SE-ED เปิดตัวหนังสือ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ก่อน รักษา กลับมาเป็นตัวเอง”

แม่หลังคลอด รู้ทันเสี่ยงซึมเศร้ารุนแรง ในงานเปิดตัวหนังสือ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ก่อน รักษา กลับมาเป็นตัวเอง”

บรรยากาศการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ก่อน รักษา กลับมาเป็นตัวเอง” เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ร้านซีเอ็ด สาขา เซ็นทรัล บางนา มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงาน คุณศุภรัตน์ ตั้งศรีวงศ์ ผู้อำนวยการสายงาน ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารซีเอ็ด

ให้การต้อนรับ คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ร่วมด้วย คุณเฮมิช มากอฟฟิน ผู้ก่อตั้ง PAM Foundation, นายแพทย์สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช อดีตจิตแพทย์โรงพยาบาลสุไหงโก-ลกและอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณจริยดี สเปนเซอร์ เซเลบริตี้ชื่อดัง เจ้าของ Woofpack Building และคุณพรรษรัตน์ พลสุวรรณา บรรณาธิการหนังสือ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ก่อน รักษา กลับมาเป็นตัวเอง”

ในงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ ยังมีช่วงเสวนาพิเศษ ที่แขกรับเชิญทั้ง 5 ท่านได้ให้ความรู้และคำแนะนำแก่คุณแม่คุณพ่อมือใหม่ได้เข้าใจภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รวมถึงวิธีรับมือกับโรคนี้

ด้านคุณคิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือสือเล่มนี้ มาจากเหตุผลส่วนตัว ที่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้า ต้องสูญเสียญาติใกล้ชิดที่รัก คือคุณประณัยยา อุลปาทร มากอฟฟิน และหลานชาย น้องอาเธอร์ มากอฟฟิน จากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

จึงสนใจศึกษาค้นหาหนังสือเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเล่มที่ดีที่สุดจากทุกมุมโลกเพื่อมาแปลให้คนไทยได้อ่านและตระหนักถึงภัยอันตรายของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ขณะเดียวกันก็พบความจริงว่า ผู้หญิง 1 ใน 6 คน ที่เพิ่งให้กำเนิดบุตร มักจะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอีกด้วย และยังไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้มากนัก จึงทำให้เกิดเป็นผลกระทบทางจิตเวชศาสตร์ ที่ทำให้การไปพบจิตแพทย์ เป็นเรื่องที่สังคมไทยยังไม่เปิดใจพูด และตีตราไปในมุมมองที่ไม่ดี

คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด

“ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ เขียนโดย แคเรน ไคลแมน และ วาเลอรี เดวิส ราสกิน สองผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะซึมเศร้าหลังคลอดโดยเฉพาะ อธิบายความแตกต่างของภาวะ Baby Blue และภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไว้ได้อย่างละเอียด มีแนวคิดไว้ให้เหล่าคุณพ่อคุณแม่ ร่วมกันเช็กดูอาการว่าเข้าข่ายภาวะของโรคนี้หรือไม่ รวมถึงให้คำแนะนำสำหรับคนรอบข้างให้รู้วิธีสังเกตอาการคุณแม่มือใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายของอาการ และรู้วิธีรับมือกับภาวะของโรคนี้ได้”

ส่วนคุณเฮมิช มากอฟฟิน ผู้ก่อตั้ง The Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation หรือ PAM Foundation ซึ่งตั้งมูลนิธิหลังจากที่สูญเสียภรรยาและลูกน้อยไปด้วยโรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยใช้ชื่อมูลนิธิตามชื่อภรรยาและลูกชาย (คุณประณัยยา อุลปาทร มากอฟฟิน และน้องอาเธอร์ มากอฟฟิน) กล่าวว่า

คุณเฮมิช มากอฟฟิน ผู้ก่อตั้ง The Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation หรือ PAM Foundation

หลังจากเกิดเรื่องราวที่น่าเศร้า ตนก็พยายามเยียวยาสภาพจิตใจให้ก้าวเดินต่อไป และคิดแง่บวกว่าการสูญเสียครั้งนี้จะสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้บ้าง จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิ PAM Foundation ที่มีภารกิจช่วยเหลือ 3 ด้านด้วยกัน ภารกิจแรก คือสร้างความตระหนักรู้ เรื่องของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและสุขภาพจิตสำหรับคุณแม่ รวมทั้งให้ความรู้การเตรียมตัวเป็นพ่อแม่มือใหม่

โดยทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ เผยแพร่แนวคิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดออกไปสู่สาธารณะมากขึ้น ภารกิจที่ 2 การดูแลรักษา ในรูปแบบปรึกษาจิตแพทย์บนออนไลน์หรือไปพบจิตแพทย์แบบตัวต่อตัว ซึ่งความเป็นจริงแล้วในประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นจิตแพทย์ทางด้านคุณแม่หลังคลอดโดยเฉพาะ

คุณพรรษรัตน์ พลสุวรรณา บรรณาธิการหนังสือ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ก่อน รักษา กลับมาเป็นตัวเอง”

ดังนั้น มูลนิธิกำลังจะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมหลักสูตรอบรมพัฒนาจิตแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมฝึกวิธีดูแลคุณแม่หลังคลอดที่เข้าข่ายเป็นภาวะซึมเศร้าอย่างถูกวิธี ส่วนภารกิจสุดท้าย คือการสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและสุขภาพจิตของคุณแม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ถ้ามองอีกด้าน ผมคิดว่ายังมีแม่หลายๆ คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายแบบนี้ ประกอบกับภรรยาของผมมีน้ำใจชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้ว ตั้งแต่ที่เขาป่วยเป็นภาวะซึมเศร้า เขาตั้งใจไว้ว่า หากเขาดีขึ้น เขาอยากจะทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยเหลือคุณแม่ที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าแบบนี้ นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อเน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงสุขภาพจิตของคุณแม่หลังคลอด ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหยิบยกขึ้นมาพูดในสังคมมากขึ้น”

“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเพียงหนึ่งในนั้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ หากเรามาสร้างการตระหนักรู้ ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ออกมาแบ่งปันประสบการณ์และพูดคุย ปรึกษากัน ก็จะเป็นประโยชน์ และพบแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือได้ทัน”

ขณะที่คุณเปิ้ล-จริยดี สเปนเซอร์ เซเลบริตี้ชื่อดัง เจ้าของ Woofpack Building เปิดเผยถึงประสบการณ์ที่ตนเองเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ต้องรับการรักษานานกว่า 6 เดือน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของอาการเกิดหลังจากคลอดลูกคนที่สอง ทั้งที่ตอนท้องลูกคนแรกไม่มีอาการผิดปกติใดๆ พอคลอดลูกคนที่สองผ่านไปไม่กี่เดือน เริ่มมีอาการร้องไห้ง่ายมาก ร้องแบบไม่มีเหตุผล

คุณเปิ้ล-จริยดี สเปนเซอร์ เซเลบริตี้ชื่อดัง เจ้าของ Woofpack Building

จากคนที่มองโลกในแง่บวก ชีวิตมีความสุขเสมอ กลับมีความคิดลบขึ้นมาว่าการมีลูกไม่มีความสุข ซึ่งช่วงแรกตนคิดว่าเกิดจากการเหนื่อย พักผ่อนน้อยเพราะเลี้ยงลูก แต่อาการของภาวะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เริ่มหงุดหงิดจากการให้นมลูกจากเต้า ไปจนถึงขั้นไม่อยากเห็นหน้าลูก เริ่มอาละวาดมากขึ้น จากคนที่ไม่เคยเข้าใจว่าคนที่ฆ่าตัวตายเขาทำได้อย่างไร มาวันหนึ่งกลับเกิดความคิด…ไม่อยากอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป

“จุดที่เลวร้ายที่สุด ก็คือยื่นคำขาดกับสามีว่า ถ้าไม่เอาลูกไปไกลๆ ฉันจะเขวี้ยงลูกลงพื้นเดี๋ยวนี้เลย!! ซึ่งความน่ากลัวคือ เราพูดได้อย่างไม่เสียใจเลย เหมือนว่าเรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ”

และนั่นคือจุดพลิกผันที่ทำให้คุณเปิ้ลตัดสินใจไปพบแพทย์เพื่อรักษาชีวิตครอบครัว และเข้ารับการรักษาจนกระทั่งอาการดีขึ้น ซึ่งในฐานะที่เป็นคุณแม่คนหนึ่งที่เคยผ่านภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาแล้ว สิ่งที่อยากจะแนะนำแม่หลังคลอดทุกคนก็คือ “เมื่อคุณรู้ว่ากำลังเข้าข่ายอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สิ่งแรกคือต้องยอมรับความจริง ว่าเราไม่โอเคแล้ว และขั้นต่อไปคือเปิดใจ ปรึกษาพูดคุยกับคนในบ้านหรือเพื่อน หากไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ โรคนี้หากเรารู้ทัน รู้เร็วมันสามารถรักษาให้หายได้”

สำหรับคำแนะนำของคุณแม่และคุณพ่อมือใหม่ ที่ต้องทำความเข้าใจและสังเกตอาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอด นายแพทย์สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช ให้คำแนะนำเบื้องต้นว่า คนสำคัญอย่าง สามี หรือคนรอบข้าง คือสิ่งสำคัญที่ต้องคอยสังเกตอาการของคุณแม่มือใหม่ เพียงเข้าใจ อยู่ข้างๆ ให้เขาได้ค่อยระบายความทุกข์ใจ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม

นายแพทย์สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช

รวมทั้งหมั่นสังเกต 5 อาการหลักๆ เช่น เศร้า อ่อนไหวง่าย, ร้องไห้ง่าย, มีความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูกว่าจะทำได้ไม่ดี, มีอาการนอนไม่หลับ, มีความคิดด้านลบต่อตนเอง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หากคุณแม่มือใหม่เข้าข่าย 5 อาการดังนี้ ควรรีบปรึกษาคนใกล้ตัวเพื่อพบแพทย์

“อีกหนึ่งสิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องตระหนักคือ การให้กำลังใจตัวเองว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ปล่อยวางความกดดัน ลดการเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อไม่สร้างการเปรียบเทียบวิธีการเลี้ยงลูกของตนเองกับผู้อื่น เชื่อมั่นวิธีการเลี้ยงลูกให้เป็นธรรมชาติมากกว่าเชื่อในตำราทั้งหมด แค่ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพราะการเลี้ยงลูกในแต่ละครอบครัวมีบริบทต่างกัน”

สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมและชมการเสวนาทั้งรายการ ได้ที่ https://www.facebook.com/SBC.fans