เจาะโมเดล แพลนต์เบส Let’s plant meat ปั้นธุรกิจอย่างไร ให้โต 300% ท่ามกลางวิกฤต

เจาะโมเดล ‘Let’s plant meat’ แพลนต์เบสแห่งอนาคต ที่ปั้นธุรกิจโต 300% ท่ามกลาง โควิด-19 พร้อมมุ่งสู่การเป็นเทคโนโลยีสตาร์ตอัพรับการเติบโตปี 65

นับตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงปลายปี 2562 ในต่างประเทศ จนมาถึงการระบาดรอบแรกในประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลาย ต่างเผชิญกับความท้าทายในการพาธุรกิจ ก้าวผ่านความยากลำบากและต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่การเติบโตและประสบความสำเร็จได้

แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีการวางแผนธุรกิจอย่างชัดเจน มีความเชื่อมั่นในธุรกิจของตัวเอง ประกอบกับรู้จักมองหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจที่ดี การพาธุรกิจให้ไปรอดในยุคโควิด19 พร้อมกับการเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคตได้ก็ดูไม่ใช่เรื่องยาก

ซึ่งมีหนึ่งธุรกิจที่ไม่เพียงแค่สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในช่วงแห่งความท้าทายนี้ได้ แต่จะมาเผยถึงความพร้อมในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มมีการเปิดการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

ธุรกิจนั้นก็คือ นิธิฟู้ดส์ หรือผู้ผลิตเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสชั้นนำที่กำลังทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่อีกขั้นของการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตอย่าง “แพลนต์เบส”ภายใต้ชื่อ “Let’s plant meat” นับเป็นการจับเอาเทรนด์รักสุขภาพมาผสมผสานกับหน่วยธุรกิจเดิม เพื่อต่อยอดสินค้าด้วยการใช้เทคโนโลยีอันชาญฉลาด สู่การเป็นธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ตอัพ (Tech Startup) โดยไม่มีคำว่าอุปสรรคมาเป็นข้อจำกัด!

นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด เปิดเผยว่า นิธิฟู้ดส์เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 2541 จากการทำธุรกิจเครื่องเทศอบแห้งและเครื่องเทศเจียว ต่อมาได้ขยายธุรกิจมาเป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรส จนเมื่อปลายปี 2562 เป็นช่วงที่บริษัทได้ริเริ่มธุรกิจแพลนต์เบสในเมืองไทย ภายใต้ชื่อ Let’s plant meat”

นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด

ซึ่งจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้มาจาก ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคโปรตีนทางเลือก โดยวัตถุดิบที่ทำจากพืช จนได้ลองหันมาบริโภคมังสวิรัติด้วยตัวเอง และได้พบว่าตัวเลือกอาหารสำหรับคนไทยที่หลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ยังคงมีน้อย

ด้วยราคาที่สูง รวมถึงยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความอร่อยและขาดความหลากหลายทางรสชาติ จึงเกิดเป็นแนวคิดที่อยากใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรส ประกอบกับได้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารที่มีอยู่มาร่วมกันพัฒนาอาหารทางเลือกอย่างแพลนต์เบสให้มีรสชาติอร่อยตอบโจทย์คนไทย และสามารถผลิตได้เองในราคาถูก อีกทั้ง เล็งเห็นว่าธุรกิจแนวนี้

ในตลาดไทยยังมีจำนวนไม่มากและยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว โดยข้อมูลจาก Krungthai COMPASS
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย พบว่า มูลค่าตลาดแพลนต์เบสฟู้ดในประเทศไทยอาจสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

เมื่อมีความตั้งใจในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจอีกครั้ง จากผู้ผลิตเครื่องปรุงรสสู่ธุรกิจอาหารแห่งอนาคตอย่าง แพลนต์เบส จึงหาตัวช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ โดยเริ่มต้นจากการสำรวจ 3 เรื่อง ได้แก่

1. สำรวจเทรนด์โลกและเทรนด์ผู้บริโภค : เมื่ออาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ตัวเลือกแต่เป็นเรื่องจำเป็น

จริงอยู่ที่โควิด19 ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจกับสิ่งที่บริโภคเข้าไปมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการลดบริโภคเนื้อสัตว์หรือหันมาเป็นผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

แต่สำหรับ Let’s plant meat ไม่เพียงแค่เชื่อในเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาธุรกิจขึ้นมารองรับเท่านั้น แต่ยังมีแพชชั่นในการทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานแพลนต์เบสฟู้ดและเป็นตัวเลือกหลัก เพื่อลดผลกระทบจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ทั้งในแง่ของความเสี่ยงจากการเกิดโรคที่น้อยกว่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำปศุสัตว์

อีกทั้งเป็นการเสริมความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี ด้วยเหตุนี้ เราจึงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชให้มีความพร้อมสำหรับตลาดไทยเพราะเราต้องการเป็นผู้ที่ไปยืนรออยู่ปลายทางพร้อมกับอาหารทางเลือก ที่เป็นทางรอด ในวันที่แพลนต์เบสฟู้ดกลายเป็นอาหารทางเลือกหลักสำหรับการบริโภค

2. สำรวจความพร้อมของตัวเอง : จากธุรกิจดั้งเดิมที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง สู่ความพร้อมเป็นเทคโนโลยีสตาร์ตอัพ

การมีธุรกิจเครื่องปรุงรสถือเป็นต้นทุนที่เรามีติดตัวและทำหน้าที่เป็นเหมือนธุรกิจพี่เลี้ยง (Business Brotherhood) ให้กับ Let’s plant meat ได้ ทั้งในแง่ทรัพยากรทางปัญญาจากทีมวิจัยและพัฒนาอาหารที่มีอยู่ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากธุรกิจเครื่องปรุงรส

เพื่อต่อยอดในเรื่องการพัฒนาและคิดค้นรสชาติแพลนต์เบสฟู้ดที่อร่อยและตอบโจทย์คนไทย รวมถึงความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีการผลิต ที่ช่วยให้เราไม่ต้องลองผิดลองถูกมากกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

นอกจากความพร้อมที่มีติดตัวมา ยังเดินหน้าธุรกิจในปี 2564 โดยถือว่าปีนี้เป็นปีแห่งการเตรียมความพร้อมเพื่อสำรวจตลาด การมองหาลูกค้าต่างประเทศที่มีศักยภาพในการซื้อ จากการเข้าร่วมกิจกรรม Online business matching กับทางภาครัฐมากกว่า 45 ครั้ง

ซึ่งถึงแม้ว่าการเจรจาทางธุรกิจจะจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถทดลองชิมผลิตภัณฑ์ได้ แต่ก็มองว่า ได้ใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงลูกค้าหลากหลายมากขึ้น

สำหรับผลประกอบการในปี 2564 ถือว่าสามารถเติบโตท่ามกลางช่วงแห่งความท้าทายนี้ได้อย่างน่าพอใจ
โดยเรามียอดขายที่โตขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าว่าจะโตต่อไปอีก 1-2 เท่าในปีถัดไป
หรือทันทีที่การค้าระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง เนื่องจากเรามีความต้องการจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่รออยู่

3. สำรวจหาหน่วยงานเร่งสานฝันธุรกิจ : ดีพร้อม กับบทบาทเสริมขีดความสามารถของ ผปก. ไทย สู่เป้าหมายที่เป็นจริง

นอกเหนือจากการรู้จักเทรนด์ผู้บริโภค รู้จักความพร้อมของตัวเอง สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเดินหน้าธุรกิจใหม่สำหรับ Let’s plant meat นั่นก็คือ มองหาความร่วมมือด้านต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐอยู่เสมอ เพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขัน

เพราะเราไม่ได้รอบรู้ในทุกด้าน การมีหน่วยงานเข้ามาให้คำปรึกษาก็เปรียบเสมือนมีผู้ช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจให้กับเรา โดยการร่วมงานกับดีพร้อมในปีนี้ ช่วยให้พัฒนาธุรกิจในหลายด้าน ทั้งการเชื่อมโยงตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาระบบคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหารและระบบฮาลาล

ซึ่งเมื่อแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติ สินค้าก็พร้อมเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มประเทศต่างๆ ได้ทันที เพราะได้เตรียมความพร้อมด้านระบบความปลอดภัยของอาหารที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกลุ่มประเทศต่างๆ ไว้ล่วงหน้าแล้ว จากคำแนะนำของ ดีพร้อม

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อม มีความยินดีที่ได้เห็นการเดินหน้าในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และระดับผู้ประกอบการ ไปสู่การแข่งขันในภาคธุรกิจที่สูงขึ้น เพราะนั่นหมายถึงการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายเพื่อให้ดีพร้อมร่วมเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

สำหรับโมเดลธุรกิจของ Let’s plant meat” ถือได้ว่ามีศักยภาพในการเติบโต อีกทั้ง มีธุรกิจเดิมอย่าง “นิธิฟู้ดส์” ทำหน้าที่เป็นธุรกิจพี่เลี้ยง จัดเป็นโมเดลตัวอย่างที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีไปสู่การเป็นธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ตอัพ”

“ปัจจุบัน ธุรกิจแพลนต์เบสถือเป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในวงการเกษตรไทย เนื่องจากเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตอย่างมหาศาล ตลอดจนพัฒนากระบวนการผลิตทั้งวงจร ซึ่งตรงกับความตั้งใจของดีพร้อมในการยกระดับวิถีเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ดีพร้อมยังเชื่อมั่นว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้นจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเอาชนะความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญในปัจจุบันและอนาคตได้” นายณัฐพล กล่าว