เผยแพร่ |
---|
เจาะ 5 Digital Technology เคล็ดลับสู่เส้นชัยและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเกษตรไทย
การนำ Digital Technology เข้ามาปรับใช้กับอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเปลี่ยนให้เป็น ‘เกษตรดิจิทัล’ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เมื่อมองในภาพใหญ่มีการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2050 ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน จำนวนประชากรโลกที่มากขึ้น ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ประเทศไทย จำนวนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อีกทั้งวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัจจัยด้านต้นทุนในการดูแลพืชก็เพิ่มสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเกษตรกำลังเผชิญกับความท้าทาย Digital Technology จะมีบทบาทหรือส่วนช่วยอย่างไรในอุตสาหกรรมการเกษตรกันบ้าง
สำหรับ Digital Technology ที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยยกระดับการทำเกษตรได้จริง มี 5 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. เทคโนโลยีอัจฉริยะ Internet of things (IoT)
การนำระบบเซ็นเซอร์มาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น เซ็นเซอร์วัดความชื้น เซ็นเซอร์ความดัน เซ็นเซอร์วัดธาตุอาหารพืช N-P-K ที่เชื่อมโยงการทำงานของเครื่องวัดและอุปกรณ์ทำการเกษตรต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถสั่งงานการทำกิจกรรมการเกษตร เช่น ควบคุมระบบรดน้ำ และ ใส่ปุ๋ยตามเวลาและปริมาณที่กำหนดอย่างแม่นยำโดยไม่ต้องใช้คน และสามารถติดตามสภาวะและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในแปลงเพาะปลูกได้อย่างทันท่วงที
ดังนั้น การใช้อุปกรณ์ที่เป็น IoT อย่าง โดรน หรือ เครื่องจักรกลเกษตร มาช่วยควบคุมดูแลแปลงเกษตรแทนแรงงานคน จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแรงงานเกษตรกรในภาคอุตสาหกรรมเกษตรได้อีกด้วย
2. เทคโนโลยี Big Data
สามารถใช้ในการติดตามสถานการณ์ในด้านอุปสงค์ อุปทาน ทั้งในและนอกประเทศ สามารถคาดการณ์แนวโน้มและเตือนภัย เพื่อกำหนดนโยบายรักษาเสถียรภาพด้านราคาได้ นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อดูปริมาณผลผลิตว่าเป็นอย่างไร แนวโน้มการส่งออก การบริโภค คาดการณ์ปริมาณสต๊อกคงเหลือ ดูแนวโน้มราคาในอนาคต โดยใช้ระบบ AI เข้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย
รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ตรวจสอบสภาพแวดล้อม ติดตาม วิเคราะห์ ไปจนถึงวางแผนเพิ่มผลผลิตที่จะปลูกล่วงหน้าได้ด้วยการเริ่มต้นทำ ‘Smart Farm’ ซึ่งเป็นการเกษตรอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการระบบการเพาะปลูกในทุกๆ ขั้นตอน และสามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยเทคโนโลยีและ Big Data
3. เทคโนโลยี Blockchain เพื่อการเกษตร
การนำ Blockchain เข้ามาช่วยบริหารจัดการสินค้าหลังเก็บเกี่ยว อาจจะพัฒนาเป็นระบบตรวจสอบคุณภาพผลผลิต ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าที่ออกไปจากฟาร์มหรือแปลงเกษตรไปถึงคลังสินค้าหรือยัง สินค้าที่จัดเก็บในคลังสินค้าจัดเก็บอย่างถูกต้องหรือไม่ และจะหมดอายุเมื่อไหร่
สามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดได้ตอนไหน ระหว่างสินค้าอยู่ในคลังหรือขนส่งไปแล้วหากเจ้าหน้าที่รัฐต้องการตรวจสอบสินค้าก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จนกระทั่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคอย่างสมบูรณ์ปลอดภัย
นอกจากนี้ การนำ Blockchain มาทำ Digital Transformation จะตัดคนกลางในการทำธุรกรรมออกไปโดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางเหมือนในอดีต สิ่งนี้จะช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรโดนกดราคาได้ เพราะข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะสามารถนำมาตรวจสอบได้ว่าราคาที่เกษตรกรมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ Blockchain จะช่วยให้การค้าสินค้าเกษตรมีความโปร่งใสมากขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนในการค้าสินค้าเกษตรลดลง ซึ่งต้นทุนที่ลดลงตรงนี้อาจช่วยให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้นได้
4. เทคโนโลยี เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรน และระบบอัตโนมัติ
แม้ความต้องการผลผลิตด้านการเกษตรจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลก แต่ในทางกลับกันจำนวนเกษตรกรปัจจุบันกลับลดน้อยลงเข้าไปทุกที นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรน และระบบอัตโนมัติต่างๆ จึงมีบทบาทที่สำคัญ เพื่อช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน แต่ยังคงสร้างผลผลิตได้เท่าเดิม หรือมากขึ้นกว่าเดิม
ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยทุ่นแรงได้แค่นั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนถูกลง และพัฒนาคุณภาพชีวิตดีให้กับเกษตรกรได้ เช่น จากข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า โดยปกติแล้วการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชและหว่านปุ๋ยในแปลงนาข้าวโดยใช้แรงงานคน จะใช้เวลาในการทำงานหลายชั่วโมงต่อพื้นที่นา 10 ไร่
โดยมีค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 70-160 บาท/ไร่ ขึ้นอยู่กับประเภทการจ้างพ่น เช่น พ่นยาฆ่าแมลง พ่นย่าป้องกันวัชพืช หรือใส่ปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการเหยียบย่ำลงในแปลงนาข้าวเพื่อให้ทำการหว่านปุ๋ยและฉีดพ่นยาได้ทั่วถึง จึงอาจทำให้พืชผลได้รับความเสียหาย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการฟุ้งกระจายของสารเคมีต่อผู้ฉีดพ่นยาด้วย
5. เทคโนโลยี Mobile
เป็นเทคโนโลยีผ่านอุปกรณ์ที่พกพาได้ ที่ช่วยเชื่อมต่อเกษตรกรกับตลาด ผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้บริโภค เจ้าหน้าที่รัฐ และเกษตรกรด้วยกันเอง และช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่จำเป็นต่อการเกษตรได้ดีขึ้น เช่น ราคา พยากรณ์อากาศ และวิธีการแก้ปัญหาโรคพืช ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
ทำให้เกษตรกรสามารถจัดการกระบวนการผลิตและการตลาดได้เอง นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกันและผู้ซื้อได้ ส่งผลให้มีอำนาจต่อรองตลาดได้ด้วย ช่วยให้เกษตรกร ลดต้นทุนการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถรับรู้ข้อมูลระหว่างกัน และสามารถเสนอ ซื้อ-ขายผลผลิตและวัตถุดิบผ่านระบบได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว
ตัวอย่าง SMEs ที่สนับสนุนเกษตรกรไทยเข้าถึง ‘ดิจิทัลเทคโนโลยีการเกษตร’
บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK ผู้ก่อตั้งบริษัท ‘ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน’ ที่มุ่งมั่นและต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเข้าถึง ดิจิทัลเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อยกระดับวิถีการทำเกษตรสู่ Smart Farmer ให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการแก้ Pain Point ที่เป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทยคือ การขาดแคลนแรงงาน การควบคุมต้นทุนการผลิต และวิธีการทำไร่ทำสวนแบบเก่าที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ การเดินฉีดพ่นปุ๋ย พ่นยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจึงมองหา ‘เทคโนโลยีโดรน’ จะช่วยเพิ่มผลผลิตแต่สามารถลดต้นทุนได้
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือ การทำไร่อ้อยที่ผ่านมาในอดีตจะใช้รถพ่นยาที่เรียกว่า ‘Boom Spray’ เป็นการใช้รถไถติดเข้ากับถังบรรจุสารโดยใช้แรงงานคน 2-3 คนช่วยกัน ปัญหาคือเมื่อเกิดฝนตกรถพ่นยาจะไม่สามารถลงไปในแปลงได้ ซึ่งในส่วนนี้โดรนจะสามารถทำงานได้ง่ายและรวดเร็วกว่าในการเข้าถึง และที่สำคัญ การฉีดพ่นจะไม่มีความสม่ำเสมอ ยาที่ใช้ไม่สามารถกำหนดปริมาณต่อลิตรต่อไร่ได้ ทำให้สิ้นเปลืองและควบคุมคุณภาพได้ยาก
ขณะที่โดรนมีระบบควบคุมน้ำในการฉีดพ่นและกำหนดความสูง รวมไปถึงระยะห่างในการฉีดพ่นโดยอัตโนมัติและมีความแม่นยำในการกำหนดจุดต่อเนื่องเมื่อน้ำหมด สามารถเติมน้ำแล้วทำงานต่อได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นี่คือความแตกต่างในการทำงาน ที่สำคัญ เมื่อเกิดศัตรูพืชหรือแมลงระบาด โดรนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที สิ่งนี้จึงถือเป็นจุดแข็งของการใช้เทคโนโลยีโดรน คือ ‘ช่วยลดต้นทุน แต่เพิ่มผลผลิต’ ทำให้เราสามารถควบคุมผลผลิตให้โตทันต่อความต้องการของตลาด
คลิก!! อ่านบทสัมภาษณ์ ‘ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน’ :
ลดต้นทุน ช่วยเพิ่มผลผลิต ‘เมกเกอร์โดรน’ โดรนเพื่อการเกษตรครบวงจร ยกระดับเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer
จะเห็นว่า ประโยชน์หลักๆ ที่เห็นได้ชัดเจนของการนำ Digital Technology มาใช้ในการเกษตร คือ ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการทำการเกษตร และรู้จักการนำเทคโนโลยีทางการเกษตร อย่างเช่น โดรน หุ่นยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในการควบคุมคุณภาพและเพิ่มผลผลิต เมื่อเกษตรกรมีตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถพัฒนาผลผลิตและควบคุมคุณภาพรวมถึงบริหารต้นทุนได้อย่างดี ทำให้ผลผลิตออกมาตรงกับความต้องการของตลาด เมื่อมีปริมาณการผลิตที่เหมาะสม จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ผลที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ที่มา :
https://www.depa.or.th/th/article-view/40-smart-farm-series-digital-transformation-agricultural-sector
https://lffintech.co.th/blockchain-agriculture-digital-transformation/
https://www.nectec.or.th/ace2022/wp-content/uploads/2022/09/SS2-01-Sujin-1.pdf
https://shorturl.asia/45Xir
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร https://shorturl.asia/bJMZW
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) https://shorturl.asia/rPG1S
Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือ สายด่วน 1333