อพท. ดัน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน สร้างรายได้เข้าชุมชน

เมืองเก่าสงขลา

อพท. เปิดแมป ดัน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แหล่งท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนสร้างรายได้เข้าชุมชน

อพท. ผนึกภาคี ร่างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พัฒนาพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยกระดับฐานทุนทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม สู่แนวทางการท่องเที่ยววิถี “โหนด-นา-เล” ปั้น 5 เส้นทางท่องเที่ยวตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยวยุคใหม่ ยืนยันเป็นหน่วยงานกลาง บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป้าหมายใช้การท่องเที่ยวยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

สตรีตอาร์ตบนกำแพง

“ลุ่มน้ำทะเลสาบลงขลา” พื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง การดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบของ “พื้นที่พิเศษ” จะสามารถช่วยให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดความยั่งยืน ด้วยการใช้หลักการเชิงวิชาการ เชิงเทคนิค มาวิเคราะห์และกำหนดสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวที่มีความสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่

โรงสีแดง (หับ โห้ หิ้น)

การประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นับเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ โดยมีองค์กรกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ และเป็นผู้ประสานงานกับท้องถิ่นหรือเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว

ศาลหลักเมืองสงขลา

รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีที่เกี่ยวข้องด้วยการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษอย่างมีส่วนร่วม ตามหลักการทำงานแบบ Co-Creation & Co-Own โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นจากการท่องเที่ยว

วัดพะโคะ

ในขณะนี้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. เป็นที่เรียบร้อย อพท. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ที่สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยว และความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

วัดต้นเลียบ ต้นเลียบที่มีอายุกว่า 400 ปี

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นกำหนดไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี

1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามวิถี เขา-โหนด-นา-เล

3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดอัตลักษณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว

5. ยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

ต้นเลียบที่มีอายุกว่า 400 ปี เจดีย์ที่ฝังรกหลวงปู่ทวด

ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการดำเนินการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ขาดการจัดการในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาของ อพท. จะใช้วิธีบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยดึง “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นแกนหลักในการพัฒนาพื้นที่นับตั้งแต่ทะเลสาบตอนบน

เจ้าแม่กวนอิม บนเกาะกระ

ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแหล่งน้ำจืด ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ไหลมารวมกันเป็นทะเลน้อย ซึ่งอยู่ตอนบนของจังหวัดพัทลุง ทำให้เป็นแหล่ง 3 น้ำในทะเลสาบตอนใน มีพื้นที่ราบเหมาะต่อการทำการเกษตร และไหลบรรจบที่ ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จังหวัดสงขลา จึงเป็นทะเลสาบแบบ “ลากูน” ขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ประกอบกับความโดดเด่นด้านฐานทุนวัฒนธรรมจากการเคลื่อนย้ายของคนหลายสัญชาติ จึงนำมาสู่การพัฒนาภายใต้ธีม “โหนด นา เล”

คุณคิมหันต์ สุวรรณเรืองศรี ประธานชุมชนฯ

ภายใต้ยุทธศาสตร์ตามที่กล่าวมา อพท. จะนำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT) มายกระดับมาตรฐานการให้บริการของชุมชน และผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอ 5 เส้นทางการท่องเที่ยว

หมู่เกาะน้อยใหญ่กลางทะเลสาบสงขลา

ภายใต้วิสัยทัศน์ของแผนการขับเคลื่อนที่กำหนดไว้ว่า “วิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา / เส้นทางท่องเที่ยววิถีโหนดนาเล / เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตทะเลสาบสงขลา / เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด และ เส้นทางท่องเที่ยวโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมโลก

อาจารย์บุญเลิศ จันทระ นักวิจัยสถาบันทักษิ

“อพท. ได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภายใต้แนวคิด โหนด นา เล โดยในความหมายของ โหนด มาจากคำว่า ตาลโตนด ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติพันธุ์พืช พันธ์ุสัตว์ ที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ นา คือ ฐานสำคัญทางความมั่นคงด้านอาหารด้วยเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงมีการทำนา และมีข้าวพันธ์ุดีคือข้าวสังข์หยดที่มีชื่อเสียง”

ลานยอ เกาะหมาก

“โดยข้าวสังข์หยดที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากข้าวพื้นเมือง ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ส่วน เล แหล่งทรัพยากรทางน้ำ อาหาร เส้นทางการค้าที่ทำให้ผู้คนมั่งคั่งและมีชีวิตชีวา ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ ของความอุดมสมบูรณ์ที่ขับเคลื่อนสงขลาให้มีความเจริญมาอย่างยาวนาน โหนด-นา-เล จึงสะท้อนวิถีดั้งเดิมที่ยังคงรากวัฒนธรรมเดิมๆ” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว