เผยแพร่ |
---|
รมว.อว. เป็นประธาน MOU สานต่อโครงการ อาหารพื้นถิ่นฉายรังสี ปี 2 สู่ภาคใต้
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สานต่อการพัฒนาสร้างมูลค่าให้ “อาหารพื้นถิ่น” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ฉายรังสีปลอดภัย อาหารพื้นถิ่นปลอดโรค” ปี 2565 กำหนดให้ “ภาคใต้” เป็นพื้นที่ดำเนินงาน โดยมีจังหวัดเป้าหมาย คือ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา
วันที่ 10 มกราคม 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จัดขึ้น ภายใต้โครงการ “การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สทน. วช. และ มรภ. ร่วมงาน ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือของทั้ง 4 องค์กรในวันนี้ นับเป็นเรื่องที่ดี ที่แต่ละองค์กรจะได้นำเอาองค์ความรู้ ทรัพยากรและบุคลากรด้านงานวิจัยและพัฒนา ที่เป็นจุดแข็งของแต่ละหน่วยงาน มาร่วมกันพัฒนาสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะพี่น้องชาว OTOP กลุ่มอาหารพื้นถิ่น ให้สามารถผลิตสินค้าและต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ โดยยังคงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ได้ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม เพื่อรับใช้ชุมชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ เกิดขึ้นเพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วยวิธีการฉายรังสีให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา สทน. ได้ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วย มรภ.พระนครศรีอยุธยา มรภ.ธนบุรี และ มรภ.ราชนครินทร์ ร่วมกันจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างการยอมรับ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นที่มีศักยภาพของชุมชนมาฉายรังสี
ในปี 2565 นี้ เป็นปีที่สองของการดำเนินงาน สทน. ได้กำหนดให้ ภาคใต้ เป็นพื้นที่ดำเนินงาน โดยมีจังหวัดเป้าหมาย คือ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา และเป็นที่น่ายินดี ที่ปีนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะเข้ามาร่วมมือในการนำงานวิจัยและนวัตกรรม มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ด้วย โดยในส่วนของ สทน. กับ วช. และ มรภ.ทั้ง 3 แห่ง จะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ การสร้างการยอมรับเรื่องประโยชน์ของการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ และอำนวยความสะดวกให้มีศูนย์ประสานงาน ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี มีการใช้พื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ ทาง สทน. ยังมุ่งหวังให้เกิดการยกระดับนวัตกรรมใหม่ ทางด้านอาหารพื้นถิ่น ในกลุ่มของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา อาจารย์หรือบุคลากรในสถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปด้วย
“ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง สมัครเข้ามาร่วมโครงการฯ ฉายรังสีกับ สทน. ได้นะครับ ผมมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ท่านจะมีทางเลือก มีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น หรือหากท่านใดที่สนใจอยากขอเข้ามารับคำปรึกษา หรือสนใจทดลองฉายรังสี ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ สทน. ยินดีให้บริการทุกท่านครับ” ผอ.สทน. กล่าวทิ้งท้าย