ปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ไม่ใช่แค่ทางรอด แต่คือเครื่องมือเพิ่มศักยภาพ เหนือคู่แข่ง

ปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ไม่ใช่แค่ทางรอด แต่คือเครื่องมือเพิ่มศักยภาพ เหนือคู่แข่ง

หมดเวลาวิเคราะห์ว่า Digital Disruption คือโอกาสหรือวิกฤต เพราะตอนนี้ทุกธุรกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ คำถามสำคัญคือ เมื่อโลกเปลี่ยนธุรกิจจะหยิบกลยุทธ์ใดมาตั้งรับ การปรับองค์กรสู่ดิจิทัลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ใช่แค่ทำให้องค์กรอยู่รอด แต่จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ธุรกิจมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง

บนเวที The Disruption of Business, Competition, and Transformation, Ready Now for the Future. : โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต” ได้พูดถึงหัวข้อ “ธุรกิจต้องพร้อม พลิกโฉมสู่อนาคต” และ “เกมเปลี่ยน ประเทศไทยต้องปรับ”

แน่ชัดแล้วว่า Digital Disruption มีผลต่อเกมการแข่งขันทางธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะกับธุรกิจโทรคมนาคม เพราะทุกการปรับตัวจะส่งผลต่อสปีดการเคลื่อนตัวของทุกธุรกิจ คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการปรับตัวเพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขันทางธุรกิจ นอกจากทำความเข้าใจและรู้ทันเทคโนโลยีคือ การสร้างพันธมิตรและการผนึกกำลังกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลจะต้องเปิดรับฟังข้อมูลและต้องปรับเปลี่ยนมุมมองให้เร็ว โดยกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของโลกธุรกิจ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการแข่งขันกับต่างชาติ

ทั้งนี้ การควบรวมกิจการอย่างเท่าเทียมระหว่าง TRUE กับ DTAC ถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะทำให้เกิดความพร้อมต่อการสร้างนวัตกรรมรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ อันนำมาสู่ประโยชน์ต่อทุกฝ่ายโดยรวม

และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่อย่าง Facebook, LINE, Twitter และ TikTok ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศไทย แต่กลับไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายโทรคมนาคมและการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความเสียเปรียบ และสุดท้ายผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศจะเข้ามาครอบครองส่วนแบ่งตลาด แทนบริษัทคนไทย

คุณณัฐวุฒิ กล่าวเสริมว่า จากนี้ไปจะมองโทรคมนาคมเป็นเพียงโทรคมนาคมต่อไปไม่ได้ แต่ต้องมองเป็น Tech Telecom ที่ไม่ได้มีผู้เล่นเพียง 3-4 ราย แต่มีผู้เล่นมากกว่า 10 ราย ทั้งในและต่างประเทศที่เป็น Global Player แต่อยู่นอกการกำกับดูแลของโทรคมนาคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทรูต้องมีการ Disrupt ธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการควบรวมกับพันธมิตรเพื่อปรับตัวเป็นเทคคอมปานี

ด้านอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ คุณพุฒิกานต์ เอารัตน์ Head of People & Branding, SCB 10X และกรรมการผู้จัดการ Chief Digital Asset Officer บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด เผยว่า

โชคดีที่ธนาคารไทยพาณิชย์มองเห็นมาก่อนนี้แล้วว่า Digital Disruption จะเกิดขึ้น จึงทดลองตั้งหน่วยงานเล็กๆ และนำมาสู่การจัดตั้ง SCB 10X เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ซึ่งการดิสรัปชั่นตัวเองนั้นเกิดจาก 2 มุม หนึ่งคือ ต้องการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันสู้กับผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย และสอง เป็นวิสัยทัศน์ของยานแม่ที่มีเป้าหมายไปเติบโตในต่างประเทศและเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค

“SCB 10X ไม่ใช่แค่พัฒนาโซลูชั่น หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ แต่รวมไปถึงการสร้างธุรกิจใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ทั้งเรื่องไลฟ์สไตล์ สุขภาพ และบล็อกเชน เพื่อทำให้ไทยพาณิชย์เป็นมากกว่าธนาคาร และลูกค้ากลายมาเป็นพาร์ตเนอร์ ที่สำคัญ ทำให้ธนาคารได้ข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นโดยตรง มีดาต้ามหาศาลจากการใช้จ่ายของคน ซึ่งเป็นข้อมูลเครดิตสกอริ่งที่แม่นยำมากกว่าการให้บริการปล่อยกู้ในอนาคต”

คุณพุฒิกานต์ ยังชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทยก็เหมือนอีกหลายประเทศ ที่บางครั้งผู้นำในการเปลี่ยนแปลงจะเป็นสตาร์ตอัพเล็กๆ ทำให้หน่วยงานกำกับมองว่าไม่เชื่อถือ จึงอยากเห็นกลุ่มธุรกิจที่มีความน่าเชื่อลงมือทำ หรือร่วมมือกับสตาร์ตอัพ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่ารอให้มีกฎหมายออกมาก่อนแล้วองค์กรใหญ่ค่อยขยับ

ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สรุปปิดท้ายโดยให้แง่คิดว่า Mindset สำคัญที่สุด ตามมาด้วยวัฒนธรรมองค์กรและการสร้างสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการระดมความคิด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในอนาคต

“ก่อนจะเกิด Digital Disruption ไม่มีใครบอกได้ว่าทิศทางใหม่จะเป็นอย่างไรและวิธีการรับมือของแต่ละธุรกิจก็มีความหลากหลาย บางครั้งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน รวมทั้งมีการนำดาต้ามาใช้ในการวิเคราะห์ แต่ในกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องคอยเฝ้าดูด้วยว่า กฎหมายในประเทศนั้นเป็นอย่างไร”  

“สิ่งแรกคือต้องตระหนักรู้ก่อนว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ยังมี SMEs จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะอยู่รอด เพราะความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ธุรกิจเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์โลกอนาคตอีกต่อไป หากประเทศไทยอยากเป็นส่วนหนึ่งของเวทีโลก ต้องการเป็นยูนิคอร์น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เรามี Talent มี Soft Power ที่แข็งแกร่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ปัญหาคือ จะทำอย่างไรจึงจะมารวมกันให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแกร่ง เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยไปด้วยกัน”