะนำมาแปรรูปปลาส้ม เทคนิคการขอดเกล็ด ล้างปลาให้ไม่มีกลิ่นเหม็นคาว ตลอดจนการเก็บรักษาปลาส้ม เพื่อสามารถเก็บรักษาได้นาน และมีรสชาติเปรี้ยวพอดีสำหรับการบริโภค

มีการฝากขายร้านค้าในชุมชนใกล้เคียงและมีการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ผ่านเพจ ปลาส้ม กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านห้วยหมากหล่ำ จากการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านมา สมาชิกรู้สึกมีความสุขจากการแปรรูปและจำหน่ายปลาส้ม ได้รับคำชมจากผู้ซื้อ ชื่นชมรสชาติปลาส้มที่อร่อย จากการจำหน่ายงาน ดอกอ้อยบาน กลุ่มได้รับการติดต่อจากลูกค้า ขอราคาส่งจากกลุ่ม ทำให้กลุ่มมีกำลังใจในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป

นอกจากมีความสุขที่ได้รับ กลุ่มมีความตั้งใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสามารถฝากขายได้ทั่วประเทศ มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม และรักษารสชาติของปลาส้ม และมีมาตรฐานในการผลิต จากการประชุม สรุปการดำเนินงานของกลุ่ม มีมติของสมาชิกตั้งชื่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์ปลาส้ม แบรนด์ “สุขหล่ำ” ซึ่งมีคำว่า “สุข” มีความหมายมาจากความสุขที่กลุ่มได้รับจากลูกค้า ความสุขที่เกิดการรวมตัวของชุมชนและร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้กลับคืนมายังกลุ่ม ความสุขที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข
ที่ร่วมดูแลและสนับสนุนกลุ่ม ความสุขที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์มอบให้กลุ่ม นอกจากนี้ เป็นการพ้องเสียงมาจาก
คำว่า “เพิ่มสุข” เสมือนเป็นการเพิ่มความสุขที่ไปรษณีย์ไทยให้แก่ชุมชนบ้านห้วยหมากหล่ำ

– แนวทางการเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่าย โดยมีนักวิชาการประมงปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ องค์การบริหารส่วนตำบลทมนางาม ให้ความรู้ และรองผู้กำกับ สภ.โนนสะอาด ครูและนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไปรษณีย์ไทย (บ้านห้วยหมากหล่ำ) ครูนิเทศ กก.ตชด.24 ผู้สนใจเลี้ยงปลาชุมชน เข้าร่วมการประชุม

– อบรมพัฒนาอาชีพการทำปลาส้มและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยมีนักวิชาการเกษตรชำนาญการ องค์การบริหารส่วนตำบลทมนางาม นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ องค์การบริหารส่วนตำบลทมนางาม ให้ความรู้ และครู-นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไปรษณีย์ไทย (บ้านห้วยหมากหล่ำ) ครูนิเทศ กก.ตชด.24 และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านห้วยหมากหล่ำ เข้าร่วมอบรม

– สนับสนุนพันธุ์ปลา ให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไปรษณีย์ไทย (บ้านห้วยหมากหล่ำ) เพื่อเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่ายและเป็นอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน

– ช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านห้วยหมากหล่ำจำหน่ายผ่านร้านค้าในชุมชนใกล้เคียงและสื่อออนไลน์ผ่านเพจ Facebook “ปลาส้ม กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านห้วยหมากหล่ำ”