เผยแพร่ |
---|
‘ไทย’ เปิดประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการควรดัน Wellness Tourism เทรนด์สุดฮิตพิชิตใจ Traveler
จากการที่กระแสรักษ์สุขภาพอีกหนึ่ง Mega Trend โลก ซึ่งกำลังมาแรงต่อเนื่องในปัจจุบัน ส่งผลให้ Wellness Tourism ได้รับอานิสงส์กลายเป็นเทรนด์ฮอตฮิตติดลมบนเช่นเดียวกัน โดย Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สาเหตุที่เทรนด์นี้ถึงได้รับความสนใจเยอะ เนื่องจากโควิด 19 ทำให้ผู้คนหันมารักสุขภาพตัวเองมากขึ้น เริ่มตระหนักว่าหนึ่งในวิธีสำคัญที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคผู้รุกรานนั่นก็คือ การทำให้ตัวเองแข็งแรง ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันที่มีคุณภาพที่สุด มีภูมิต้านทานสูงขึ้น แต่การจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัยความมีวินัย ความรู้ ในการหมั่นบำรุง ดูแลร่างกายอยู่เสมอ
โดยมูลค่าตลาดรวมธุรกิจสุขภาพทั่วโลกกลับมีศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่นโดยในปี 2560 อยู่ที่ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ปี 2562 มีมูลค่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเติบโต 6.4% ทุกปีติดต่อกันมา 10 ปี ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกมีมูลค่า 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าของ Wellness Tourism ประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ประเทศไทยเองในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ที่ 12.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ 409,200 ล้านบาทและเกิดการจ้างงาน 530,000 คนนับเป็นตัวเลขที่หอมหวานจึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายทางการท่องเที่ยวปี 2565 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะให้ความสำคัญกับการทำ Marketing ที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่าง Medical Tourism และ Health & Wellness Tourism ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 80,000 – 120,000 บาท
บทความที่เกี่ยวข้อง :
‘Health and Wellness’ อีกหนึ่ง Mega Trend โตแรง
Wellness Tourism ความท้าทายธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
7 เมกะเทรนด์ที่ธุรกิจควรจับตา ‘เมื่ออนาคตกำลังไล่ล่าคุณ’
ถอดบทเรียน Wellness Tourism เป็นที่นิยมทั่วโลก
Wellness Tourism มีความหลากหลายและแต่ละประเทศต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยส่วนใหญ่มักเชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ
ยุโรปกลางและตะวันออก
เน้นการบำบัดโรคจากน้ำแร่ธรรมชาติ (Therapeutic)
อเมริกาเหนือ
เน้นกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (Lifestyle-based) เช่น โยคะ
อเมริกาใต้
เน้นกิจกรรมเชิงสุขภาพ ในโรงแรมและสปารีสอร์ท (Wellness hotels and spa resorts)
เอเชียส่วนใหญ่ + ไทย
เน้นกิจกรรมที่เกี่ยวกับ จิตวิญญาณและการดูแลสุขภาพแบบ องค์รวม (Spiritual and holistic) เช่น การฝึกสมาธิและสปา
3 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโต Wellness Tourism
- การขยายตัวของชนชั้นกลางทั่วโลกที่มีระดับรายได้ที่สูงขึ้นซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย
- ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพของตนเองมากขึ้น ซึ่งถูกกระตุ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) และความเครียดจากการทำงาน
- เทรนด์การท่องเที่ยวที่นิยมการสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม
เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย Wellness Tourism ตามลักษณะสุขภาพของการท่องเที่ยว
- การท่องเที่ยวเพื่อรักษาสุขภาพของนักท่องเที่ยวที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
การท่องเที่ยวในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงทั่วโลก เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพของ ตนเองภายใต้สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในปัจจุบัน โดยการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี เช่น การนั่งสมาธิการฝึกโยคะ การฝึกไทเก๊ก การอาบน้ำแร่หรือสปา การนวดแผนโบราณ การรับประทานสมุนไพร การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการพักผ่อนในที่มีอากาศบริสุทธิ์ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีสถานที่ให้บริการการท่องเที่ยวเพื่อรักษาสุขภาพหลายประเภท เช่น การนวดแผนโบราณที่วัดโพธิ์การนั่ง สมาธิในวัดสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นต้น
- การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของนักท่องเที่ยวหรืออยู่ในระยะพักฟื้น
การท่องเที่ยวลักษณะนี้ นักท่องเที่ยวต้องการอากาศที่บริสุทธิ์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและเป็นธรรมชาติรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและ ออกกาลังกายอย่างเบาๆ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ สถานที่ท่องเที่ยวที่ให้บริการลักษณะนี้ เช่น ชีวาศรม สถานพักตาก อากาศชายทะเล เป็นต้น
- การท่องเที่ยวเพื่อรักษาโรคของนักท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวในลักษณะนี้กำลังได้รับความนิยมเป็น อย่างสูงเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยถูกกว่าต่างประเทศและเมืองไทยมีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และฝีมือหลายด้าน เช่น การทำทันตกรรม การเปลี่ยนสะโพก การเปลี่ยนข้อเข่า การผ่าตัดเพื่อเสริม ความงาม เป็นต้น
สู่คำถามสำคัญ ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร? ในการชิงโอกาสช่วง Wellness Tourism กำลังขาขึ้น
จากขอบข่ายความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มรักษ์สุขภาพ จะเห็นว่ามีหลากหลายธุรกิจและบริการที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สปา กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่สามารถใช้โอกาสนี้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้
สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น คือเรื่องสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือเพื่อพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เน้นรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพไม่เน้นปริมาณ และพยายามดึงจุดเด่นขอบ้านเรามาพัฒนาให้เป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น สถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม อาหารไทยที่มีเอกลักษณ์และดีต่อสุขภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์แผนไทย นวดไทย การบริการ และอัธยาศัยอันดีซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย
นอกจากนี้ การบริการด้านสุขภาพของไทยและการรักษาพยาบาล ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี เพราะมีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย แพทย์ที่มีความสามารถและค่าใช้จ่ายถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศฝั่งยุโรป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดแข็งของไทยที่สามารถใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มรักษ์สุขภาพได้ทั้งสิ้น
สำหรับผู้ประกอบการและ SME ต่างๆ ควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาสินค้าและบริการของตนเพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างมาตรฐาน แม้จะเป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ แต่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการได้ เช่น ธุรกิจโรงแรม ที่พัก หรืออสังหาริมทรัพย์ ควรปรับสถานที่ให้เอื้อกับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น มีราวจับตามที่ต่างๆ ทั้งในห้องน้ำ ทางขึ้นลงบันได ติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงในบริเวณพื้นต่างระดับ เพื่อป้องกันการหกล้ม เพิ่มทางลาดเอียงสำหรับรถเข็นและเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ
ขณะที่อุปกรณ์ภายในที่พัก เช่น เตียง ฟูก หมอน ควรมีความแข็งความนุ่มหลายระดับตามความต้องการของผู้มาพัก เพราะบางคนมีข้อจำกัดทางสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ เป็นต้น ควรมีผ้าม่านกันแสงแดด เพื่อให้การนอนมีสุขภาพ เป็นต้น
โดยตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมในการปรับตัวสู่ Wellness Tourism ก็คือ เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ มีการผลักดันธุรกิจส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ด้วยเหตุนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายพันธมิตร จึงมีแนวคิดในการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้มีศักยภาพสูงจนเป็นต้นแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของภูมิภาค
ด้วยการนำ Wellness มาเป็นองค์ประกอบหลักในการดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้กลับสู่ประเทศ และเกิดผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพแบรนด์ไทยทั้ง 4 ผลิตหลัก ได้แก่ บริการส่งเสริมสุขภาพ บริการรักษาพยาบาล บริการวิชาการ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นเมืองมหาอำนาจด้านสุขภาพของโลก
สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีมนต์เสน่ห์ของความเป็น ‘Andaman Cluster’ มีท่าอากาศยานนานาชาติ ท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ และท่าจอดเรือยอชต์ที่มีความสะดวกและทันสมัย การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็น Smart Health and Wellness City จะเริ่มจาก 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยดึงจุดเด่นในการบริการของแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต เรื่องการเป็นศูนย์รักษาพยาบาล และการประชุมนานาชาติ จังหวัดพังงา ด้านศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และจังหวัดกระบี่ มีน้ำพุร้อนเค็มบำบัด มาเป็นจุดขาย เป็นต้น
เมืองไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับความชื่นชมจากทั่วโลกว่ามีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ดี การนำโอกาสตรงนี้พัฒนาปรับปรุงการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะนำมาสู่การเป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญของไทยในอนาคตได้
แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.), สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
https://www.bangkokbanksme.com/en/wellness-tourism-health-tourism-business
https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20200306095827.pdf
https://www.pptvhd36.com/health/news/728
https://www.thansettakij.com/business/524645
https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2022/05/%E0%B8%A1%E0%B8%B4.%E0%B8%A2-1.pdf
https://www.facebook.com/TATAcademy/posts/324381543050085
https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2021/09/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5.pdf
https://www.spu.ac.th/fac/intl/th/content.php?cid=20658
อ่านบทความเกี่ยวกับ Mega Trends & Business Transformation :
‘Health and Wellness’ อีกหนึ่ง Mega Trend โตแรง
ปี 2020 โต 1.4 แสนล้าน US! ‘HealthTech’ เทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วยยุคดิจิทัล
SME ต้องรู้ ก่อน Business Transformation องค์กรเข้าสู่ระบบ ‘Automation’
Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333