รมช.มนัญญา หนุนเด็กและเยาวชน เรียนรู้บัญชี สร้างพลังต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง

รมช.มนัญญา หนุนเด็กและเยาวชน เรียนรู้บัญชี สร้างพลังต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง
รมช.มนัญญา หนุนเด็กและเยาวชน เรียนรู้บัญชี สร้างพลังต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง

รมช.มนัญญา หนุนเด็กและเยาวชน เรียนรู้บัญชี สร้างพลังต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ
การดำเนินโครงการ “ต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง” ให้แก่เด็กและเยาวชน เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

และโครงการเกษตรวิชญา ภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดทำบัญชีแก่กลุ่มเป้าหมาย หวังปูพื้นฐานเยาวชนมีนิสัยรักการออม สร้างเครือข่ายการจัดการภูมิปัญญาทางบัญชี ระหว่างโรงเรียนกับเด็กนักเรียน ขยายผลไปสู่ผู้ปกครองและชุมชน ณ ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและประชาชน รวมไปถึงเด็กและเยาวชนได้มีองค์ความรู้ทางบัญชี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ไปจนถึงคนในชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารที่ยังขาดโอกาส

การดำเนินโครงการ “ต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง” ให้แก่เด็กและเยาวชน เกษตรกร และชุมชนในพื้นที่ทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเป็นโครงการที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ได้ริเริ่มขึ้น ตามพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กและเยาวชนของชาติ ที่ยังขาดโอกาส อาจเนื่องด้วยความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ได้มีโอกาสเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ มีสุขภาพแข็งแรง ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี พึ่งพาตนเองและช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยส่งเสริมให้ครูและนักเรียน ได้เรียนรู้วิธีการจดบันทึกบัญชีกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน กิจกรรมผลิตผลทางการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการของสหกรณ์ รวมทั้งการสอดแทรกสอนแนะการจัดทำบัญชีไว้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ถ่ายทอดให้แก่ครูไปสู่นักเรียนเพื่อฝึกหัดให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ด้านการบัญชี รู้จักการคิดคำนวณเลข รู้จักวางแผนในการจำหน่ายสินค้าและผลผลิต

ปลูกฝังให้รักการจดบันทึกบัญชี อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ทำให้รู้จักการใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน และดำเนินโครงการเกษตรวิชญา ภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดทำบัญชีแก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และนำข้อมูลจากการบันทึกบัญชีมาปรับใช้ในการวางแผนในการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม มีเหตุมีผล สร้างวินัยทางการเงินและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้มีวินัยในการใช้จ่ายเงินและเข้าถึงการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยสอนแนะให้เด็กรู้จักการบันทึกรายรับ-รายจ่ายส่วนตัว เพื่อเป็นการสร้างนิสัยการจดบันทึกและฝึกหัดการคำนวณตัวเลข

ส่วนการบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน มีเป้าประสงค์ที่จะให้เด็กได้เข้าใจวิถีชีวิต รู้และเข้าใจสภาพการเงินของครอบครัว สามารถช่วยผู้ปกครองบันทึกรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ รู้ผลกำไรขาดทุนจากการประกอบอาชีพ เมื่อเติบโตขึ้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต

ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ได้ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

มีโรงเรียนในความรับผิดชอบ จำนวน 447 โรงเรียน อยู่ในความรับผิดชอบและการกำกับแนะนำของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงใหม่ จำนวน 28 โรงเรียน โดยแบ่งเป็น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 16 โรงเรียน และโรงเรียนในความดูแลของสำนักเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 12 โรงเรียน

ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการเริ่มต้นจากโครงการส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน และสานต่อด้วยโครงการผลิตผลเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้ “เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา”

โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Development) ในการพัฒนาคน พัฒนาการเกษตร สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic Development) เชื่อมโยงทั้งมิติ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม โดยบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมสนองงานตามพระราชดำริทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในส่วนของโครงการเกษตรวิชญา ภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดทำบัญชีแก่กลุ่มเป้าหมายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มุ่งเน้นให้มีการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และนำข้อมูลจากการบันทึกบัญชีมาปรับใช้ในการวางแผนในการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม มีเหตุ มีผล สร้างวินัยทางการเงินและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นำไปสู่การพัฒนาตนเองและสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถปรับตัวได้ สอดคล้องกับสถานการณ์ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ทำให้รู้จักการใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยดำเนินการในโรงเรียนบ้านกองแหะ กลุ่มเป้าหมายจำนวน 17 คน