NIA ดึงกูรูด้านอนาคตศาสตร์ฝรั่งเศส แนะอาวุธสำคัญรับมือโลกอนาคต

NIA ดึงกูรูด้านอนาคตศาสตร์ฝรั่งเศส แนะอาวุธสำคัญรับมือโลกอนาคต พร้อมชวนพันธมิตร เปิดเวทีแลกเปลี่ยนโมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “ชาติแห่งนวัตกรรม”

  • ติดสปีดความก้าวหน้าชาติ!! เอ็นไอเอ เร่งเครื่องดันไทยให้เป็น “ชาตินวัตกรรม” ชี้ 6 อาวุธต้องมี ด้านกูรูฝรั่งเศสร่วมเปิดทางดันไทยก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน Thailand Global Innovation Forum 2022 (TGIF 2022) “Thailand Towards Top 30 Global Innovation Nation”

เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ “ชาติแห่งนวัตกรรม” พร้อมกับการครบรอบ 13 ปี ของการจัดตั้ง NIA เป็นองค์การมหาชน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เรเน่ รอห์เบรค ศาสตราจารย์ด้านนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง และผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์อนาคต จาก EDHEC Business School โรงเรียนธุรกิจชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศส

ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Global Foresight : Futures of Innovation Nation” นอกจากนี้ ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองประเด็น “Global Innovation Index (GII) : นวัตกรรมไทยในเวทีโลก” จากผู้แทนหน่วยงานชั้นนำระดับประเทศ

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ NIA กล่าวว่า 2 กันยายน 2565 เป็นโอกาสครบรอบ 13 ปี ของการจัดตั้ง NIA เป็นองค์การมหาชน ที่ผ่านมา NIA ในฐานะ “หน่วยงานบูรณากรเชิงระบบ (System Integrator)” ได้มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมไทยและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนภายใต้ระบบนวัตกรรม และเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ NIA

ซึ่งในช่วงแรก NIA เน้นการให้ทุนเอสเอ็มอีสำหรับสร้างธุรกิจนวัตกรรม ต่อมาจึงมุ่งสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) และเมื่อประเทศไทยมีผู้เล่นใหม่ด้านสังคมที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนวัตกรรม NIA ก็ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมบนฐานเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) เพื่อสร้างศักยภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้พร้อมปรับตัวและรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

โดยเฉพาะการขับเคลื่อน 3 ระบบเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจฐานราก ที่ตอบโจทย์การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและพื้นที่ 2) เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาสภาพแวดล้อม และ 3) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เกิดจากฐานองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัย ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมพื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคมไทย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA เปิดเผยว่า NIA ปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น System Integrator สู่การเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator)” ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานของ NIA ใน 4 ด้าน ได้แก่

กลยุทธ์ที่ 1 ทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง เพื่อเพิ่มจำนวนธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพในระดับมวลวิกฤตที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศ ด้วยการพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและเวทีสากล และสร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนอย่างทั่วถึง

กลยุทธ์ที่ 2 พลิกโฉมระบบการเงินนวัตกรรมไทย ผ่านการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบการเงินนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนการเติบโต และเข้าถึงได้ และเป็นเครื่องมือสำคัญเชิงระบบที่ช่วยให้ธุรกิจนวัตกรรมสามารถสร้างการเติบโตและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

กลยุทธ์ที่ 3 สร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริมการใช้ข้อมูลนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์บนหลักฐานเชิงประจักษ์ของนักนโยบายและผู้ประกอบการในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม

กลยุทธ์ที่ 4 เป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัล ปรับใช้มาตรฐานการบริหารจัดการ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร”

“ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศให้มุ่งสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” (Innovation Nation) ที่พร้อมเติบโตและสามารถสร้างนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมุ่งใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) รัฐ คือ Sandbox และ Accelerator ของนวัตกรรม 2) เร่งการเติบโตในการลงทุนทางนวัตกรรมเชื่อมกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย 3) กระตุ้นกิจกรรมและสร้างฐานข้อมูลตลาดการเงินนวัตกรรมและตลาดทุนทางเทคโนโลยี 4) เพิ่มจำนวนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางธุรกิจ 5) กระตุ้นการจดทะเบียนและใช้ประโยชน์สิทธิบัตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และ 6) เพิ่มจำนวนนวัตกรรมฐานความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.เรเน่ รอห์เบรค ศาสตราจารย์ด้านนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง และผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์อนาคต จาก EDHEC Business School

ดร.เรเน่ รอห์เบรค ศาสตราจารย์ด้านนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง และผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์อนาคต จาก EDHEC Business School ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่

1) Thailand 4.0 จากการผลิตสินค้าสู่การส่งเสริมเทคโนโลยี โดยเฉพาะ 4 เทคโนโลยีหลัก (เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง และเทคโนโลยีดิจิทัล)

2) การขยายตัวของการค้าบริการระหว่างประเทศ โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เป็นบริการระดับมืออาชีพที่มีการทำการค้าทางอ้อมผ่านห่วงโซ่มูลค่า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในอีก 10 ปีข้างหน้า

3) การผลักดันไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความรู้ บริษัทจะมีพนักงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาในด้านการผลิต สังคมศาสตร์ และไอที การบริการแนะแนวอาชีพที่มีคุณภาพและนโยบายที่กระตุ้นความต้องการทักษะระดับสูงในตลาดแรงงาน

4) การพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมาพร้อมกับขนาดของแรงงานที่เล็กลง เน้นการทำงานเชิงคุณภาพมากขึ้น และนี่จะทำให้ผลิตภัณฑ์สีเขียวมีราคาที่สูงขึ้น

“สำหรับองค์กรการรับมือความเปลี่ยนแปลงต้องมีการเตรียมการรับมือโดยอาศัยโมเดลฟิวเจอร์ฟิตเนส (FUTURE ‘FIT’NESS MODEL) ซึ่งเป็นโมเดลการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต จะประกอบด้วย การรับรู้ (Perceiving) เป็นการสำรวจสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น เพื่อลดเวลาการตอบสนอง การคาดการณ์ (Prospecting) ซึ่งคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มความเร็วในการตัดสินใจ และการทดลอง (Probing) เพื่อแก้ปัญหาด้วยทรัพยากรที่มี”

“ทั้งนี้ ความสามารถในการคาดการณ์อนาคตเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อม เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งควรจัดให้มีการอบรมและเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานระดับผู้จัดการ โดยเฉพาะหากต้องการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับอุตสาหกรรมและระบบนิเวศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต้องใช้ “มนุษย์” เป็นตัวขับเคลื่อนโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้นำและเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็ง และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ความรู้สึกสนุกกับการเป็นนวัตกร เพราะถือว่าเป็นการทำงานที่หนักและอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนทันที จึงควรมั่นใจว่า คุณจะมีความสุขและสนุกไปกับสี่งที่สร้างสรรค์” ดร.เรเน่ ทิ้งท้าย