สวก. สนับสนุนโคนมไทย ไปไกลตลาดโลก ด้วยเทคโนโลยีจีโนม

สวก. สนับสนุนโคนมไทย ไปไกลตลาดโลก ด้วยเทคโนโลยีจีโนม

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จับมือ สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ศึกษางานวิจัย “การประเมินพันธุกรรมจีโนม เพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคนม ทรอปิคอลโฮลสไตน์ในประเทศไทย” โดยมีการวิเคราะห์ความแตกต่างทางพันธุกรรมในระดับจีโนม (SNP) สู่การปรับปรุงพันธุ์โคนมไทย พัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมผลักดันให้ไปไกลในตลาดโลก

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า “เราให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรม ของโคนมพันธุ์ทรอปิคอลโฮลสไตน์ของไทย จึงร่วมกันกับกรมปศุสัตว์ ศึกษางานวิจัย “การประเมินพันธุกรรมจีโนม เพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคนมทรอปิคอลโฮลสไตน์ในประเทศไทย” เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย และเตรียมผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาพันธุ์เพื่อการส่งออกและศูนย์ประเมินพันธุกรรมโคนมของอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้

รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงการเพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาโมเดล และวิธีการทำนายความสามารถทางพันธุกรรมของสัตว์ด้วยการประเมินพันธุกรรมจีโนม พร้อมทั้งพัฒนาโปรแกรมการวิเคราะห์ประเมินพันธุกรรมจีโนม ช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากน้ำเชื้อพ่อโคนมที่มีพันธุกรรมดีเลิศได้ทันที นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาบุคลากรภาคการศึกษา ให้มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมของไทยในอนาคต”

การประเมินพันธุกรรมจีโนมช่วยในการเพิ่มอัตราความก้าวหน้าทางพันธุกรรม ทั้งนี้ เนื่องจากการเพิ่มความแม่นยำของการประเมินทางพันธุกรรมและความเข้มข้นในการคัดเลือก และช่วยลดช่วงอายุ (ระยะห่างระหว่างรุ่น) จากการที่สามารถคัดเลือกพ่อพันธุ์ได้ตั้งแต่แรกเกิดทั้งที่ยังไม่มีบันทึกข้อมูลของลูกสาว นอกจากนี้ การประเมินพันธุกรรมจีโนมยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสร้างพ่อพันธุ์ได้อย่างมากเมื่อเทียบกับแบบทดสอบลูกหลานแบบดั้งเดิม เนื่องจากการคัดเลือกสามารถทำได้ในช่วงต้นของชีวิตสัตว์ด้วยความถูกต้อง

ดร.สายัณห์ บัวบาน ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาพันธุ์โคนม สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ เผยถึงเหตุผลการคัดเลือกด้วยจีโนมว่า “ปกติแล้วประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำเชื้อโคนมจากต่างประเทศ งบประมาณเฉลี่ยปีละกว่า 50 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีพันธุ์โคนมของไทยเอง แต่ปัญหาที่ส่งผลต่อเกษตรกรที่นำโคนมต่างประเทศมาเลี้ยง หรือนำน้ำเชื้อจากต่างประเทศมาผสมเพื่อยกระดับสายเลือดขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าใกล้พันธุ์แท้ต่างประเทศก็คือ เรื่องการจัดการดูแลที่ต้องมากเป็นพิเศษ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อน โคนมต่างประเทศอยู่ในสภาพอากาศที่เย็น ทำให้เกษตรกรต้องลงทุนในเรื่องของการดูแล อาหาร และเรื่องโรคของโคนม

การพัฒนาโคนมของไทยเองโดยใช้การคัดเลือกด้วยจีโนม หรือการคัดหาจุดเด่นของโคนั้น ถือว่าช่วยเกษตรกรและประเทศไทยได้หลายด้าน เช่น 1) ประเทศไทยมีพันธุ์โคนมเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นพันธุ์โคนมที่เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย จึงเลี้ยงง่ายทนต่อโรค ให้ปริมาณน้ำนมยืนนานสม่ำเสมอ ในปริมาณที่มากพอเหมาะ 2) การกินอาหารของโคมีความเหมาะสม ตามปริมาณน้ำหนักตัว จึงประหยัดต้นทุนอาหาร เกษตรกรเลี้ยงแล้วมีกำไร 3) เกษตรกรสามารถลงทะเบียนเข้าโครงการพัฒนาฯ และขอรับบริการผสมเทียม ด้วยน้ำเชื้อจากกรมปศุสัตว์ได้ จึงประหยัดต้นทุนเรื่องน้ำเชื้อผสมพันธุ์ 4) ประเทศไทยประหยัดงบประมาณที่ต้องนำเข้าน้ำเชื้อจากต่างประเทศกว่าปีละ 50 ล้านบาท และ 5) ประเทศเพื่อนบ้านให้ความสนใจ ประเทศไทยสามารถส่งออกน้ำเชื้อได้”

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาพันธุ์โคนม ยังเพิ่มเติมอีกว่า “วิธีการคัดเลือกด้วยจีโนม โดยการประเมินพันธุกรรมจีโนมของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยใช้ชุดวิเคราะห์สำเร็จรูป มาตรวจสอบจุดหา SNP ที่จำเพาะบนโครโมโซมต่างๆ  จำนวนตั้งแต่ 20,000-50,000 จุด ในโคนมแต่ละตัว ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ามาก ที่สำคัญ มีจุดเด่น อย่างน้อย 5 ประการ คือ 1) ช่วยร่นระยะเวลาการสร้างและคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมจาก 7 ปี เหลือเพียง 2 ปี 2) ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการคัดเลือกพ่อพันธุ์ 3) ข้อมูล SNP ทั้งจีโนมจากสัตว์ชุดเดิมจะรองรับการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต 4) ช่วยในการคัดเลือกสัตว์พันธุกรรมดีในลักษณะที่มีอัตราพันธุกรรมต่ำ และ 5) ช่วยให้การตรวจสอบพ่อแม่พันธุ์ในกรณีที่มีข้อสงสัย หรือเกิดการสูญหายของพันธุ์ประวัติ ได้แม่นยำกว่าการตรวจสอบจากลายพิมพ์ดีเอ็นเอแบบอื่นๆ”

ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ คือ ได้วิธีการและโมเดลสำหรับการประเมินค่าความสามารถทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์โคนมสำหรับประเทศไทย และได้โปรแกรมระบบงานการประเมินพันธุกรรมจีโนม 1 ระบบ ประกอบด้วย 3 โปรแกรม คือ 1) โปรแกรมจัดเก็บข้อมูล SNP ทั่วทั้งจีโนม 2) โปรแกรมการวิเคราะห์ GWAS (Genome Wide Association Study) และการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนม (GEBV, Genomic Estimated Breeding Value) และ 3) โปรแกรมระบบเชื่อมโยงข้อมูลการประเมินพันธุ์ และข้อมูล GEBV สู่ระบบ Inter (Dynamic Web-database) พร้อมทั้งได้จำลองข้อมูลเพื่อประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าจากการคัดเลือกพ่อพันธุ์โดยการใช้ GEBV

งานวิจัย “การประเมินพันธุกรรมจีโนม เพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคนม ทรอปิคอลโฮลสไตน์ในประเทศไทย” เป็นโครงการที่นอกจากพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทย เพื่อการส่งออกไปในตลาดโลก รวมทั้งเป็นศูนย์ประเมินพันธุกรรมโคนมของอาเซียนในอนาคตอันใกล้ ทางด้านเกษตรกรยังได้องค์ความรู้ ได้การบริหารจัดการที่ดี ลดต้นทุนการผลิต แต่ได้ผลผลิตที่มาก คุ้มค่าในระยะยาวอีกด้วย…

 

*** ติดตามแนวคิดงานวิจัยที่มีคุณภาพ ผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา หรือทุนวิจัยต่างๆ ได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) โทรศัพท์ 0-2579-7435 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.arda.or.th อีเมล [email protected]