เผยแพร่ |
---|
คาดเทรนด์ความนิยม รถยนต์ไฟฟ้า ในไทย จะพุ่งสูงขึ้น
วันที่ 27 ก.ค. 2565 คุณศิวภูมิ เลิศสรรค์ศรัญย์ กรรมการผู้จัดการ คาร์ซัม ประเทศไทย กล่าวในระหว่างเวทีเสวนา “Inclusive Growth Days Empowered by OR” จัดขึ้นโดย บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ว่า
“ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้บริโภคมีความสนใจรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้รถอีวีอย่างแพร่หลายแน่นอนในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทิศทางของการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์อีวีนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค”
คุณศิวภูมิ ยังเน้นว่า ฟังก์ชั่นการใช้งาน ความสะดวกสบาย และ ราคาที่เข้าถึงได้ คือสามปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการผลักดันการเติบโตและความแพร่หลายของการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
โดยได้ขยายความเพิ่มเติมว่า ฟังก์ชั่นการใช้งาน คือความสามารถของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานเทียบเท่ารถยนต์ระบบสันดาปภายใน (ICEs : Internal Combustion Engines) ความสะดวกสบาย คือความสะดวกในการเข้าถึงการซื้อ การชาร์จพลังงาน และบริการหลังการขาย และท้ายที่สุด ราคาที่เข้าถึงได้ หมายถึงราคาและความสามารถในการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ
“รถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้เกือบเทียบเท่ารถยนต์ระบบสันดาปภายในแล้ว แต่เมื่อมองไปยังสองปัจจัยที่เหลือ ทั้ง ความสะดวกสบาย และ ราคาที่เข้าถึงได้ ทุกภาคส่วนยังคงต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้มากยิ่งขึ้น
ผมเชื่อว่าทั้งสองปัจจัยดังกล่าวสามารถได้รับการแก้ไขผ่านการแบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้จากทุกฝ่าย แต่ปัจจุบัน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนเหมือนถือจิ๊กซอว์กันคนละชิ้น ซึ่งหากเรานำจิ๊กซอว์เหล่านั้นมาต่อกัน เราจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น” คุณศิวภูมิ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับ CARSOME ทางบริษัทฯ เตรียมความพร้อมที่จะรองรับอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามือสองคุณภาพดีในราคายุติธรรม โดยมุ่งแก้ไขปัญหาหลักเรื่องความสะดวกสบายและราคาที่เข้าถึงได้ ด้วยการนำเสนอบริการการทดลองขับ และขั้นตอนการซื้อรถยนต์มือสองอย่างไร้กังวล
จากมุมมองของคุณศิวภูมิ การสร้าง ราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุด เนื่องจากกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ในตอนนี้ ยังคงเป็นกลุ่มที่มีรายได้ในระดับสูงเป็นส่วนใหญ่
“เพื่อเร่งผลักดันให้คนทั่วประเทศหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย และเกิดการตระหนักถึงกระบวนการเป็นเจ้าของรถอีวี หรือ EV Ownership Lifecycle นั้น การสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางนับเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องราคา ความพร้อมของสถานีชาร์จ และการชาร์จไฟได้อย่างรวดเร็ว ทั้งหมดล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะเอื้อให้เกิดการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถาบันการเงินจะประเมินความเสี่ยงจากราคาของรถมือสองและความต้องการของกลุ่มลูกค้า การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามือสอง จึงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถอีวีคันใหม่ของกลุ่มผู้บริโภค โดยปกติแล้วกลุ่มผู้บริโภคมักจะพิจารณาราคารถยนต์ที่จะขายได้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อรถยนต์คันหนึ่ง ดังนั้น ตลาดรถยนต์มือสองที่เข้มแข็งจึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า”
จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยจะแตะ 6.36 หมื่นคันภายในปี 2565 โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ถึง 10,000 คัน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 539.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่อยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid) และไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ที่คาดว่าจะแตะ 53,000 คัน สวนทางกับรถยนต์ระบบสันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง (Internal Combustion Engine : ICE) ที่หดตัวจากปี 2564 ถึง 8.8%
จากข้อมูลของ CARSOME พบว่า ไตรมาสแรกของปี 2565 มียอดขายรถยนต์รวมเพิ่มสูงขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ในปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มลูกค้าในปัจจุบันหันมาสนใจซื้อรถยนต์มือสองมากยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดรถยนต์มือสองมีโอกาสที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของการเลือกใช้รถ EV มากยิ่งขึ้น
คุณศิวภูมิ กล่าวเน้นว่า “ภาพรวมของกระบวนการเป็นเจ้าของรถอีวี หรือ EV Ownership Lifecycle ไม่ควรมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ในระดับสูงและสมรรถนะของรถอีวีเท่านั้น แต่ Ownership Lifecycle ควรครอบคลุมตั้งแต่การขายรถยนต์สันดาปภายในที่มีอยู่ การกู้สินเชื่อรถ การบริการหลังการขาย และการมีตลาดสำหรับขายรถยนต์ไฟฟ้ามือสองโดยเฉพาะ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดความสะดวกและราคาที่เอื้อมถึงสำหรับลูกค้าในทุกระดับรายได้”