อพท. ลุยพัฒนา ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แดนอีสานใต้ ตอบโจทย์ BCG โมเดล

อพท. ลุยพัฒนา ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แดนอีสานใต้ ตอบโจทย์ BCG โมเดล

อพท. ผนึกภาคีเครือข่าย ร่วมพัฒนาต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแดนอีสานใต้แห่งใหม่ ตอบโจทย์ BCG โมเดล ประเดิมจัดกิจกรรมปลูกป่าชุมชน บ้านนาหนองเชือก จังหวัดอุบลราชธานี เล็งจับเทรนด์การท่องเที่ยวแบบปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มาต่อยอดหนุนชุมชนปลูกป่าสร้างรายได้ และสร้างการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนอีสานใต้

ในพิธีเปิดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า

ได้รับมอบหมายจากนาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เป็นผู้แทนเข้าร่วมเป็นประธานร่วมเปิดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ณ บ้านนาหนองเชือก ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โดยต้องการให้เป็นพื้นที่นำร่องและเป็นต้นแบบของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่อีสานใต้

กิจกรรมครั้งนี้ อพท. และภาคีเครือข่าย ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือ นทพ.  กองบัญชาการกองทัพไทย บริษัท พีทีจี เอนเนอยี่ จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานอุบลราชธานี ภาคีเครือข่ายจังหวัดอุบลราชธานี และประชาชนในตำบลเจียด ได้ร่วมกันปลูกป่า “ต้นเชือก” ในพื้นที่สาธารณะที่รกร้างประมาณ 8 ไร่

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า

เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเป็นพื้นที่ป่าในชุมชนที่ชุมชนสามารถใช้สอยประโยชน์ได้โดยตรงจากป่าต้นเชือกเพื่อสร้างรายได้ และยังสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของ อพท. ด้านการส่งเสริมการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ในระดับชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมมุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม

“แนวโน้มนักท่องเที่ยวปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแบบปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล จึงกำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ และแม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่อากาศหรือสร้างมลภาวะบ้าง แต่นักท่องเที่ยวก็มีทางเลือกและยินดีกับทางเลือก คือการจ่ายเงินเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิต”

“ดังนั้น การที่ชุมชนมีพื้นที่ป่าที่ช่วยดูดซับก๊าซพิษได้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้ใช้บริการ ซึ่งตรงนี้เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ อพท. จะต้องดำเนินการปลูกจิตสำนึกการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อไป ขณะเดียวกัน พื้นที่ปลูกป่าต้นเชือกบ้านนาหนองเชือกแห่งนี้ อพท. ก็มีแผนที่จะสนับสนุนให้ชุมชนนำพื้นที่ป่าที่ปลูกไว้นี้ไปเสนอต่อสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อขอคำรับรองพื้นที่ เพื่อให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ในโอกาสต่อไป ตรงนี้ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และยังได้ป่าปลูกไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชนอีกด้วย”

พลโท ดำรงค์ คงเดช เสนาธิการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือ นทพ. กองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้สอดคล้องกับบทบาทของ นทพ. เนื่องด้วยเป็นกิจกรรมการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและบริหารจัดการตัวเองได้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงยินดีสนับสนุนภารกิจของ อพท.

จากซ้าย พลโท ดำรงค์ คงเดช เสนาธิการหน่วย นทพ. นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี และ ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท.

โดย นทพ. ได้ร่วมสนับสนุนกำลังพล พร้อมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รถบรรทุกขนส่ง เครื่องดื่มและสิ่งจำเป็นในการเตรียมความพร้อมพื้นที่ปลูกป่า พร้อมอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมปลูกป่าให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นทพ. พร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ นทพ. เช่นกัน

นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดมีแผนพัฒนาในด้านการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

และยังช่วยผลักดัน ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านนาหนองเชือก ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน เพิ่มทรัพยากรในการสร้างอาชีพ รายได้ และกระจายรายได้ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ กิจกรรมครั้งนี้จึงตอบโจทย์ ซึ่งหากสำเร็จด้วยดี จังหวัดจะผลักดันบ้านนาหนองเชือกเป็นพื้นที่ต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้และนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป