ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน จับมือ วิศวะจุฬาฯ เปิดตัว “มาตรฐานงานก่อสร้างบ้านพักอาศัย”

ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน จับมือ วิศวะจุฬาฯ เปิดตัว “มาตรฐานงานก่อสร้างบ้านพักอาศัย” ยกระดับคุณภาพครั้งแรกในไทย

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยว่า จากการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจปลูกสร้างบ้านเองและใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงแนวโน้มภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 2565

คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 12,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดรับสร้างบ้านที่มีการเติบโตเด่นชัดจากความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาเป็นอย่างมาก

“จากแนวโน้มธุรกิจรับสร้างบ้านที่ขยายตัว ในอีกด้านทางสมาคมฯ ก็ได้เร่งพัฒนาคุณภาพให้กับบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกเพื่อรับรองการเติบโตของธุรกิจ ผ่านกิจกรรมอบรม เพิ่มความรู้และทักษะต่างๆ

ทำให้พบว่า ในภาพรวมยังมีปัญหาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของลูกค้าในด้านคุณภาพ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนามาตรฐานก่อสร้างบ้านพักอาศัย ที่จะใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของงานก่อสร้างบ้านต่อจากนี้ไป โดยมาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัยนี้จะเริ่มใช้กับบริษัทสมาชิกก่อน” นายวรวุฒิ กล่าว

ทางสมาคมฯ จึงมีความตั้งใจพัฒนา “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” ขึ้นเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการทำงานและความเข้าใจด้านคุณภาพที่ตรงกันระหว่าง “บริษัทรับสร้างบ้าน” กับ “ผู้บริโภค” เนื่องจากสมาคมฯ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านกับภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งได้รวบรวมพันธมิตรภาคส่วนวิชาการอื่น  และภาคเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันศึกษาและดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย” ขึ้น ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับการทำงานให้แก่สมาชิกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในระยะเวลา 3 ปีของการทำงานพัฒนา “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” นั้น ทั้งสมาคมฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาร่วมพัฒนามาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของการก่อสร้างบ้านให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมกับงานก่อสร้างบ้าน โดยศึกษาปัญหาของงานก่อสร้างบ้านจากกรณีศึกษาของสมาชิกสมาคม

จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการรวบรวมรูปแบบมาตรฐานการควบคุมงานก่อสร้าง และมาตรฐานการทำงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเข้าสู่ส่วนของการจัดทำร่างมาตรฐานตามกรอบแนวคิดตามหลักการประกันคุณภาพ รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของสมาชิก โดยการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ

“ในมาตรฐานฯ ฉบับนี้จะมีการระบุข้อมูลของผู้ดำเนินการและหน้าที่ความรับผิดชอบ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร ขั้นตอนการทำงาน การตรวจสอบคุณภาพ การปรับปรุงแก้ไข และข้อควรระวัง เป็นต้น โดยการออกแบบเฉพาะเพื่องานการก่อสร้างบ้านสำหรับสมาชิกของสมาคมฯ และเตรียมประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลดีในหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งบริษัทรับสร้างบ้าน ผู้บริโภค และอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวม” นายวรวุฒิ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธนิต ธงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะที่ปรึกษาการพัฒนา ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้าน จำเป็นต้องมีมาตรฐานในการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถพัฒนากระบวนการทำงาน และลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงาน

เนื่องจากงานบ้านเป็นงานฝีมือและจำเป็นต้องใช้ทักษะ รวมทั้งการบริหารจัดการในการทำให้งานก่อสร้างบ้านมีคุณภาพ ให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของโครงการ นอกจากนี้ มาตรฐานดังกล่าวยังช่วยให้เจ้าของโครงการมีความเชื่อมั่นในการทำงานของผู้รับเหมารับสร้างบ้าน