4 กลุ่มสินค้าขายดี ปี 2565 โอกาสทองผู้ส่งออกไทยในการทำตลาด

4 กลุ่มสินค้าขายดี ปี 2565 โอกาสทองผู้ส่งออกไทยในการทำตลาด

การส่งออกของไทยยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของไทยมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการเติบโตทั้งในสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ที่มียอดส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 15.7% สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังมีการคาดการณ์ส่งออกปี 2565 ขยายตัว 3-4% ขณะที่ การส่งออกปีนี้โต 16% สามารถส่งออกนำเงินเข้าประเทศได้ 8,585,600 ล้านบาท สินค้าหมวดสำคัญๆ ที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นลำดับสูง ประกอบด้วย สินค้าการเกษตร สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรม

ดังนั้น ในปีหน้านั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประเมินว่ากลุ่มสินค้าที่จะยังคงมีการขยายตัวได้ดี ใน 4 กลุ่มสินค้าที่ยังมีช่องว่างให้ผู้ส่งออกไทยรุกเข้าไปหาโอกาสในการทำตลาด

4 กลุ่มสินค้าขยายตัวดี ปี 2565 ผู้ส่งออกไทยเตรียมตัวให้พร้อม

1. สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลไม้ น้ำตาล และอาหารเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะข้าวที่ขยายตัวในตลาดเบนิน โกตดิวัวร์ จีน อังโกลา และอิรัก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ยางพารา ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ส่วนน้ำตาลทราย ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ไต้หวัน และลาว และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร นอกจากนี้ ยังมีผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป ที่ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น

2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์

3. สินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์

4. วัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตสินค้า เช่น เหล็ก เม็ดพลาสติกเคมีภัณฑ์ ยางรถยนต์ที่จะนำไปใช้ในการผลิตรถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย

ผู้ส่งออกไทยควรรู้ 8 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกในปีหน้า

  1. เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญย้อนหลังไป 5 ปี
  2. อัตราแลกเปลี่ยน
  3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ
  4. ราคาสินค้าเกษตร
  5. ราคาวัตถุดิบโลกเฉลี่ย
  6. สถานการณ์โควิด-19
  7. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านการขนส่งโลจิสติกส์
  8. การประเมินโดยทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์ทั่วโลก

ส่วนปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในปีหน้าให้มีอัตราขยาย ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งมี OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวบวก 4.5% รวมไปถึงการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ในปีหน้าคาดว่ายังขยายตัวดี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น หรือสภาพยุโรป ซึ่งก็จะช่วยเสริมในการส่งออก-นำเข้ามาก โอกาสเราส่งออกไปก็จะมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยค่าเงินบาท ซึ่งคาดว่าปีหน้าก็ยังจะเอื้อต่อการส่งออก อยู่ที่ประมาณ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะมีการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ป้อนตลาดโลกที่มากขึ้น อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (e-Digital) จะช่วยเรื่องการส่งออกสินค้าด้าน IT ของไทย

ไม่เพียงเท่านี้ แผนจัดการแก้ปัญหาโควิดที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภาพรวมของโลก และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 15 ประเทศ ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรเตรียมตัวให้พร้อม สู่การรุกตลาดต่างประเทศ เพื่อต่อยอดในการดำเนินธุรกิจต่อไป

แหล่งอ้างอิง : กระทรวงพาณิชย์

 

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิก หรือสายด่วน 1333