เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ ธุรกิจผึ้งครบวงจร ผู้ริเริ่มธุรกิจเลี้ยงผึ้งสู่การสร้างแบรนด์คุณภาพ

เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ ธุรกิจผึ้งครบวงจร ผู้ริเริ่มธุรกิจเลี้ยงผึ้งสู่การสร้างแบรนด์คุณภาพ

‘ผึ้ง’ แมลงที่มีส่วนสำคัญต่อวงการเกษตร ขณะที่ ‘น้ำผึ้ง’ ผลผลิตจากธรรมชาติที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้แต่อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจึงมีการส่งเสริมความรู้เกษตรกรด้านการเลี้ยงผึ้งเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ผลผลิตน้ำผึ้งที่ได้ในแต่ละพื้นที่จะมีรสชาติและเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากผึ้ง อาทิ นมผึ้ง เกสรผึ้ง รวงผึ้ง และไขผึ้ง ก็มีแนวโน้มน่าสนใจเช่นกัน

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

คุณยุทธพงษ์ เรืองศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผึ้ง รวมทั้งอุปกรณ์เลี้ยงผึ้งครบวงจร แบรนด์ Fora bee (ฟอร่า บี) กล่าวว่า สัดส่วนคนไทยบริโภคน้ำผึ้งน้อย ถ้าเทียบกับยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดบริโภคน้ำผึ้งอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ธุรกิจด้านการเลี้ยงผึ้งและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผึ้ง แม้จะมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งเป็น Healthy Product แต่ก็มีอุปสรรค และข้อจำกัดที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้

“เคยได้ยินน้ำผึ้งมานูก้าไหม? น้ำผึ้งที่ผลิตจากเกสรต้นมานูก้าของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีราคาแพง และมีงานวิจัยรองรับถึงคุณประโยชน์ จริงๆ แล้วบ้านเราก็มีน้ำผึ้งดอกลำไย น้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ และน้ำผึ้งดอกสาบเสือ และอีกหลายอย่างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ค่อยมีงานวิจัยรองรับ และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ พื้นที่การเลี้ยงผึ้ง นับวันจะยิ่งน้อยลง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำผึ้งของไทย”

งานอดิเรก และความสนใจ เริ่มต้นธุรกิจสายหวาน

คุณยุทธพงษ์ เริ่มเล่าว่า ในสมัยก่อนตลาดน้ำผึ้งในประเทศไทยยังมีน้อยมากและส่วนใหญ่ยังเป็นน้ำผึ้งป่า ขณะบริษัท เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจด้านผึ้งครบวงจร ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2518 จากความสนใจและประสบการณ์ฝึกงานด้านโรงงานน้ำผึ้งที่ไต้หวันของคุณพ่อ (คุณสงวน เรืองศิริ) โดยซื้อพันธุ์ผึ้งมาทดลองเลี้ยงที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ก่อนจะมีการพัฒนาและปรับปรุงวิธีการเลี้ยงและเพิ่มปริมาณการเลี้ยงมากขึ้น จากการทดลองเลี้ยงผึ้งช่วงเริ่มต้นแค่ 4 ลัง ขยายกิจการมาเป็นบริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์เลี้ยงผึ้งที่ครบวงจรแห่งหนึ่งในประเทศไทย

โดยผึ้งที่นำมาเลี้ยงเป็นผึ้งสายพันธุ์อิตาลีที่พัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ โดยสิ่งสำคัญในการเลี้ยงผึ้งมี 2 ปัจจัย คือ 1. ต้องมีความรู้ในการเลี้ยง และ 2. ต้องมีอุปกรณ์ในการเลี้ยงซึ่งเป็นลังไม้สำหรับเลี้ยงผึ้ง จึงสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งเพื่อลดการนำเข้า และคิดค้นเพิ่มเติมเองด้วย ดังนั้น โรงงานแห่งแรกจึงมีจุดเริ่มต้นมาจากอุปกรณ์เลี้ยงผึ้งเพื่อส่งเสริมการเลี้ยง

ขยายกำลังผลิต สร้างห้องแล็บตรวจคุณภาพ

หลังจากที่สร้างโรงงาน ฟาร์มเลี้ยงผึ้ง และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ ช่วงแรกยังไม่ได้สร้างแบรนด์ ผลผลิตน้ำผึ้งจะขายเป็นกิโลกรัม ต่อมาได้มีการย้ายโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิต และรับซื้อน้ำผึ้งจากเกษตรกร ด้วยเหตุนี้ โรงงานแห่งใหม่จึงมีการลงทุนในด้านการตรวจสอบคุณภาพน้ำผึ้ง การตรวจความชื้น ค่าความหวาน รวมถึงการปนเปื้อนหรือสารตกค้างในน้ำผึ้ง อาทิ ยาปฏิชีวนะต่างๆ ซึ่งเขาบอกว่า ‘ยากมาก’ ที่จะไปควบคุมคุณภาพในการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงเอง ด้วยเหตุนี้ จึงสร้างห้องแล็บขึ้นมาเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำผึ้งในเบื้องต้น

“เราเล็งเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดของตลาดน้ำผึ้ง คือคุณภาพ น้ำผึ้งที่รับซื้อเข้ามาจะต้องผ่านมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้น ตั้งแต่ต้นจึงให้ความสำคัญต่อการสร้างห้องแล็บเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำผึ้ง”

กล่าวได้ว่าเป็นจุดแข็งของ บริษัท เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ จำกัด เพราะหากย้อนไปในยุคแรกเริ่ม ตอนนั้นการมีห้องแล็บสำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำผึ้งยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย และการลงทุนยังสูง ขณะที่ปัจจุบันน้ำผึ้งของ เชียงใหม่ เฮลตี้ฯ ได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติอิสลามแห่งประเทศไทย รวมไปถึงมาตรฐานอาหารสากล GMP, HACCP, USFDA และ ISO

Fora bee’ สร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดตลาดน้ำผึ้ง 

อย่างไรก็ตาม น้ำผึ้งในบางช่วงเวลาก็ยังเกิดการล้นตลาด ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผึ้งจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยคุณยุทธพงษ์ บอกว่า เขาได้เข้ามารับไม้ต่อจากคุณพ่อเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ประจวบเหมาะกับที่เรียนจบมาทางด้าน Food Science

โดยสิ่งแรกที่มองเห็น คือเรื่องการทำ Re-Branding และสร้างช่องทางให้ผู้บริโภครู้จักน้ำผึ้งของบริษัทมากขึ้น อย่างที่บอกว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมบริโภคน้ำผึ้งป่า ซึ่งปัญหาหลักๆ คือผู้บริโภคยังไม่ทราบและขาดความเชื่อมั่นในน้ำผึ้งบรรจุขวด จึงต้องสร้างแบรนด์ ‘Fora bee’ ขึ้นมาและมุ่งพัฒนาคุณภาพให้ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็เปลี่ยนมาหลายแบรนด์ มองว่ายังไม่ดูทันสมัยและโดนใจผู้บริโภค สิ่งที่ทำคือปรับเปลี่ยนโลโก้ให้ดูทันสมัย ให้ดู Healthy เพื่อเจาะตลาดสุขภาพ รวมทั้งการลงทุนเพื่อปรับภาพลักษณ์และ Packaging ใหม่ทั้งหมด รูปแบบผลิตภัณฑ์จะต้องไปในทิศทางเดียวกัน”

แปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เจาะตลาดในประเทศ

คุณยุทธพงษ์ บอกว่า หลังจากรีแบรนด์ จากที่เน้นส่งออกขายแบบ B2B ก็หันมาพัฒนาแบรนด์เพื่อที่จะขยายตลาดน้ำผึ้งไปในกลุ่ม B2C หรือเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปให้มากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อเป็นสื่อหลักให้คนได้รู้จักแบรนด์มากขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่า Fora bee เป็นแบรนด์น้ำผึ้งบรรจุขวดที่มีฉลากเพื่อผู้บริโภคเป็นรายแรกในไทย รวมทั้งมีการทำการตลาดออนไลน์บ้างแต่ตลาดยังไม่โตมากนัก

“ต่อมาเราคิดว่า น้ำผึ้งจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง ขณะที่กระแสช่วง 10 ปีก่อนแอปเปิ้ลไซเดอร์มันกำลังมาแรง เลยคิดว่าเรามีน้ำผึ้งอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองเอาน้ำผึ้งมาแปรรูปดูบ้าง ซึ่งภายใต้การร่วมมือของหน่วยงานรัฐที่มาช่วยเราคิดค้นจนนำไปสู่การแปรรูปน้ำผึ้งในรูปแบบต่างๆ มากมาย”

ผลิตภัณฑ์จากผึ้งนอกจากน้ำผึ้งยังมี นมผึ้ง เกสรผึ้ง ไขผึ้ง ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เครื่องดื่ม อาหารเสริม และเครื่องสำอาง จึงสร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์จากผึ้ง รวมทั้งการพัฒนาหน้าร้าน ซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงงานที่เชียงใหม่ ตกแต่งให้ดูสวยงาม เหมือนเป็น Shop ของแบรนด์ไปด้วย

แก้ Pain Point น้ำผึ้ง สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคออนไลน์

เราทราบดีว่าน้ำผึ้งดีต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้ ตลาดน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งจึงเป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่ม Healthy Product จะเห็นว่าด้วยคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์มีความเฉพาะและโดดเด่นอยู่ในตัวเอง แต่ปัญหาสำคัญที่คุณยุทธพงษ์ มองว่าตลาดน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งในประเทศยังไม่เติบโตเท่าที่ควรคือ

ผู้บริโภคยังขาดความเข้าใจและไม่เชื่อมั่น หรืออาจจะมองว่าน้ำผึ้งที่ขายตามท้องตลาดเป็นน้ำผึ้งปลอม และยังนิยมบริโภคน้ำผึ้งป่า ที่ได้จากการไปตีผึ้งในป่า ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจมากพอสมควร

ดังนั้น การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องจึงไม่เพียงการพัฒนาช่องทางการตลาด แต่ทั้งในเว็บไซต์และ Shop ของ Fora bee จะเน้นการสร้างความเข้าใจเรื่องผึ้งและน้ำผึ้ง อาทิ การสร้างพิพิธภัณฑ์ผึ้ง ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์เรียนรู้ขนาดย่อมๆ ภายใน Shop ที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับผึ้ง เพื่อให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชม หาความรู้ รวมทั้งมุ่งเน้นการตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของน้ำผึ้ง คือผู้บริโภคอาจจะยังไม่เชื่อมั่นในแบรนด์ ยอดขายออนไลน์ในช่วงแรกจึงเติบโตไม่มากนัก

“น้ำผึ้งไม่เหมือนเสื้อผ้าที่รู้ขนาดก็ใส่ได้ คำถามที่เราเจอบ่อยๆ คือ น้ำผึ้งแท้รึเปล่า รสชาติเป็นไง หอมไหม เพราะตลาดน้ำผึ้งจะต้องชิมจึงจะรู้ว่าแตกต่างอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภายใต้ปัจจัยการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกธุรกิจก็ต้องปรับตัวไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น Fora bee จึงได้มีการพัฒนาช่องทาง Page Facebook สร้างคอนเทนต์ตลอดจนการจัดการในด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเพื่อปรับตัวสู่ช่องทางออนไลน์อย่างเต็มตัว

และดูเหมือนว่าด้วยคุณภาพ และภาพลักษณ์ของ Fora bee ที่ได้มีการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้ผู้บริโภคเกิดเป็นความเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้าและยอดขายระหว่างออฟไลน์ และออนไลน์ก็ขยับใกล้กันมากขึ้น

คู่ค้า-คู่แข่งต่างประเทศในตลาดน้ำผึ้ง

ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำผึ้งเบอร์ 1 ของโลก โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา ตลาดบริโภคอันดับหนึ่งของโลก โดยประเทศไทยมีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งมากสุดคือทางภาคเหนือของไทย แต่ผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการจากไต้หวันมารับซื้อ และจากข้อมูลล่าสุดระบุว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำผึ้งเป็นอันดับสองของอาเซียน มูลค่ารวมราว 6 ร้อยกว่าล้านบาทต่อปี น้อยกว่าเวียดนามที่เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง

แต่เมื่อเปรียบเทียบด้านคุณภาพ น้ำผึ้งดอกลำไยของไทยจะคุณภาพดีกว่า ส่วนน้ำผึ้งของเวียดนามจะเป็นน้ำผึ้งจากดอกกาแฟและยางพาราที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ขณะที่ความต้องการน้ำผึ้งทั่วโลกมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจากเทรนด์สุขภาพและผลิตภัณฑ์จากผึ้งยังสามารถนำไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ได้อีกมาก

ตลาดบริโภคน้ำผึ้งกำลังปรับเปลี่ยน

ด้วยข้อมูลข่าวสาร และความรู้ที่หาได้ง่ายบนโลกอินเทอร์เน็ต ตลอดจนพฤติกรรมการบริโภคที่มุ่งเน้นเรื่องสุขภาพและความสวยความงาม ผู้บริโภคในปัจจุบันจึงมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องคุณภาพของน้ำผึ้งมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่มักจะเข้าใจว่าน้ำผึ้งป่าจะเป็นน้ำผึ้งคุณภาพดี

‘น้ำผึ้งคุณภาพดี’ คือน้ำผึ้งที่มีความชื้นน้อย มีค่าความหวานที่เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวร่างกายสามารถดูดซึมได้ทันที ปลอดสารปนเปื้อนและยาปฏิชีวนะ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้มีน้ำผึ้งบรรจุขวดวางขายในร้านสะดวกซื้อหรือในโมเดิร์นเทรดมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเข้าใจเรื่องน้ำผึ้งคุณภาพดีมากขึ้นนั่นเอง

สำหรับคุณยุทธพงษ์ เขามองว่า ก้าวต่อไปคือการมุ่งเน้นด้านการตลาดออนไลน์ และการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผึ้งและน้ำผึ้งออกมาเป็นสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบัน นอกจากกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผึ้งก็ยังแตกไลน์ไปเป็นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์นมผึ้ง ‘ฮันนี่ วีนีการ์’ ที่เกิดจากการนำน้ำผึ้งไปผ่านกระบวนการหมักตามธรรมชาติผลิตภัณฑ์เกสรดอกไม้ ‘พรอพอลิส’ หรือยางไม้ธรรมชาติที่ผึ้งเก็บมาสะสมไว้ภายในรัง ตลอดจน By Products ต่างๆ ที่จะมาสร้างมูลค่าให้ผู้เลี้ยงผึ้งและอุตสาหกรรมผึ้งในประเทศให้เติบโตไปได้

ส่วนในอนาคตแบรนด์น้ำผึ้งไทยจะสามารถสร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในสายตาผู้บริโภคได้มากแค่ไหน อาจจะต้องมีงานวิจัยและเรื่องมาตรฐานเข้ามารองรับอีกมาก ด้วยเหตุนี้ จึงยังมองว่าเส้นทางของธุรกิจความหวานนี้ยังมีอนาคตที่ยาวไกล และยังต้องเผชิญการทดสอบอีกมาก สิ่งสำคัญคือ การสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ลูกค้าเชื่อถือ และพัฒนาอยู่เสมอๆ สู่เป้าหมายการเป็น ‘ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากผึ้ง’ ที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค

 

รู้จัก เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ เพิ่มเติมได้ที่ :

http://www.forabee.com/

https://www.facebook.com/ForaBeeHoney/

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิก หรือสายด่วน 1333