เผยแพร่ |
---|
ถอดความสำเร็จ ‘คุณสุพิชญา’ ผสาน 5 แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มรวมเป็นหนึ่ง สร้างคาแรกเตอร์คาเฟ่สุด Unique ณ เขาใหญ่
ร้านอาหารสุด Unique ผสมผสานกับคาเฟ่ บรรยากาศสบายๆ สไตล์เขาใหญ่ ร่มรื่นไม่ไกลจากตัวเมือง ที่พร้อมให้ดื่มด่ำกับบรรยากาศ และรสชาติอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง จากแนวคิดกลยุทธ์สร้างแบรนด์ 5 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มให้เป็นที่จดจำ ในสไตล์ คุณสุพิชญา คุปพิทยานันท์ เจ้าของร้านและผู้บริหารร้าน The Keeen, เฮา เขาใหญ่, จ้ำเข่า, The Creek และ Khaam
จุดเริ่มต้นนักธุรกิจสาวจากความหลงใหลในกาแฟและเบเกอรี
คุณสุพิชญา เล่าที่มาของธุรกิจว่า ก่อนหน้านี้เคยทำร้านกาแฟและเบเกอรีมากว่า 8 ปี จึงมี Know How เป็นของตัวเอง นอกจากนี้ครอบครัวยังมีที่ดินอยู่ในใจกลางอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีเขาใหญ่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทย จึงมองเห็นจุดแข็งของตัวเองเกิดเป็นแนวคิดสร้างธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่ในเขาใหญ่ เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเขาใหญ่แบบครบวงจร
อย่าง The Creek มีที่มาจากความรักในการกินขนม และ Passion ในการชอบทำขนมของเรา ในขณะที่ ร้าน Keeen Khaoyai เป็นร้านอาหารสไตล์คาเฟ่ เกิดขึ้นได้เพราะตัวเราเองเป็นคนที่ชื่นชอบดื่มกาแฟที่เป็น Specialty Coffee ส่วนร้าน ‘จ้ำเข่า’ และ ‘เฮา’ รวมไปถึงร้านขนมหวานและคุกกี้ออนไลน์อย่าง Milktain ก่อนจะเปิดร้าน Khaam คาเฟ่ Specialty มัทฉะ เพื่อเอาใจคนชอบชาเขียวมัจฉะโดยเฉพาะ
สร้างคาแรกเตอร์อย่างไร? ให้ลูกค้าจดจำ
คุณสุพิชญา กล่าวถึงวางคอนเซปต์ร้านว่า เป็นการใช้กลยุทธ์การสร้างคาแรกเตอร์ที่แตกต่างอย่างโดดเด่น ในรูปแบบคาเฟ่ผสมผสานกับร้านอาหารสุดยูนีก สัมผัสได้ถึงบรรยากาศกลิ่นอายธรรมชาติ ทุ่งนาเขียวขจี ที่มาพร้อมกับความโปร่งโล่ง สบาย กับมุมเก๋ๆ มากมายให้ได้เก็บภาพความประทับใจที่ได้มาเยือนร้านของเรา
นักธุรกิจสาว เปิดมุมมองของแนวคิดว่า ถ้าจะสร้างอีกหนึ่งธุรกิจขึ้นมา คอนเซปต์ ของเราคือจะไม่นำสิ่งที่เราทำอยู่แล้วมาทำใหม่โดยใส่หน้ากากเดิม ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไม่มีความแตกต่างจากธุรกิจที่มีอยู่ จึงต้องสร้างจุดเด่นเป็นจุดขายในทุกๆ ร้าน โดยร้านแรก คือ The Creek เกิดจากความชอบทานขนมเค้ก จึงทำขนมเค้กสไตล์ญี่ปุ่นมาวางขายที่ร้านจึงชื่อเรื่องขนมเค้กสไตล์ญี่ปุ่นมากไม่ว่าจะเป็นหน้าผลไม้สด ในบรรยากาศที่ติดริมน้ำมองเห็นธรรมชาติ
ขณะที่ร้านที่ 2 คือร้านอาหารอีสาน ‘จ้ำเข่า’ ตั้งอยู่ในอำเภอปากช่องเช่นกันด้วยความที่ไม่ได้อยู่ใจกลางสถานที่ท่องเที่ยวมากนัก ทำให้บางครั้งนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนอยากจะรับประทานอาหารด้วย เรามองว่าคนที่มาเที่ยวภาคอีสานสิ่งหนึ่งที่ต้องรับประทานคือ อาหารอีสานเราจึงคิดคอนเซปต์ทำร้านอาหารอีสานสไตล์คาเฟ่ขึ้นมา
ขณะที่ร้านที่ 3 คือร้านตั้งใจวาง Concept ของร้านคือ Specialty Coffee ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อสร้าง Product ตัวใหม่ที่ไม่ซ้ำความสำเร็จเดิมขึ้นมาภายใต้ชื่อ Keeen Khaoyai ทำให้ลูกค้าที่ไป The Creek สามารถมาดื่มกาแฟที่ The Keeen ต่อที่ได้
พอมาร้านที่ 4 คือ ร้าน ‘เฮา’ เป็นการนำบ้านเก่าแก่อายุ 50 ปี มาสร้างประโยชน์ ด้วยการสร้างคอนเซปต์ใหม่ขึ้นมาโดยเล่า Stories ชีวิตในวัยเด็ก พร้อม Create เมนูใหม่ขึ้นมาเป็น ร้านเฮา
สำหรับสุดท้ายร้านที่ 5 คือ ร้าน Khaam Khaoyai เป็นร้าน Specialty มัจฉะ โดยมองเห็นตลาดว่านอกจากผู้บริโภคกาแฟแล้วยังมีผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ทานกาแฟแต่นิยมดื่มชามัจฉะเพื่อแก้ง่วงแทนกาแฟได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ค่อนข้างมีผู้บริโภคสูง
วาง Positioning ของธุรกิจไว้อย่างไร
คุณสุพิชญา กล่าวถึงการวาง Positioning ของธุรกิจตนเองว่า แต่ละร้านเราจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพศ และอายุไว้อย่างชัดเจน อย่างร้านแรกคือ The Creek เราวางไว้เป็นร้านอาหารสำหรับครอบครัว ผู้ใหญ่ เด็ก หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงก็เข้าได้ ให้ความรู้สึกอบอุ่นในแบบครอบครัว ส่วนตัวร้านกาแฟ The Keeen วางรูปแบบออกสไตล์แมนๆ หน่อย คือ ผู้หญิงเข้าได้ ผู้ชายไม่เขินถ้ามาคนเดียว เด่นเรื่องกาแฟ ที่เน้น Specialty Coffee อายุประมาณ 20 – 40 ปี
ขณะที่ ร้านเฮา จะออกแนวผู้หญิงแต่ก็ยังมีความเป็นครอบครัว ด้วยความที่มีลักษณะเป็นเหมือนบ้าน มีความเป็นร้านของคนในชุมชน ที่เน้นอาหารเช้าที่รับประทานกันแบบครอบครัว ส่วน ร้าน จ้ำเข่า จะเป็นร้านอาหารอีสานสไตล์คาเฟ่ ขณะที่ ร้าน Khaam จะออกแนวผู้หญิงสไตล์มินิมอลที่เน้น Specialty มัจฉะเป็นหลัก
เข้าใจ Journey ของผู้บริโภค สร้างธุรกิจเป็นเครือข่ายแบบใยแมงมุม
คุณสุพิชญา บอกถึงมุมมองธุรกิจตัวเองว่า จากการสร้างคาแรกเตอร์ที่แตกต่างให้กับทุกๆ ร้าน จะทำให้คนมาเที่ยวครั้งหนึ่งเขาจะต้องมาที่ร้านเราอย่างน้อย 1 – 2 ร้าน อย่างเช่น ทานอาหารเช้าที่ ร้านเฮา แล้วมาต่อที่กาแฟร้าน KeeeN และไปทานจ้ำเข่าตอนบ่ายแล้วไปต่อด้วยการดื่มชาที่ร้าน Khaam นี่คือ Concept ของเรา
มีหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงไม่เปิดร้านเดียวจบแบบครบวงจรไปเลย คุณสุพิชญา สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า การจะสร้างจุดเด่นเพื่อเป็นจุดขายเป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละร้านขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าความเป็นยูนิคให้ผู้บริโภคมองเห็นตัวตนของเรา
“ถ้าเราทำการตลาดแบบพยายามจะเป็นทุกอย่างของทุกๆ คน สุดท้ายเราจะไม่ได้เป็นอะไรของใครสักคนเลย”
ดังนั้นเวลาผู้บริโภคมองหาร้านกาแฟเขาใหญ่ ก็จะพบได้มากมาย แต่ร้าน Khaam เป็นร้านชาเขียวที่มีที่เดียวในเขาใหญ่ โจทก์ของเราคือทำยังไงให้ชื่อของแบรนด์ของเราติดอยู่ในใจของผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์ว่ามาร้านเราเพื่ออะไร เราอาจจะเสียลูกค้าบางกลุ่มไปบ้างที่ไม่ทานชาเขียวแต่ทานกาแฟ แต่เราก็มีร้านกาแฟที่มีความเป็น Specialty มา Support ลูกค้าได้ โดยใช้ระบบบัตรส่วนลดเป็น Marketing ที่เราใช้กันภายในร้านในเครือของเรา
“เป็นการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบใยแมงมุม สมมุติว่าลูกค้ามาร้านขาม เราจะมีบัตรส่วนลดที่นำไปใช้กับร้านอีก 4 แห่งของเราได้ ซึ่งเราใช้วิธีการทำ Marketing โฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียให้ลูกค้ารู้จักเราก่อนมา ซึ่งบางครั้งลูกค้าอาจจะไม่รู้จักเรา แต่เมื่อเขาก้าวเข้ามาในร้านเราสักร้านหนึ่งเขาก็มีสิทธิ์จะรู้จักและไปใช้บริการร้านที่อยู่ในเครือของเราทั้งหมดด้วย”
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราสร้างคาแรกเตอร์ให้กับธุรกิจและเข้าใจถึง Journey ของลูกค้าอย่างแท้จริง จะสามารถสร้างจุดเด่นให้เป็น Landmark ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ได้อย่างกลมกลืน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็น Key ของแนวคิดทางธุรกิจ
Food & Beverage เทรนด์ที่ยั่งยืน
คุณสุพิชญา บอกว่า จริงๆแล้วไม่ได้มองว่าเราเป็นธุรกิจร้านอาหารหรือร้านกาแฟแต่มองตัวเองเป็นธุรกิจ Food & Beverage ดังนั้นไม่ว่าเทรนด์ผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปในทางไหน หลังบ้านเรายังเหมือนเดิม มีเพียงหน้าร้านเราที่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันเทรนด์ผู้บริโภคต้องการ Specialty ไปทางใดทางหนึ่งมากขึ้น เราจึงสร้างธุรกิจแนวนี้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ตรงจุด
“ข้อดีของธุรกิจ Food & Beverage คือ ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ธุรกิจนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปตามเทรนด์ ซึ่งเราสามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจได้ตลอดเวลา จึงไม่เคยหายไปจากตลาด”
ทำธุรกิจต้องเข้าใจระบบหลังบ้าน
สำหรับเทคนิคการจัดการหลังบ้านของทั้ง 5 ธุรกิจ คุณสุพิชญา เผยว่า ด้วยความที่เราเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ทั้งหมดจึงต้องเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดในธุรกิจ ทำให้เราสามารถจัดการบริหารได้ง่ายเพราะเรารู้ทุกรายละเอียดของงาน ดังนั้นด้วยประสบการณ์ที่เราเคยทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมาก่อน เมื่อต้องบริหารวัตถุดิบทั้ง 5 กิจการ ด้วยใช้พนักงานในการบริหารทั้งหมดเพียง 30 คน จึงต้องให้ความสำคัญเรื่องการจัดการระบบครัวกลางเป็นพิเศษ
เพื่อผลิตวัตถุดิบส่งในแต่ละร้าน ซึ่งแต่ละร้านจะมีเมนูอาหารที่แตกต่างกัน รายละเอียดเหล่านี้จะแยกกันอย่างชัดเจน ตามคาแรกเตอร์ของร้าน อย่างเช่น ร้าน Khaam เมนูต้องมีส่วนผสมของมัจฉะอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่เราจะใช้แบบเดียวกัน
“ตั้งแต่เราขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ทำให้ครัวกลางมีกำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากต้นทุนลดลงจากการผลิตจำนวนมากทำให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการซื้อในปริมาณที่เยอะทำให้ต้นทุนต่ำลง ขณะที่การบริหารจัดการไม่ได้ยุ่งยาก เพราะวัตถุดิบหลักสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งหมด ยิ่งเรามีสาขาเยอะมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนเราถูกลงมากเท่านั้น ที่สำคัญระบบครัวกลางทำให้เราสามารถใช้พนักงานวิ่ง Support สลับสับเปลี่ยนในแต่ละร้านได้เมื่อร้านใดมีลูกค้าเยอะ”
ทำการตลาดโดยศึกษาพฤติกรรมลูกค้าจาก Social Media
คุณสุพิชญา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากการที่เรามีธุรกิจที่ต้องบริหารถึง 5 ธุรกิจ ทำให้การบริหารจัดการไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ด้วยความที่ยุคปัจจุบันมีโซเชียลมีเดียทำให้ธุรกิจที่ไม่ใช่ทำเลทอง หรือทำเลที่ดูเหมือนเข้าถึงยากให้สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งโซเชียลมีเดียสามารถช่วยทำการตลาดเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ โซเชียลมีเดีย ยังทำให้เราศึกษาพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงโดยสามารถดูได้จากรีวิวและคอมเมนต์ต่างๆ ของลูกค้า ซึ่งเราสามารถนำมาใช้พัฒนาและปรับปรุงธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคอมเมนต์ของลูกค้าจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี
คุณสุพิชญา บอกว่า การยิงแอดโปรโมทร้านเป็นการตลาดที่ทำมาตลอดตั้งแต่เปิดร้านแรก ซึ่งเป็นการตลาดที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงมาก อย่างเช่นร้าน The Creek ที่เปิดเป็นร้านแรกแต่บางวันสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่าธุรกิจใหม่ๆ ของเราเสียอีก สะท้อนให้เห็นว่าการยิงแอดมีผลต่อการสร้างยอดขายของร้านไม่น้อย ดังนั้นโซเชียลมีเดียจะเป็นตัวช่วยโปรโมทธุรกิจได้อย่างดี โดยเราจะตั้งงบประมาณการตลาดเพื่อยิงแอดอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทั้งเดือน เพื่อให้ธุรกิจเราอยู่ในกระแสตลอดเวลา
ชูวัตถุดิบท้องถิ่นเป็นจุดขาย
คุณสุพิชญา เผยถึงที่มาของแนวคิดว่า บ้านเรามีของดีเฉพาะถิ่น และถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนั้นๆ จึงอยากนำเสน่ห์ของแต่ละพื้นที่ตรงนั้นมาสร้างเป็นเอกลักษณ์ของอาหาร เครื่องดื่ม และของฝาก โดยตั้งใจจะทำรสชาติเฉพาะของแต่ละร้านของเราขึ้นมาให้มีความโดดเด่นด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น
ถ้าสังเกตจากเมนูที่ร้านเราออกแบบในแต่ละร้านจะเห็นมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่พยายามชูขึ้นมาคือวัตถุดิบที่เป็นของในท้องถิ่น อย่างเช่น ถ้ามาร้าน The Keeen จะพบกับกาแฟแบบ Specialty Coffee โดยแต่ละเมนูนอกจากมีสูตรเฉพาะแล้ว ยังมีชื่อเรียกที่หยิบยกมาจากพื้นที่ท้องถิ่นมาตั้งชื่อ เช่น ‘ปากช่อง’ เป็นกาแฟที่ผสมน้ำนมข้าวโพดหวานปากช่องอยู่ด้วย หรือ ‘มิตรภาพ’
เป็นกาแฟใส่นมมีกลิ่นหอมด้วยการผสมคาราเมล และเลม่อน ส่วน ‘ลำตะคอง’ จะเป็นกาแฟเอสเปรสโซ่ เจือนมนิดๆ แต่กลมกล่อมแบบเข้มข้นสุดๆ ขณะที่ ‘เขาใหญ่’ กาแฟเบลนด์เข้ากับช็อกโกแลตแท้ ท็อปบนด้วยช็อกโกแลต
หรือถ้าไป ร้านเฮา จะพบกับ เค้กข้าวโพดหวานปากช่อง อย่างนี้เป็นต้น เป็นการนำวัตถุดิบที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่นมาชูเป็นเมนูที่เป็นเอกลักษณ์มีที่เดียวใน อำเภอปากช่อง
สิ่งนี้ ผู้ประกอบการ และ SME สามารถนำไปปรับเป็น New Business Model ต่อยอดเป็นไปยังสาขาอื่นที่อยู่ในต่างจังหวัดที่มีวัตถุดิบที่โดดเด่นของแต่ละท้องถิ่นในจังหวัดอื่นๆ ได้อีกด้วย
ใช้ ‘คุณภาพ’ มัดใจลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำ
คุณสุพิชญา มองว่าธุรกิจร้านอาหารทั้งหมด สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ คือ คุณภาพ ธุรกิจจะสามารถอยู่ได้ก็ต่อเมื่อลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ความคุ้มค่านั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องขายในราคาถูก แต่เราต้องขายในสิ่งที่ดีมีคุณภาพให้กับลูกค้า
โดยคุณภาพกับราคาต้องเหมาะสมกัน ต่อให้ราคาสูงแต่คุณภาพสูงลูกค้าก็ยินดีจ่าย แต่ตราบใดถ้าเราขายถูกมากแค่ไหนแต่คุณภาพถูกกว่า ลูกค้าก็ไม่กลับมาซื้อซ้ำอย่างแน่นอน สิ่งนี้สังเกตได้จากลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้านเราก่อนกลับก็จะซื้อขนมกลับไปฝากคนที่บ้านด้วย ดังนั้นคุณภาพและราคาเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมาคู่กัน สิ่งนี้จะทำให้เกิดการซื้อหรือใช้บริการซ้ำนั้นเอง
มองเทรนด์ท่องเที่ยวสไตล์คาเฟ่ของผู้บริโภคในอนาคตจะเป็นอย่างไร
นักธุรกิจสาวรุ่นใหม่ มองว่าเทรนนี้เพิ่งเริ่มต้นและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มเจน Y จะเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบนี้มานานแล้ว แต่จากข้อมูลที่ศึกษาพบว่ากลุ่ม เบบี้บูมเมอร์ หรือผู้สูงวัยกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยคนกลุ่มนี้เริ่มเข้าใจเทรนด์และหันมาเที่ยวร้านที่มีการตกแต่งสวยงาม บรรยากาศดีมีความใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของ SME ที่กำลังคิดที่จะทำธุรกิจแนวนี้หรือต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ให้ประสบความสำเร็จได้ ด้วยแนวคิดทั้งหมดนี้
รู้จัก ร้านกาแฟ KEEEN, เฮา เขาใหญ่, THE CREEK, KHAAM, จ้ำเข่า ได้เพิ่มเติมที่ :
https://www.facebook.com/KeeenKhaoyai/
https://www.facebook.com/HaoKhaoyai/
https://www.facebook.com/TheCreekKhaoYai/
https://www.facebook.com/KhaamKhaoyai/
https://www.facebook.com/JumkhaoKhaoyai/
Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333