มองตลาดต่าง..สร้างโอกาสธุรกิจ ‘ไอศกรีมมิงโก้’ เจาะร้านขายของชำเมืองไทยควบคู่รุกตลาดต่างแดน ปี 65 มุ่งสู่เป้ายอดขาย 1,000 ล้าน

มองตลาดต่าง..สร้างโอกาสธุรกิจ ‘ไอศกรีมมิงโก้’ เจาะร้านขายของชำเมืองไทยควบคู่รุกตลาดต่างแดน ปี 65 มุ่งสู่เป้ายอดขาย 1,000 ล้าน

‘รสชาติอร่อยถูกปาก วัตถุดิบมีคุณภาพ ราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้’ คอนเซปต์ ‘Mingo Ice Cream’ ของคุณวี เชา โซ Chief Executive Officer (CEO) บริษัท วินซั่ม กรีน จำกัด เจ้าของแบรนด์ไอศกรีมมิงโก้ที่มองตลาดแตกต่างเน้นเจาะร้านขายของชำเมืองไทย พร้อมอาศัยความเข้าใจตลาดต่างประเทศจนประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายต่างแดน

ซึ่งปีนี้มีการคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทน่าจะโตถึง 1,000 ล้านบาท ก่อเกิดประเด็นการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจเพื่อให้ผู้ประกอบการและ SME บ้านเรา นำไปเป็นแนวคิด Business Transformation องค์กร บทสัมภาษณ์นี้เจาะ Insight หาคำตอบมาให้แล้ว

จากประสบการณ์ธุรกิจครอบครัวต่อยอดสู่ธุรกิจตนเอง

คุณวี เผยว่า ‘วินซั่ม กรีน’ เป็นบริษัทที่ตนเองก่อร่างสร้างขึ้นมาเมื่อ 12 ปีที่แล้ว หลังจากมีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจเกี่ยวกับไอศกรีม ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ของตนเอง ก่อนที่ตนเองจะมีการพูดคุยกับคุณพ่อว่าอยากจะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง นำมาสู่การสร้างโรงงานที่จังหวัดปราจีนบุรีในที่สุด

“ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ไอศกรีมแบรนด์ Mingo, นมสดพาสเจอร์ไรซ์แบรนด์ So Fresh ล่าสุดเป็นขนมปังมิงโก้ โดยกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 80% ส่วนอีก 20% จะเป็นส่งออก ปัจจุบันมีเปิดตลาดแบรนด์ Mingo Ice Cream ในต่างแดน ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม จีน และมาเลเซีย”

ขณะนี้ ‘วินซั่ม กรีน’ กำลังสร้างโรงงานใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับรายได้ที่ทางบริษัทคาดการณ์ว่าน่าจะโตถึง 1,000 ล้านบาทในปีนี้ 

‘Mingo Ice Cream’ แบรนด์ใหม่ทำอย่างไร? ในการเจาะตลาดเมืองไทย

CEO บริษัท วินซั่ม กรีน จำกัด ให้ความรู้ว่า ขณะเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ตนเองได้คิดแนวทางสำหรับ Marketing ไว้ว่า สำหรับเมืองไทยต้องมีกลยุทธ์เฉพาะ เนื่องจากผู้คนอาจจะมองว่าเราควรเจาะตลาดกรุงเทพฯ ก่อน แต่จำนวนคู่แข่งจะค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญผู้บริโภคอาจติดแบรนด์ที่คุ้นชินมากกว่า ดังนั้นบริษัทจึงเบนเป้ากลุ่มเป้าหมายหันมาเจาะตลาดต่างจังหวัดก่อน มีการสร้างสาขา สร้างตลาด ยังไม่เข้ากรุงเทพฯ หรือที่เข้าใจกันก็คือกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง โดยตลาดในเมืองไทยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นร้านขายของชำเป็นหลัก เนื่องจากร้านมีจำนวนค่อนข้างเยอะ กระจายอยู่ทั่วประเทศแม้ในพื้นที่ห่างไกล

ขณะที่จุดแข็งของ ‘วินซั่ม กรีน’ ก็คือการเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านขายของชำโดยตรงไม่ผ่านยี่ปั๊วซาปั๊ว โดยตนเองได้นำงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับการทำโฆษณามาลงทุนทำสาขา ซื้อรถสำหรับขนส่งและจำหน่ายไอศกรีม รวมถึงลงทุน Salesforce (แพลตฟอร์มการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ : CRM) เพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายในแต่ละร้านโดยตรง

“การลงทุนกับร้านขายของชำโดยตรง Cost ไม่สูงมาก และเนื่องจากสินค้าของบริษัทการขนส่งต้องมีห้องเย็น ซึ่งยี่ปั๊วจะไม่ค่อยมีบริการตรงนี้ ดังนั้นเราจึงคิดว่าลงทุนด้านโลจิสติกส์เองดีกว่า แม้จะเป็นการทำธุรกิจกับ Traditional แต่ก็ได้รับผลตอบรับดีมาก ขณะนี้ ‘วินซั่ม กรีน’ กำลังวาดแพลนในการจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดด้วย”

ปัจจุบันบริษัทมีรถสำหรับขนส่งสินค้ากว่า 200 คัน, 15 ศูนย์กระจายสินค้า และจะมีการสร้างเพิ่มอีก 2 ศูนย์ฯ ในอนาคตอันใกล้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของร้านขายของชำในทุกพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น

แต่ละประเทศมีความแตกต่าง เจาะตลาดต่างแดนต้องมีความเข้าใจ

คุณวี อธิบายให้เห็นภาพว่า Channel การทำ Marketing รวมถึงการจำหน่ายสินค้าในต่างแดนจะมีความแตกต่างกันไป อย่างเช่น สิงคโปร์ หรือไต้หวัน ร้านขายของชำจะไม่เยอะเหมือนในเมืองไทย ดังนั้นกลยุทธ์ Marketing ก็จะไม่เหมือนกัน อย่างการไปทำการตลาดที่สิงคโปร์ อาจต้องมองไปที่ร้านอาหาร – โรงแรม เนื่องจากมีค่อนข้างเยอะ และด้วยความที่ ‘ไอศกรีมมิงโก้’ เป็นแบรนด์ใหม่ การเข้ารีเทลจะมีการแข่งขันสูง

รวมถึงการที่ผู้บริโภคมักจะเลือกซื้อแบรนด์ที่รู้จักก่อน ดังนั้นบริษัทจึงเลือกเจาะตลาดกลุ่มร้านอาหารและโรงแรมก่อน เมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้นจึงไปจำหน่ายในรีเทล ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือโรงเรียน เป็นต้น ส่วนไต้หวันก็ใช้กลยุทธ์เดียวกัน เมื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักแล้ว ‘วินซั่ม กรีน’ จึงค่อยนำไอศกรีมมิงโก้เข้าไปจำหน่ายในเซเว่นกับแฟมิลี่มาร์ท ส่งผลให้ประสบความสำเร็จยอดขายเติบโตต่อเนื่อง

‘ไอศกรีมมิงโก้’ มีความพิเศษอย่างไร ทำไม? สามารถสะกดใจผู้บริโภคชาวไทยและต่างชาติ

คุณวี กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะเน้นรสชาติถูกปาก คุณภาพวัตถุดิบต้องดี และราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 ราคาไอติมของบริษัทต่อชิ้นอยู่ที่ 5 – 10 บาท ถึงแม้ราคาถูกกว่าแต่คุณภาพก็ต้องเน้น เพื่อให้เกิด Word of Mouth การบอกต่อแบบปากต่อปาก เมื่อได้รับประทานแล้วผู้บริโภคต้องรู้สึกว่าคุณภาพดีก็จะกลับมาซื้อซ้ำพร้อมกับมีการบอกต่อ เป็นการโฆษณาที่ทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

“สินค้าของบริษัทได้ผ่านการรับรองจาก GMP, HACCP, Halal และ Thailand Trust Mark (TTM) เรามีนโยบายเรื่องจริยธรรม และทำธุรกิจภายใต้หลักธรรมมาภิบาลเพื่อถูกต้องและโปร่งใส รวมถึงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค”

คุณวี เชา โซ Chief Executive Officer (CEO) บริษัท วินซั่ม กรีน จำกัด
คุณวี เชา โซ Chief Executive Officer (CEO) บริษัท วินซั่ม กรีน จำกัด

ส่วนนมสดพาสเจอร์ไรซ์แบรนด์ So Fresh ด้วยความที่บริษัทรู้ว่าคู่แข่งคือใคร หากไปแข่งขันต้องมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นตนเองจึงมองหากลุ่มลูกค้าเฉพาะหรือ Niche Market ที่เป็นร้านกาแฟ โดยเริ่มทำผลิตภัณฑ์นมเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว สำหรับการเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นร้านกาแฟเนื่องจากในเมืองไทยกระแสค่อนข้างบูม ตนเองจึงมีการไปพูดคุยกับฟาร์มเพื่อหาความรู้ในเรื่องนม ว่าตลาดกาแฟต้องการนมแบบไหน ต้องทำอย่างไรเพื่อให้พิเศษกว่านมทั่วไป เป็นต้น นำมาสู่การผลิตสินค้านมของบริษัทโดยมีโรงงานผลิตเองทั้งหมด พร้อมรถขนส่งนมถึงที่แบบเดลิเวอรี ตอบโจทย์ร้านกาแฟโดยเฉพาะ 

ขณะที่ขนมปังแบรนด์ Mingo บริษัทก็ผลิตเอง ซึ่งทำมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว โดยเป็นขนมปังสอดไส้ กับขนมปังแบบแผ่นเหมือนแบรนด์อื่น แต่กลุ่มตลาดของบริษัทจะเป็นร้านขายของชำเหมือนกับไอศกรีมมิงโก้ เหตุผลที่ ‘วินซั่ม กรีน’ ทำธุรกิจขนมปังเนื่องจาก บริษัทมีฐานลูกค้าอยู่แล้วจึงเกิดแนวคิดแตกไลน์การผลิตเพื่อเสิร์ฟสินค้าต่างๆ ให้กับร้านขายของชำ เพื่อไปสู่การเป็น Scalable Business ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

Key Success ขายสินค้าราคาถูก ต้องมีเทคนิคการบริหารต้นทุนวัตถุดิบ

ในเรื่องนี้ คุณวี เผยเคล็ด(ไม่)ลับให้ฟังว่า บริษัทจะมีเทคนิคทำให้ Cost เท่ากันตลอดทั้งปี เช่น การซื้อทุเรียนวัตถุดิบสร้างรสชาติไอศกรีมต้องซื้อช่วงที่เป็นซีซั่นทุเรียนออกผลไว้เป็นจำนวนมาก จากนั้นสต็อกแช่แช็งไว้ ส่วนนมผงก็ต้องเลือกซื้อเป็นซีซั่นเหมือนกัน เช่น นมจากทวีปยุโรป นมจากนิวซีแลนด์ การผลิต – ราคาก็จะไม่เหมือนกัน โดยช่วงฤดูผลิตของแต่ละแห่งราคาก็จะถูกลง ดังนั้นต้องมีความรู้ความเข้าใจแหล่งวัตถุดิบ จากนั้นบริษัทก็ซื้อมาเก็บไว้ เป็นการบริหารต้นทุนรวมถึงการบริหารสต็อกไปในตัว

เข้าใจการ Business Transformation สู่การนำ Digital Transformation มาปรับใช้กับองค์กร

CEO บริษัท วินซั่ม กรีน จำกัด กล่าวว่า ตอนที่ก่อตั้งบริษัทตนเองมีไอเดียว่า ต้องมีดาต้ารวมถึงระบบควบคุม เช่น บัญชี โพรเซสต่างๆ เป็นต้น จึงเริ่มลงทุนกับระบบ ERP ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ จึงทำให้การ Business Transformation ในเวลาต่อมาไม่ยากเท่าที่ควร โดยบริษัทได้นำระบบ Sales Management มาใช้ เมื่อประมาณ 7 – 8 ปีที่แล้ว ก่อนที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นระบบคลาวด์ผ่านมือถือเพื่อให้สะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากขณะนี้บริษัทมีฐานข้อมูลค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงต้องมีการ Digital Transformation ปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจสะดวกยิ่งขึ้น

“เมื่อก่อนบริษัทอาจจะเป็น SME ที่มีข้อมูลอยู่ในออนไซต์ มีเซิร์ฟเวอร์จัดเก็บข้อมูลอยู่ที่ออฟฟิศ แต่ปัจจุบันได้มีการย้ายข้อมูลต่างๆ ที่จัดเก็บไปอยู่ที่คลาวด์”

ดาต้าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารธุรกิจหลายด้าน เช่น เมื่อมี Sale Data ก็สามารถทราบได้ทันทีว่า แคมเปญหรือโปรโมชันที่ทำได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง โดยการวิเคราะห์จากดาต้า จากนั้นนำมาใช้เป็น CRM (Customer Relationship Management) ได้เป็นสเตปที่ 2 อย่างเรารู้ว่าดาต้านี้ เช่น สมมุติภาคตะวันออกเฉียงเหนือชอบโปรโมชันแบบนี้ ก็จะมีการ CRM ขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตลูกค้า โดยที่บริษัทสามารถ Customize ได้ 

“นี่คือ Point ที่เมื่อก่อนบริษัททำโปรโมชันแบบเดียวกันทั้งประเทศ แต่หลังจากมีการจัดเก็บดาต้าทำให้ทราบชัดขึ้น ซึ่งอาจจะละเอียดอาจถึงขั้น Customize ร้านขายของชำแต่ละร้านแบบไหนอย่างไร ส่วนด้านการสต็อกสินค้า การบริหารต้นทุนต่างๆ จะใช้ระบบ ERP ช่วยจัดการ ส่งผลให้บริษัทสามารถ Demand Forecasting หรือคาดการณ์ความต้องการสินค้าคงคลังได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยในเรื่องการบริหาร Cash Flow”

นอกจากนี้โรงงานยังได้มีการนำระบบ Automation มาใช้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้คนงานไม่เพียงพอ บริษัทจึงมองว่าโพรเซสใดที่นำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เราก็ทำ ขณะนี้ในโรงงานมีการนำ Automation มาใช้ประมาณ 30 – 40% โดยในส่วนของโพรเซสแพ็กกิ้งยังต้องใช้คนงานทำอยู่เนื่องจากเป็นสินค้าขนาดเล็ก

ทิศทางธุรกิจ ที่ ‘วินซั่ม กรีน’ จะมุ่งไปในอนาคต

คุณวี บอกว่า ในอนาคตบริษัทจะยังโฟกัสกับธุรกิจที่ทำอยู่ เช่น เบเกอรี นม แต่อาจจะต้องดูในส่วนที่เกี่ยวกับ Plant Based มากขึ้น โดยขณะนี้กำลังมีการศึกษานมเม็ดที่ผลิตจากกัญชา (แฮนด์มิลค์) ซึ่งเป็นเมล็ดกัญชาซึ่งสกัดออกมาเป็นนมเม็ด ไม่ใช่น้ำมันกัญชา ไม่มีสาร THC และ CBD แต่ให้โปรตีนกับไขมันดีสูงกว่า Plant Based ชนิดอื่น ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ

จากมุมมองตลาดที่แตกต่างสร้างโอกาสธุรกิจของคุณวี เชา โซ CEO บริษัท วินซั่ม กรีน จำกัด นำพาธุรกิจประสบความสำเร็จเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังไม่หยุดพัฒนาในการรังสรรค์สินค้าอื่นๆ ออกมา ควบคู่กับการขยายตลาดเพิ่มเติม เพื่อก้าวไปสู่แบรนด์ไอศกรีมชั้นนำของเอเชียในอนาคต

รู้จัก ‘บริษัท วินซั่ม กรีน จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่

http://mingoicecream.com/find-us/ 

https://www.facebook.com/MingoIceCreamTH/ 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิกหรือสายด่วน1333