เผยแพร่ |
---|
ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อย Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในอาเซียน จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นับเป็นปรากฏการณ์ ‘ความยั่งยืน’ ครั้งยิ่งใหญ่ก็ว่าได้ เพราะแต่ไหนแต่ไร แม้จะมีการพูดถึงเรื่องความยั่งยืนในสังคมอยู่บ่อยครั้ง แต่คนทั่วไปมักมองเป็นเรื่องทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ไม่ใช่วิถีชีวิตในระดับปัจเจก
SX 2022 จึงชูกลุ่มเป้าหมาย B2C2B จากภาคธุรกิจสู่ผู้บริโภค และจากผู้บริโภคเชื่อมกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจ นำเสนอเรื่องความยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มและทุกคน
ทั้งยังตั้งใจให้เป็น ‘Collaboration Platform’ ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ เครือข่าย Thailand Supply Chain Network (TSCN) และสถาบันการศึกษา สามารถมาพบปะพูดคุย ร่วมกันพัฒนาสังคมในภาพรวม พร้อมเดินหน้าเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจังต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลา 7 วันของ SX 2022 ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ จึงเต็มไปด้วยประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่มาร่วมทำความรู้จักประเด็นความยั่งยืนในมิติต่างๆ กันอย่างเนืองแน่น สร้างสถิติผู้เข้าร่วมงานล้นหลามกว่า 250,000 คน ทั้งยังสร้างรายได้สะพัดกว่า 25 ล้านบาท กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย กระจายรายได้ให้ร้านค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วไทยได้อีกทางหนึ่ง
และนี่คือ 5 ปรากฏการณ์สุดยิ่งใหญ่ของ SX 2022 ที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของความยั่งยืนทั้งในไทยและในอาเซียน!
‘พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก’ หัวใจสำคัญของ SX 2022
SX 2022 จัดโดย 5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วยพันธมิตรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 100 องค์กร และวิทยากรกว่า 150 ราย ที่มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ขึ้นเวทีเสวนา และร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อป
SX 2022 ดำเนินการภายใต้หัวใจสำคัญ คือ ‘พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก’ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy-SEP) ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มาเป็นแนวทางในการจัดงาน สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
สุดอลัง! ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40,000 ตร.ม. ศูนย์ฯ สิริกิติ์
SX 2022 นับเป็นงานใหญ่งานแรกประเดิมศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ หลังจากปิดปรับปรุงกว่า 3 ปีครึ่ง โดย SX 2022 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตรของชั้น G และชั้น LG
ชั้น G เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการหลัก นำเสนอองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัย เข้าใจง่าย ดึงดูดผู้เข้าร่วมงานให้ชมเพลินจนจบได้ไม่ยาก ซึ่งนิทรรศการแบ่งเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่
‘SEP Inspiration’ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy-SEP) ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มาเป็นแรงบันดาลใจในการนำเสนอ
‘Better Me’ นำเสนอองค์ประกอบหลัก 3 ด้าน อย่างเรื่องสุขภาพ อาหาร และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
‘Better Living’ นำเสนอแนวคิดส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กรธุรกิจชั้นนำ และการนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อไปสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
‘Better Community’ นำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมความเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต
ส่วนชั้น LG เป็นโซนชิม-ช้อป-เล่นและเรียนรู้ อย่าง ‘SX Food Festival’ ที่รวบรวมร้านอาหารชื่อดังกว่า 100 ร้าน ทั้งสตรีตฟู้ด ภัตตาคาร โรงแรม ร้านของเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย และมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย มาไว้ที่เดียวกัน ‘SX Marketplace’ ร้านค้าจากชุมชนทั่วไทย ดีไซเนอร์รักษ์โลก และสินค้านวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมแล้วมากถึง 300 ร้าน และ ‘Kids Zone’ ให้เด็กๆ และผู้ปกครองได้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป้าหมาย SDGs ด้วยความสนุกสนานและได้รับสาระไปพร้อมกัน
ถ่ายทอดความยั่งยืนทุกมิติ
ประเด็นเรื่องความยั่งยืนครอบคลุมการใช้ชีวิตของทุกคน งาน SX 2022 จึงนำเสนอความยั่งยืนในหลายมิติ
อาทิ ‘พระพุทธศาสนากับการเยียวยาสิ่งแวดล้อม’ ซึ่ง พระเมธีวชิโรดม ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และผู้ก่อตั้งมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงการดูแลป่าด้วยภูมิปัญญาโบราณ อย่างการ ‘บวชป่า’ ที่ช่วยไม่ให้ป่าถูกทำลายได้กว่า 20 ล้านไร่
หรือหัวข้อ ‘How to Sustain Sustainability’ ที่ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) อธิการบดีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ร่วมวงสนทนา โดยให้ความสำคัญกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9
รวมทั้งมีเรื่องความยั่งยืนเชิงธุรกิจ เช่นในหัวข้อ ‘CEO Panel Discussion : Leading Sustainable Business’ ที่มี นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี และ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา
ผู้บริหารองค์กรชั้นนำทั้งหมดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ความยั่งยืนคือเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ต้องคิดไปพร้อมกับการสร้างธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ ต้องดำเนินการทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่สำคัญ คือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง เพราะเมื่อเกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแล้ว ทุกคนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ประมูลกล้องไลก้า เฉลิมพระเกียรติ รายได้เข้าองค์กรการกุศล 214 ล้านบาท
อีกหนึ่งไฮไลต์ของ SX 2022 คือ ‘โครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๕๖๒ (เพื่อ ๒๒ องค์กรการกุศล)’ โดยมีผู้บริหารองค์กร มูลนิธิ และผู้สนใจประมูลเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (จำกัด) มหาชน ซึ่งอีกบทบาทหนึ่ง คือ ประธานอำนวยการ SX 2022 กล่าวในงานประมูลกล้องไลก้า เฉลิมพระเกียรติ ว่า เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ไทยเบฟเวอเรจจึงมุ่งมั่นที่จะร่วมเทิดพระเกียรติและร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการจัดสร้างกล้องไลก้า รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
กล้องไลก้ารุ่นพิเศษดังกล่าว จัดทำขึ้นเพียง 30 ชุดในโลก แบ่งเป็น ชุดสีเหลือง 10 ชุด และชุดสีเขียว 20 ชุด นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 6 ชุด อีก 1 ชุดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของไทยเบฟเวอเรจ และอีก 1 ชุดมอบให้พิพิธภัณฑ์ไลก้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ส่วนอีก 22 ชุดนำออกจำหน่าย เพื่อนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดราคาชุดสีเหลือง ชุดละ 1.5 ล้านบาท และชุดสีเขียว ชุดละ 1 ล้านบาท
เพื่อเป็นการสร้างประโยชน์สูงสุดแก่สังคม ไทยเบฟเวอเรจจึงรับซื้อกล้องถ่ายภาพทั้งหมด และนำเงินรายได้จำนวน 35 ล้านบาท ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงได้นำกล้องถ่ายภาพจำนวน 22 ชุด มอบให้มูลนิธิและองค์กรการกุศล 22 องค์กร อันประกอบด้วย
มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช, มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, ไตรโครงการ ประกอบด้วย 3 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์,
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.), มูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, มูลนิธิจุฬาภรณ์, มูลนิธิ TO BE NUMBER ONE, ศิริราชมูลนิธิ, มูลนิธิรามาธิบดี,
มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์, มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์, มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์, องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์, สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์
จากนั้นได้จัดการประมูลกล้องไลก้า เฉลิมพระเกียรติ ขึ้น เพื่อนำรายได้มอบให้แต่ละมูลนิธิและองค์กรการกุศลทั้ง 22 องค์กร ไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่อไป ซึ่งการประมูลครั้งนี้ดำเนินการโดยสถาบันการประมูลคริสตี้ส์ ประเทศไทย เป็นการประมูลกล้องไลก้าชุดสีเหลือง 4 ชุด และชุดสีเขียว 17 ชุด สำหรับ 21 องค์กรในประเทศไทย และจะจัดประมูลขึ้นอีกครั้งที่ประเทศสิงคโปร์ สำหรับสถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์
การประมูลกล้องไลก้า เฉลิมพระเกียรติ ประสบความสำเร็จอย่างงดงามและยิ่งใหญ่ เพราะสามารถปิดยอดการประมูลได้ถึง 214 ล้านบาท นับเป็นการช่วยเหลือสังคมไทยครั้งสำคัญเลยทีเดียว!
พลังรักษ์โลก ดีต่อใจ ดีต่อสิ่งแวดล้อม
ขึ้นชื่อว่าเป็นงานด้านความยั่งยืนครั้งใหญ่ ภายในงานจึงมีการบริหารจัดการขยะเป็นอย่างดี โดยมีขวด PET หลังการบริโภค ที่ทิ้งลงถังคัดแยกและเครื่อง RVM ที่นำมาแลกผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก จำนวน 38,000 ขวด PET น้ำหนักรวม 571 กิโลกรัม มีกระป๋องหลังการบริโภคจากศูนย์คัดแยกและเครื่อง RVM จำนวน 14,500 กระป๋อง น้ำหนักรวม 217 กิโลกรัม และมีขวดแก้วหลังการบริโภคจากศูนย์คัดแยกและเครื่อง RVM จำนวน 2,165 ขวดแก้ว น้ำหนัก 563 กิโลกรัม
ด้านขยะเศษอาหาร (Food Waste) มีอาหารเหลือทิ้งที่เข้าสู่กระบวนการทำเป็นปุ๋ย จำนวน 1,075 กิโลกรัม และได้ปุ๋ยจากการกำจัดขยะอาหารเหลือทิ้งลงเครื่อง Oklin จำนวน 107.47 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีอาหารนับเป็นเสิร์ฟจากตู้เย็นปันสุขเข้าสู่โครงการรักษ์อาหารโดย SOS เพื่อนำไปมอบให้ผู้ขาดโอกาสได้รับประทาน จำนวน 1,138 เสิร์ฟ อีกด้วย