ซีพีเอฟ สนับสนุนโครงการ “ร้านกาแฟเด็กน้อย” รร.บ้านห้วยหัน ปูทางสู่อาชีพยั่งยืน

“ร้านกาแฟเด็กน้อย” รร.บ้านห้วยหัน ปูทางสู่อาชีพยั่งยืน ซีพีเอฟ สนับสนุนนักธุรกิจน้อย CONNEXT ED           

 

บรรยากาศร้านกาแฟขนาดย่อมที่ร่มรื่น ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ มีที่นั่งลานพักผ่อนรองรับการบริการแก่ลูกค้า พนักงานที่ให้บริการในร้านเป็นกลุ่มน้องๆ นักเรียน “โรงเรียนบ้านห้วยหัน” ตำบลวังชมภู อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ที่ผ่านการฝึกอบรมใน “โครงการร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน” ฝึกอาชีพการทำกาแฟ เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ของโรงเรียนแห่งนี้ ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิสานอนาคตการศึกษาไทย CONNEXT ED ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย สร้างเด็กดีและเด็กเก่ง

“ร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน” ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนบ้านห้วยหัน-ไทรงาม จากการที่โรงเรียนได้รับเลือกให้เข้าโครงการหมู่บ้าน D-HOPE โดยหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนเป็นจุดรับนักท่องเที่ยว ด้วยทำเลที่ตั้งของโรงเรียนใกล้ชิดเส้นทางธรรมชาติ มีน้ำตกแก่งดาดาด ผ่านด้านหลังโรงเรียน ในพื้นที่บริเวณโรงเรียนมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนรอยเท้าไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมากกว่า 210 ล้านปี การวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชาวบ้าน ของดีประจำชุมชน เช่น ผ้าขาวม้าทอมือ หลามปลาแม่น้ำชี ฯลฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนที่นี่ จะได้รับการต้อนรับจากยุวมัคคุเทศก์น้อยพาเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ สัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม และยังได้อุดหนุนร้านกาแฟของเด็กๆ อีกด้วย ที่สำคัญคือ ร้านกาแฟที่นี่ ใช้กระบอกไม้ไผ่ที่ซื้อจากชาวบ้านเป็นภาชนะ ถือเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

โรงเรียนบ้านห้วยหัน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งอยู่ในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรและรับจ้างทั่วไป ซึ่งโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะด้านการประกอบอาชีพ ทักษะในการค้าขาย ด้วยการนำนักเรียนเข้าอบรมการทำกาแฟและน้ำผลไม้ เพื่อให้นักเรียนนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ สร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง โรงเรียน และชุมชน นักเรียนได้ใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์ นอกจากนักเรียนเรียนรู้วิธีทำกาแฟแล้ว ได้เรียนรู้การบันทึกรายรับ-รายจ่าย คำนวณผลกำไรและขาดทุนที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ สู่การเป็นนักธุรกิจน้อยและประกอบอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

น.ส.วาสิตา นุยจันทึก ครูที่ปรึกษาโครงการร้านกาแฟเด็กน้อย กล่าวว่า กิจกรรม “ร้านกาแฟเด็กน้อย” เน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะอาชีพจากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งปัจจุบัน การเปิดร้านกาแฟกำลังได้รับความนิยม และมีผู้ที่ชื่นชอบดื่มกาแฟจำนวนมาก มีการปลูกเมล็ดกาแฟพันธุ์ดีในประเทศ และในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ “สัมผัสรสชาติเมล็ดกาแฟเข้มข้น Arabica ผสมผสานกับ Robusta ที่มีกลิ่นหอมชวนดื่ม” เมื่อนำมาใส่ในแก้วไม้ไผ่ ก็ยิ่งทำให้มีรสชาติกลมกล่อมลงตัว ไม่เหมือนใคร

ส่งเสริมทักษะการมีอาชีพให้กับนักเรียน สิ่งสำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างการศึกษาอย่างยั่งยืนให้แก่นักเรียน โดยใช้เวลาในช่วงพักกลางวัน และหลังเลิกเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ มีความสามัคคี ร่วมมือทำงานเป็นทีม เมื่อลูกค้าซื้อเครื่องดื่มที่ใส่แก้วกระบอกไม้ไผ่จากทางร้าน ถ่ายรูปเช็กอินลงเพจ “กาแฟเด็กน้อย By Huayhun School” จะได้รับส่วนลดทันทีแก้วละ 5 บาท

มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โปรโมชั่นที่ดึงดูดลูกค้า เพิ่มทักษะในการวางกลยุทธ์การขายสินค้า ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ฝึกการคำนวณงบประมาณต้นทุน-กำไร รายได้จากการขาย ฝึกให้นักเรียนมีจิตใจในการให้บริการ (Service mind) ยิ้มแย้มแจ่มใสมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และกิจกรรมการเขียนเพ้นต์แก้วบนกระบอกไม้ไผ่เอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการใช้แก้วไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติโดยมีปลูกไว้ในชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้าน ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และช่วยลดขยะพลาสติกรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ด.ญ.จิวาพร สิงห์ทอง หรือ น้องกิ่ง นักเรียนชั้น ม.1 ซึ่งเข้าร่วมโครงการร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน กล่าวว่า นักเรียนที่ให้บริการในร้านกาแฟเด็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้น ม.1 แบ่งหน้าที่กัน เปิดร้าน จัดร้าน บดกาแฟ ชงกาแฟ ดูแลลูกค้า รับออร์เดอร์ กิจกรรมต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้มีประสบการณ์การทำงานเป็นทีม มีความสามัคคี มีใจในการให้บริการ ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้องๆ ได้เรียนรู้การคำนวณต้นทุน-กำไรจากการขาย รู้สึกภูมิใจเมื่อได้รับคำชมจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ขอขอบคุณมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาไทย CONNEXT ED ที่มอบโอกาสดีๆ ให้กับพวกเรา

ด้าน ด.ญ.สุธิดา น้อยปัญญา หรือ น้องเมย นักเรียนชั้น ม.1 เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการฯ และได้ฝึกอบรมการทำกาแฟ กล่าวว่า ได้ประสบการณ์หลายอย่าง สามารถนำความรู้จากการฝึกทำกาแฟ และการชงเครื่องดื่มต่างๆ ไปประกอบอาชีพในอนาคต สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวในระหว่างเรียน รายได้ที่ได้รับนำไปฝากบัญชีออมทรัพย์ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง มีความรับผิดชอบในการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ รู้จักอดทนต่อการทำงาน

นายหารศึก ภาระหันต์ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านห้วยหัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 กล่าวว่า เรามองว่าการศึกษาคือ การลงทุน ทำให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน จะต้องลงทุนในการพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงถึง ความขยัน การประหยัด ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสุภาพ ความสะอาด ความสามัคคี ความมีน้ำใจ

แต่สิ่งที่ไม่ต้องลงทุนคือ ทุนในการเปิดร้านกาแฟเด็กน้อย ซึ่งซีพีเอฟเป็นผู้ลงทุนให้ ซึ่งโรงเรียนคาดหวังว่าโครงการร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน จะเป็นธุรกิจเล็กๆ ในโรงเรียนที่จะส่งเสริมให้นักเรียนมีทางเลือก และมีเป้าหมายหลังจากที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้แล้ว สามารถนำประสบการณ์ไปต่อยอด หรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือหากไม่ได้ศึกษาต่อก็สามารถนำไปประกอบอาชีพ เป็นรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ต้องขอขอบคุณ ซีพีเอฟ และ School Partner (SP) ของซีพีเอฟ ช่วยประสานงาน ให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษา ทำงานร่วมกัน

“นอกจากโครงการฯ จะเป็นการปูทางอาชีพให้กับเด็กๆ สามารถนำไปใช้ในอนาคตแล้ว โรงเรียนมีการสั่งภาชนะไม้ไผ่จากชาวบ้าน เป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเท่าที่ประเมินความต้องการใช้ภาชนะไม้ไผ่ คาดว่าจะต้องใช้ประมาณ 200 กระบอกต่อเดือน เป็นการช่วยอุดหนุนและสร้างรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่ได้ด้วย” นายหารศึก กล่าว

“โครงการร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน” เป็นโครงการสร้างอาชีพที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุนโรงเรียนบ้านห้วยหัน ภายใต้การขับเคลื่อนการทำงานของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ซึ่งมีทั้งโครงการที่ส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน ด้านวิชาการ ด้านอาชีพ การทำเกษตรอินทรีย์รักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

โดยปัจจุบัน มีโรงเรียนภายใต้การดูแลของซีพีเอฟ 301 โรงเรียน ในพื้นที่  4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสระบุรี ผ่านการดำเนินงานของ School Partner ของซีพีเอฟ 65 คน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้านหลัก คือ 1. การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส 2. กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน 4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ 5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา

ด้วยความเชื่อมั่นว่า การศึกษา เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน สามารถสร้างและพัฒนาความรู้ ความสามารถ นวัตกรรม ความคิด ตลอดจนพฤติกรรมของเด็กไทยให้เป็นทั้ง “เด็กดีและเด็กเก่ง”