6 เดือนแรก ‘SME ปัง ตังได้คืน’ ผู้ประกอบการเข้าร่วม 2,000 ราย ปรับเกณฑ์ SME ธุรกิจไซซ์ M’ เข้าร่วมได้

6 เดือนแรก SME ปัง ตังได้คืน’ ผู้ประกอบการเข้าร่วม 2,000 ราย เปิดต่อเฟส 2 ถึง ก..66 ตั้งเป้า 6,000 ราย ปรับเกณฑ์ขยายคุณสมบัติ SME ‘จดทะเบียนปี 64 – ธุรกิจไซซ์ M’ เข้าร่วมได้

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ห้องประชุม 1801 ชั้น 18 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงผลการดำเนินมาตรการ ‘SME ปัง ตังได้คืน’ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ Business Development Service ปี 2565 ภายใต้แนวคิดที่ต้องการช่วยผลักดันให้ SME ได้มีโอกาสเข้าถึงการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนายกระดับศักยภาพในด้านต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกบริการที่ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงสามารถเปรียบเทียบราคาบริการ และต่อรองราคาจากหน่วยงานต่าง ๆ บนระบบ BDS ได้ด้วยตนเอง และ สสว. จะช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมด้วยช่วยจ่าย (Co-Payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50 – 80 ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดถึงรายละ 200,000 บาท

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า หลังจากจากการเปิดตัวโครงการฯในเฟสแรกระยะเวลา 6 เดือน ให้บริการใน 3 หมวด คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายการตลาดในประเทศ และการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายการตลาดต่างประเทศ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการ SME สมัครกว่า 2,000 ราย ได้รับอนุมัติยืนยันตัวตน จัดกลุ่มการอุดหนุน และเตรียมยื่นการพัฒนาแล้วกว่า 600 ราย และมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติข้อเสนอการพัฒนาและอยู่ระหว่างการพัฒนากว่า 300 ราย

“จากข้อมูลพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการค้าส่งและค้าปลีก กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ยาและสมุนไพร และกลุ่มท่องเที่ยว นอกจากนี้พบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติยืนยันตัวตน และจัดกลุ่มการอุดหนุนจำนวน 600 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม (SE) มากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจรายย่อย (Micro SME) และกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (SE+) ตามลำดับ

“ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติข้อเสนอการพัฒนาและเริ่มดำเนินการพัฒนาแล้วกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่เลือกบริการด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ เช่น บริการการจัดทำฉลากโภชนาการ และบริการประเมินอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ (Shelf Life Evaluation) โดย สถาบันอาหาร บริการตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหาร โดย บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด , บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ , บริการเตรียมความพร้อมเพื่อขอการรับรองระบบมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ระบบบริหาร คุณภาพ (Quality Management System : QMS) โดย สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

“สำหรับบริการในด้านการตลาดมีผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอการพัฒนาโดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและจำหน่ายสินค้า CARE ASIA “Total Solutions for Health & Wellness” เมื่อ 1 – 4 กันยายน 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา โดยใช้บริการผ่านสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ”ผอ.สสว.กล่าว

ผอ.สสว. กล่าวต่อว่า จากการสรุปวงเงินที่ได้รับอนุมัติไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านบาท เป็นสัดส่วนที่ สสว. ให้การอุดหนุนประมาณร้อยละ 80 คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 15 ล้านบาท โดยคาดว่าผู้ประกอบการ SME จะได้ประโยชน์จากการใช้บริการและเกิดผลลัพธ์เป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 30 ล้านบาท นอกจากผลลัพธ์ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน จะสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ เพื่อร่วมกันสร้างโอกาส และร่วมขับเคลื่อนสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการ SME โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางธุรกิจซึ่งเป็นส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ที่ขึ้นทะเบียนบนระบบ BDS แล้วกว่า 90 หน่วยงาน และให้บริการขึ้นบนระบบแล้วกว่า 120 บริการ

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า จากนี้ สสว. ยังคงเดินหน้าในเฟสที่ 2 โดยนำข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการมาปรับปรุง ทั้งนี้ทราบว่ามีผู้ประกอบการต้องการเข้าร่วมมาตรการอีกจำนวนมาก สสว. จึงขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME สามารถยื่นข้อเสนอการพัฒนาได้จนถึง 31 สิงหาคม 2566 รวมทั้งจะเร่งสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการธุรกิจ และเพิ่มบริการใหม่ ๆ ให้มากขึ้น เช่น บริการของโรงงานต้นแบบ หรือ Prototype Plant จากอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ กลุ่ม Micro SME ที่จะสามารถเข้าไปใช้ในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานในราคาต้นทุนการดำเนินงานไม่สูง หรือ กลุ่ม SE และ SE+ สามารถใช้บริการทดลองเพื่อผลิตสินค้าหรือใช้บริการเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อทดสอบการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าและมาตรฐานสูงได้

ผอ.สสว. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สสว. จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เข้าถึงผู้ประกอบการมากขึ้น เช่น จะเปิดให้ SME ที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2564 สามารถขอรับบริการได้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท สามารถขอรับบริการได้โดยแนบเอกสารรายรับ รายจ่าย และเอกสารการยืนยันสถานะการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ รวมไปถึงการเพิ่มผู้ประกอบการกลุ่ม ME ที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้สามารถรับบริการได้ และจะได้รับวงเงินช่วยเหลืออุดหนุนเท่ากับกลุ่ม SE+ คือ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณ ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

“เรื่องเกณฑ์คุณสมบัติที่ขยายให้กว้างขึ้น คือ 1.ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนในปี 2563-2564 จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมตอนเริ่มต้นโครงการจะอยู่ที่จดทะเบียนในปี 2562 และ 2.การเพิ่มขนาด SME ที่เข้าร่วมโครงการ จากเดิม เป็น SE+ ตอนนี้ขยายมาที่ขนาด ME ซึ่งความต้องการพัฒนาค่อนข้างต่างกัน โดยธุรกิจขนาด ME ความต้องการอาจเป็นเรื่องมาตรฐาน ISO หรือเรื่องอื่นๆที่สูงขึ้น

“นอกจากนี้ สสว. จะปรับปรุงการใช้งานในระบบ BDS ให้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงคู่มือ และคลิปสอนการใช้งานเพื่อสะดวกต่อการขอรับบริการของผู้ประกอบการ SME คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เข้าถึงความต้องการของผู้ประกอบการ SME ได้มากขึ้น”ผอ.สสว.กล่าว

ผอ.สสว. ฝากถึงผู้ประกอบการ SME ด้วยว่า เราให้บริการแล้วกว่า 120 ชนิด มีผู้ให้บริการกว่า 90 ราย บางครั้งอาจยังไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ถ้ามีผู้ให้บริการที่สอดรับกับความต้องการของท่าน สามารถผ่านมาทาง สสว.ได้ หรือบางทีอาจใช้บริการเรื่องการประเมิน หรือการทำโรงแรมเป็น กรีนโฮเต็ล เป็นสแตนดาร์ดในการให้การรับรอง รวมถึง มาตรฐานสินค้าสีเขียว หรือ กรีนโปรดักส์ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังดำเนินมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน มาเป็นระยะเวลา 6 เดือน มองเห็น ประสิทธิผลและความคุ้มค่าอย่างไรบ้าง นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ที่ชัดเจนคือ สิทธิของผู้ประกอบการ SME ในการเลือกใช้บริการในแต่ละด้านที่สนใจได้เอง ต่างจากโครงการทั่วไป และการอุดหนุนของสสว.เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ร่วมจ่าย เขาต้องเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งก็คือการลงทุน ต่างจากโครงการบางอันที่ผู้ประกอบการ SME ไม่ต้องจ่าย หรือไม่มีความเสี่ยงเลย แปลว่าเขาคงไม่เข้ามาลงทุนในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพเราเชื่อว่าได้เต็มที่ รวมถึงผู้ประกอบการ SME สามารถเลือกผู้ให้บริการได้เองด้วย ข้อดีคือเราสามารถเห็นเรื่องของการพัฒนาว่าไปในทิศทางใด เป็นสิ่งที่ถูกจุดและตรงเป้าหมาย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการ “SME ปัง ตังได้คืน” ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS (https://bds.sme.go.th/) โดยมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน จะเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการสามารถยื่นข้อเสนอการพัฒนาได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://bds.sme.go.th/ หรือ โทร. 1301 หรือโทร. 0-2038-5858 หรือ ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือ OSS สสว. ในทุกจังหวัด ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป