คน-ของ-ตลาด โมเดล มิติใหม่สู่เส้นทาง “เศรษฐี” ให้รวยด้วย “แบ่งปัน”

คน-ของ-ตลาด โมเดล มิติใหม่สู่เส้นทาง “เศรษฐี”

สร้างผู้ประกอบการชุมชนให้รวยด้วย “แบ่งปัน”  

 

เศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจท้องถิ่นนับเป็น “ฐานราก” ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3.1 ล้านราย หากรวมภาคแรงงานอีกกว่า 12 ล้านคน จะถือว่าเศรษฐกิจฐานรากเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า “ธุรกิจชุมชน” กลับมีปัญหาที่ท้าทาย และรุนแรงมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากต้นทุนการผลิต หนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพ ที่สำคัญคือ “การพัฒนาคน” ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดในยุคปัจจุบัน

จากโจทย์ดังกล่าว หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จึงได้ริเริ่มสร้างโครงการ Local Enterprises (LE) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ ทักษะและนวัตกรรมการจัดการให้กับผู้ประกอบการ LE อีกทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้

ล่าสุดได้มีการจัดงาน ‘Local Enterprises Social Expo’ เพื่อนำเสนอความสำเร็จของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของ ‘ชุมชนท้องถิ่น’ ผ่านการดำเนินโครงการ ‘Local Enterprises’ (LE) โดยความร่วมมือของภาคีวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “คน-ของ-ตลาด” มิติที่แตกต่าง LE Network Value Chain Model ครั้งแรกของไทย โดยมุ่งหวังให้ LE เป็น Model ที่ยกระดับธุรกิจชุมชน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่เจาะลึก วิจัยสาเหตุและวางเครื่องมือแก้ปัญหาเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจชุมชนอย่างครบวงจร และเกิดการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการ Local Enterprises ทั่วประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง นำยุค และยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อการเติบโตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปัน

ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprise กล่าวว่า แนวคิด “คน-ของ-ตลาด โมเดล” มุ่งเน้นเพื่อจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตามกรอบโครงการ “LE” ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 มิติ เริ่มจากคน ซึ่งหมายถึงธุรกิจชุมชน ครอบคลุมตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ ลูกจ้าง ไปจนถึงเกษตรกร ฯลฯ ต่อมาคือ “ของ” เป็นการพัฒนา ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่า-คุณค่าของ “ของ” ซึ่งครอบคลุมทั้งวัตถุดิบ สินค้า และบริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด และเหมาะสมกับต้นทุนและความสามารถในการผลิตอย่างมีประสิทธิผล ส่วนสุดท้ายคือ “ตลาด” เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจด้วยข้อมูลตลาดที่ผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้าน

เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้แนวคิดนี้สำเร็จ ต้องเริ่มจาก “ธุรกิจปันกัน” เพราะธุรกิจปันกันเป็นธุรกิจชุมชนที่มีการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ มีการสร้างและจ้างงาน ที่สำคัญ มีกระบวนการแบ่งปันรายได้คืนสู่ชุมชน หรือสังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สินค้าที่มาจากชุมชนจึงไม่ใช่แค่ของแต่มันคือคน

เราค้นพบว่าปัญหาสินค้าในชุมชนประเด็นหลักคือไม่มีตลาด เพราะคนส่วนใหญ่มองไม่เห็นคุณค่า จึงไม่ตอบโจทย์เรื่องมูลค่า ไม่รู้กระบวนการการทำการตลาด ไม่รู้ต้นทุน ที่สำคัญ เรายังพบว่าธุรกิจชุมชนมีปัญหาการเงินมากถึง 90% โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของการมีเงิน แต่เป็นปัญหาการจัดการการเงิน ธุรกิจชุมชนที่เปราะบางอยู่แล้ว ทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขเพราะธุรกิจชุมชนเราเป็นฐานรากของธุรกิจที่สำคัญของประเทศ

โครงการธุรกิจปันกันได้เข้าไปไขปัญหา โดยพบว่ารากของการทำธุรกิจก็คือรากของการเงิน ถ้ารากไม่รอดก็ต่อยอดไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เรามองไม่เห็นราก แต่จะไปมองว่ามีของไปขายตลาดไหม? ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ถูก ถามว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หลักๆ คือ ธุรกิจชุมชนไม่เคยให้ค่าแรงตัวเอง ต่อมาคือไม่ได้แยกตัวเองออกจากธุรกิจ เพราะคิดว่ารายได้ของธุรกิจ คือรายรับ จึงมีการนำเงินธุรกิจมาใช้จ่ายส่วนตัว

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการเจาะประเด็นและไขปริศนา โดยมีการสร้างชุดความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องมาสอนด้วยวิธีการที่เข้าใจง่าย เช่น บอร์ดเกม แอพพลิเคชั่น ประตูเศรษฐี แอพพลิเคชั่นเศรษฐีเรือนใน เพื่อเปลี่ยนนิสัย และให้มีวินัยทางการเงิน เพื่อมุ่งสู่เส้นทางเศรษฐี ซึ่งหมายถึง การบริหารจัดการการเงิน การรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจ ไม่สร้างหนี้สิน ใช้จ่ายอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและใช้เงินอย่างไรให้ทรงพลังที่สุด

ผลลัพธ์คือเราพบว่าธุรกิจปันกันมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อเดือน กำไรขั้นต้น 12% แต่ 2 อย่างนี้ไม่ใช่คำตอบ คำตอบคือหนี้สินที่มันเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 มันลดน้อยลง 7% สิ่งสำคัญกว่านั้น ธุรกิจมีสภาพคล่อง มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินมากถึง 3 เดือน ถ้าหากมีเหตุวิกฤต ไม่มีรายได้ ก็จะมีเงินตรงนี้ สำรองจ่าย

หลักสำคัญคือการเริ่มต้นพัฒนาคน เพราะคนคือเจ้าของธุรกิจ เราจึงไปเพิ่มขีดความสามารถของคนให้หาข้อมูล โดยไปเอาข้อมูลตลาดมาวิเคราะห์ ขยี้ เคี้ยวข้อมูล ให้เห็นดีมานด์จริงๆ คนซื้อต้องการอะไรแล้วค่อยมาพัฒนาของให้ของตอบโจทย์ตลาด อันนี้คือการเปลี่ยน Mindset ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่เรามุ่งเน้น

แม้เรายังคงต้องการนำของ Local สู่ Global เพราะตลาดในอนาคตต้องการของ Local แต่เราจะไม่สามารถพาเขาไปที่จุดนั้นได้เลย ถ้าความคิดเขายังไม่เปลี่ยน เราไม่ได้มุ่งสร้างของ เราต้องหาตลาดให้ได้ก่อน แล้วตอบตัวเองว่าเราขาดศักยภาพ หรือความสามารถเรื่องใด แล้วเพิ่มทักษะที่ยังขาด โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการการเงิน รวมทั้งการวิเคราะห์เพื่อสร้างแผนงาน การต่อสู้ การเรียนรู้ นี่คือหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของธุรกิจชุมชน นี่คือสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราต้องช่วยเพื่อพาเขาไปยังจุดหมาย โดยมีคนในชุมชนร่วมกัน มีความเกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน และสำเร็จไปด้วยกัน

ผมอยากให้ทุกคนค้นหาความหมายว่า ของที่มาจากชุมชนนั้นคืออะไร สิ่งที่มันบรรจุอยู่ในของนั้นผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง สินค้าชุมชนเป็นสินค้าที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตของคนมากมายมาก ตั้งแต่วัตถุดิบ เป็นสินค้า เป็นบรรจุภัณฑ์ มันร้อยด้วยหัวใจ ลมหายใจ มันมีชีวิต เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันประเมินค่าไม่ได้ ทุกครั้งที่คุณเห็นมันจงมองมันจากข้างใน มองให้เห็นมันแล้วคุณจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้รับของเหล่านี้

คุณสุทธิรัตน์ ปาลาส เจ้าของบริษัท บุญดำรงกรีนฟาร์ม จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นเจ้าของรางวัล “เศรษฐีช่างช่วย” กล่าวว่า มีธุรกิจทำสวนแบบผสมผสานในรูปแบบวนเกษตร ได้แก่ มะยงชิด สับปะรดห้วยมุ่น ทุเรียนหลงหลินลับแล ทุเรียนหมอนทอง ลองกอง และลางสาด รูปแบบการปลูกผลไม้ในป่าแบบนี้มีมาแต่โบราณ ด้านหนึ่งคือการสร้างรายได้ให้เกษตรกร อีกด้านคือการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่าน นิยามที่ใช้กันในกลุ่มคือ ทำอย่างไรจะให้คนอยู่ได้และป่าก็ยังอยู่

กลุ่มทำสวนในรูปแบบวนเกษตรนี้มีทั้งหมด 26 ครอบครัว แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการส่งผลผลิตเป็นผลไม้ในฤดูกาลมาจำหน่ายในกรุงเทพฯ แต่ในอดีตชาวสวนมีการจำหน่ายผลผลิตเหมือนชาวบ้านทั่วไป เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง ต่อมาเมื่อเข้าร่วมโครงการ 2 ปีแรกจึงได้ทำความเข้าใจเรื่องการทำเกษตรแบบออร์แกนิก ทำให้เกิดความปลอดภัยและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และได้ต่อยอดมาทำการตลาด รวมถึงการจัดตั้ง บริษัท บุญดำรงค์กรีนฟาร์ม จำกัด ขึ้น โดยได้รวบรวมผลผลิตจากเครือข่ายมาจำหน่ายให้คู่ค้าอย่างร้านเลมอนฟาร์ม ซึ่งเป็นที่มาของการต่อรองและกำหนดราคาขายอย่างเป็นธรรมขึ้น

ผมได้เข้าร่วมโครงการธุรกิจปันกัน โดยเริ่มจาก “ประตูเศรษฐีบานที่ 1” ซึ่งเหมือนการเปิดโลกกว้างทางการเงินของครัวเรือน แม้เมื่อก่อนจะเคยจดบันทึกรายรับ รายจ่าย แต่ยังไม่มีการวิเคราะห์ แต่โครงการธุรกิจปันกันได้สอนให้คิดวิเคราะห์สถานการณ์ตัวเราก่อนทำให้ได้เห็นโลก เห็นโอกาสใหม่ๆ เมื่อเดินสู่ “ประตูเศรษฐีบานที่ 2” ก็ยิ่งทำให้ได้เห็นเป้าหมายที่ชัดขึ้น เมื่อเดินต่อไปยัง “เศรษฐีเรือนใน” ซึ่งเป็นการบริหารการเงินในครัวเรือนทำให้ได้เห็นโอกาส ได้มีโอกาสเล่นเกมบอร์ด ซึ่งเหมือนเกมเศรษฐี

ทำให้เราคิดได้ว่า ทำไมมันเหมือนชีวิตเรา จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเราหมุนเงินไม่ทัน เงินหายไปตอนไหน เพราะเราไม่ได้แยกเงินส่วนตัวกับเงินที่เราทำธุรกิจออกจากกัน และคนส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้จากผลผลิตในแต่ละปีมีเข้ามาประมาณ 4-5 ครั้ง แต่รายจ่ายเรามีทุกวัน พอเราจะมาลงทุนรอบต่อไป เงินก็ขาดมือเป็นเหตุให้เราไปหยิบยืมหาสินเชื่อมาใช้ ซึ่งทำให้เกิดเป็นวงจรแบบนี้ไม่รู้จบ

การเข้าร่วมโครงการทำให้เราได้ฉุกคิดอยู่เสมอว่าก่อนที่เราจะลงทุน เราต้องใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงมาวิเคราะห์ ว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม เมื่อไหร่จะคืนทุน ตอนนี้จึงสนุกเพราะเราได้รู้วิธีการบริหารจัดการการเงินในครัวเรือนที่ถูกต้อง งบดุลจากเดิมที่อ่านไม่เป็น วันนี้เราอ่านได้ เราสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ ณ วันนี้ เราจึงมีความมั่นใจเพราะเรามีวัคซีนทั้งตัวเองและทางธุรกิจ ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ตัวเราหรือบริษัท แต่ยังหมายถึงครอบครัวและธุรกิจในชุมชนอีกด้วย

สิ่งที่ได้จากโครงการนี้ก็คือ เราสามารถคิด วิเคราะห์ ต้นทุนการผลิตจากข้อมูลข้อเท็จจริง แล้วเอาราคาไปนำเสนอกับทางคู่ค้า ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ราคาถูกกำหนดโดยพ่อค้าที่ไปรับซื้อ เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง แต่ตอนนี้เป็นมิติใหม่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจากกลุ่มคนเล็กๆ โดยมีคู่ค้าที่ให้ความเป็นธรรมกับเรา ถือเป็นโมเดลในธุรกิจการเกษตรที่เกษตรกรสามารถคิดวิเคราะห์ต้นทุนเองได้ ผ่านการนำเสนอ สื่อสารกับคู่ค้าได้อย่างเข้าใจ นอกจากนี้ เรายังสามารถลดต้นทุนได้โดยการขอเพิ่มปริมาณสินค้าเพื่อลดต้นทุนทั้งเวลาและการขนส่ง เช่น จากเดิมเราส่งสินค้ารอบละ 500 กก. ก็ขอปรับเพิ่มเป็น 1,000 กก. เรียกได้ว่าโครงการได้ให้อาวุธทางปัญญา ให้วิธีคิดในการต่อรอง วิธีการนำเสนอข้อมูล และสื่อสารให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีคุณค่า

ในวันนี้เรายังมีการต่อยอดในการขาย เช่น การขายออนไลน์ ลูกค้าที่ติดต่อมาเราก็จะคิดราคาหน้าสวน ซึ่งถูกคิดต้นทุนและบวกกำไรแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนในการแปรรูป แต่เป็นการแปรรูปเบื้องต้นที่ไม่ได้เกินศักยภาพ เช่น มะยงชิด เกรดพรีเมี่ยมเราก็ส่งขายให้คู่ค้า ส่วนที่มีตำหนิเราก็ปอกเปลือกเก็บเนื้อ แล้วก็แช่แข็งด้วยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน แล้วขายให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดที่เอาไปทำสมูทตี้ ทำท็อปปิ้งใส่หน้าขนม โดยล้มเลิกความคิดที่จะทำแบรนด์ เปิดโรงงาน ทำแพ็กเกจจิ้งสวยๆ มาแข่งกับแบรนด์ใหญ่ๆ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะเรากลับมามองศักยภาพของเราเป็นหลัก

ผมมั่นใจว่าธุรกิจภาคเกษตรสามารถเติบโตและมั่นคงได้ ถ้าหากเราติดอาวุธทางปัญญา รู้จักศักยภาพ และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ธุรกิจของผมอาจจะเป็นธุรกิจที่เหมือนไฟกะพริบเล็กๆ ในชุมชน แต่หากเราช่วยกันทำให้กะพริบทั้งประเทศแล้วขยายวงออกไป วันหนึ่งเราคงจะได้เห็นประเทศไทยเต็มไปด้วยคนที่มีความรู้ และเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยรอยยิ้ม และการแบ่งปัน

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของผู้เข้าร่วมโครงการ Local Enterprises ธุรกิจปันกัน ภายใต้แนวคิด คน-ของ-ตลาด โมเดล ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ จนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ในชุมชนเติบโตและเข้มแข็งเป็นเศรษฐี ด้วยความเข้าใจที่ถ่องแท้ด้านการเงิน มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และสุดท้ายคือการแบ่งปันกันในชุมชน