สำลักง่าย สำลักเงียบ ภาวะเสี่ยงเสียชีวิตในผู้สูงอายุ

สำลักง่าย สำลักเงียบ ภาวะเสี่ยงเสียชีวิตในผู้สูงอายุ

 

ฟื้นฟูการกลืนโดยแพทย์และนักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทาง ลดความเสี่ยงผู้สูงอายุสำลักง่าย สำลักเงียบ จากภาวะกลืนลำบาก

ภาวะสำลักอาหาร คือการที่มีน้ำหรือเศษอาหารหรือน้ำเข้าไปอยู่ในหลอดลมหลังการกลืน จนทำให้เกิดอาการไอติดต่อกันเพื่อขับเศษอาหารให้หลุดออกจากหลอดลม โดยภาวะสำลักอาหารมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย เช่น ความเสื่อมตามวัย โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น หากเกิดภาวะสำลักแล้วมักจะทำให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อตามมา จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์นายแพทย์ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเฉพาะทางด้านฟื้นฟูการกลืน โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า นอกจากภาวะสำลักอาหารแบบแสดงอาการให้เห็นแล้ว ยังมีภาวะสำลักเงียบ (Silent Aspiration) ที่เป็นภัยเงียบและอันตรายเช่นกัน เพราะเป็นการสำลักที่ไม่แสดงอาการให้เห็นทันที ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลไม่สามารถเห็นความผิดปกติ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบติดเชื้อซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

“สำลักเงียบ คือการสำลักอาหารหรือน้ำดื่มลงไปในทางเดินหายใจโดยไม่มีอาการไอ (Cough) หรือเสียงพร่า (Wet voice) ตอบสนองให้เห็น ผู้ดูแลหรือแม้แต่ตัวผู้ป่วยเองก็อาจไม่รู้ตัว ซึ่งหลังเกิดภาวะสำลักเงียบจนนำไปสู่ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อหรือหลอดลมอักเสบแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีไข้ มีเสมหะ ไอ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอกและซึมลง

เมื่อพบสัญญาณเหล่านี้ต้องหยุดป้อนอาหารทางปากและพบแพทย์เฉพาะทางทันที โดยอาการสำลักเงียบพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืนผิดปกติ เกิดได้กับทุกเพศทุกวัยและไม่สามารถตรวจเจอจากการซักประวัติหรือตรวจร่างกายทั่วไปได้ แต่สามารถตรวจได้จากการกลืนแป้งทางรังสี การส่องกล้องประเมินการกลืน พร้อมกับวินิจฉัยโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์นายแพทย์ไพฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุมีปัญหากลืนลำบาก ตัวผู้ป่วยหรือผู้ดูแลสามารถสังเกตได้จากอาการผิดปกติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการไอหรือสำลักขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ กลืนไม่ลงคล้ายมีก้อนจุกอยู่ในลำคอหรือต้องกลืนซ้ำบ่อยๆ มีเศษอาหารค้างอยู่ในปาก ขย้อนอาหารและน้ำหลังกลืนไปแล้ว กลืนน้ำลายไม่ลงหรือมีน้ำลายไหลบ่อย รับประทานอาหารได้น้อย และน้ำหนักตัวลด ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ประเมินความรุนแรงและวางแผนการฟื้นฟูที่เหมาะสม

ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากแพทย์จะพิจารณาโปรแกรมฟื้นฟูการกลืนเฉพาะบุคคล ทั้งการบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน ปรับท่าการรับประทานที่ปลอดภัย ปรับเนื้อสัมผัสของอาหารและความหนืดของน้ำ หรือในบางรายอาจพิจารณาใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแบบอ่อน (Vital Stim) ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางและนักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางอย่างใกล้ชิด