ไข่เค็มไชยา สินค้าดัง ผลพลอยได้ จาก เลี้ยงเป็ด แก้วิกฤต หอยเชอรี่

ไข่เค็มไชยา สินค้าชุมชน ผลพลอยได้จาก การเลี้ยงเป็ด แก้วิกฤต หอยเชอรี่ระบาดในนาข้าว

จากวิกฤตหอยเชอรี่ระบาดในปี พ.ศ. 2543 ทำให้ชาวนาในพื้นที่หมู่ 5 บ้านนาทราย ตำบลเลม็ด ประสบปัญหาไม่สามารถทำนาได้ ทำให้ทางปศุสัตว์อำเภอไชยาได้นําพันธุ์เป็ดมาให้ชาวบ้าน เพื่อกําจัดหอยเชอรี่ศัตรูพืชในนาข้าวที่เป็นสาเหตุทำให้นาข้าวเกิดความเสียหาย

โดยให้พันธุ์เป็ดแก่ชาวบ้าน 30 ตัวต่อหลังคาเรือน ผลจากการเลี้ยงเป็ดทำให้หอยเชอรี่ลดจำนวนลง ชาวบ้านก็สามารถกลับมาปลูกข้าวได้ดังเดิม แต่ผลพลอยได้จากการได้พันธุ์เป็ดมาเลี้ยง นั่นคือ มีไข่เป็ดมากเกินความต้องการจนชาวบ้านต้องนําไข่เป็ดมาแปรรูปเป็นไข่เค็ม

โดยการรวมกลุ่มกันภายในชุมชน และเป็นกลุ่มสมาชิก อสม. (อาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) หลังจากผ่านช่วงลองผิดลองถูก ในปี พ.ศ. 2543 ทางกลุ่มได้พยายามพัฒนาทดลองหาสูตรไข่เค็มที่เหมาะสม ผ่านการเรียนรู้และถ่ายทอดโดยสมาชิกในกลุ่มที่มีความรู้ ที่เคยเป็นลูกจ้างร้านขายไข่เค็มจึงได้นําความรู้ที่ตนได้รับมาสอนคนอื่นๆ ในกลุ่ม เมื่อกลุ่มเริ่มเข้มแข็งหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เป็นต้น ได้เริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือในช่วงพ.ศ. 2545 เข้ามาให้คำแนะนําและพาไปศึกษาดูงานจนกลุ่มเริ่มเข้าใจกระบวนการทำงาน

จนกระทั่ง พ.ศ. 2549 ทางกลุ่มได้ไปจดทะเบียนขึ้นเป็นวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไข่เค็ม อสม. ไชยา มีสมาชิก 24 คน และสมาชิกผู้เลี้ยงเป็ด 14 ครัวเรือน การผลิตของกลุ่มจะผลิตตามคำสั่งซื้อ ตามปริมาณไข่หรือวัตถุดิบที่มี และผลิตขายส่งลูกค้าทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ไข่เค็มที่ทางกลุ่มขายเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทไข่เค็มพอกชนิดดิบ

จากการศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่องของวิสาหกิจชุมชนไข่เค็มไชยา อสม. จนทำให้ไข่เค็ม อสม. ไชยา มีเอกลักษณ์จนกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างกว้างขวาง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ผู้บริโภคนิยมซื้อมารับประทานและซื้อเป็นของฝาก นั่นคือ ชุมชนใช้วิธีการเลี้ยงเป็ดแบบปล่อยทุ่งให้เป็ดหาอาหารกินเองตามทุ่งนาของชาวบ้าน อีกทั้งการปลูกข้าวของชุมชนนั้นไม่ใช้สารเคมีทำให้เป็ดสามารถหากินเองได้โดยปลอดภัย ไข่ไม่เค็มจัดและไม่มีกลิ่นคาว ไข่แดงสีแดงสวย

ด้วยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่ดำเนินงานใกล้ชิดกับชุมชนมาอย่างยาวนานได้พบปัญหาสำคัญ นั่นคือ การขนส่งไข่เค็มที่มีความบอบบางผ่านระบบขนส่ง ทำให้เกิดความเสียหายกับผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการขนส่ง ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และสนับสนุนชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง

โดยนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าโดยผ่านระบบการขายและขนส่งของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จึงสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มไข่เค็ม ที่สะดวกในการขนส่ง และสามารถปกป้องไข่เค็มให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค โดยใช้วัสดุห่อหุ้มและบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรออกแบบและพัฒนากล่องไข่เค็มให้เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มให้น่าสนใจต่อลูกค้า ออกแบบกล่องไข่เค็มโดยใช้รูปเป็ดเป็นสัญลักษณ์ แตกต่างจากกล่องไข่เค็มกล่องที่มีลักษณะคล้ายกันโดยทั่วไปของกลุ่มไข่เค็มในอำเภอไชยาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่

จากการดำเนินโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ที่ผ่านมาได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องการขนส่ง และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ช่วยด้านการออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ไข่เค็ม อสม. ให้มีเอกลักษณ์ สามารถขนส่งผ่านระบบไปรษณีย์ไทย อบรมเติมความรู้การหุ้มห่อ ขนส่งผ่านระบบไปรษณีย์ไทย

ตลอดจนขยายช่องทางการจำหน่ายกับกลุ่มไข่เค็ม อสม. อาทิ www.thailandpostmart.com ทำให้เกิดรายได้กับกลุ่มเป็นจำนวนมาก มีรายได้เพิ่มขึ้นก่อนร่วมโครงการ 100% ในการดำเนินโครงการ ตลอดจนผลักดันให้ทุกผลิตภัณฑ์ชุมชน เข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่น่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค

และต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไข่เค็มสูตรปกติ เป็นไข่เค็มสมุนไพร เพื่อคุณสมบัติของสมุนไพรเข้าไปสู่ไข่เค็ม เป็นความแปลกใหม่ ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของไข่เค็มอำเภอไชยา เชื่อมหน่วยงานภาคีเครือข่าย ขยายความรู้บรรจุภัณฑ์เส้นใยมะพร้าวเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น

เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2565