SMEs เร่งปรับตัว สู่ยุค Net-zero ปล่อย Co2 เป็นศูนย์

SMEs เร่งปรับตัว สู่ยุค Net-zero ปล่อย Co2 เป็นศูนย์

ภาวะโลกร้อน ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือจัดการแก้ไขกันอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ถือเป็นส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก จนผลกระทบทวีความรุนแรงมากขึ้น หากสังเกตดีๆ แล้วจะพบว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ หลายฝ่ายได้พยายามแก้ไขมาโดยตลอด ตั้งแต่การกำหนดกรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) จนกระทั่งมีแนวคิด Net-zero เกิดขึ้น

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

Net-zero คืออะไร?

Net-zero คือเป้าหมายเกี่ยวกับการปรับสมดุลให้สุทธิกลายเป็นศูนย์ โดยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา เช่น กระบวนการผลิตและอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้สมดุลกับปริมาณที่เรากำจัดออกไป เช่น การดักจับคาร์บอนก่อนปล่อยออก หรือปลูกต้นไม้เพิ่ม เป็นต้น เหมือนการอาบน้ำที่เราต้องปล่อยน้ำออกจากก๊อกหรือฝักบัว หากปริมาณน้ำไม่มากเกินไปหรือรูระบายน้ำไม่ถูกกั้น น้ำที่ผ่านการใช้แล้วเหล่านั้นก็จะไหลผ่านรูระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ต่างจาก zero carbon ที่จะต้องควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น หรือเป็นศูนย์มาตั้งแต่ต้น

 

เหตุผลที่ SMEs ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ Net-zero

ย้อนกลับไปในปี 2019 สหราชอาณาจักร ถือเป็นประเทศแรกที่สร้างกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการยุติภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ด้วย Net-zero เพื่อให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 นี้ ซึ่งหนึ่งในส่วนสำคัญที่สหราชอาณาจักรวางเป้าหมายไว้

นอกจากองค์กรขนาดใหญ่และผู้บริโภค ก็คือ SMEs เนื่องจากมีจำนวนกว่า 97% ของระบบเศรษฐกิจ และปล่อยมลพิษกว่า 25% จากทั้งประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียง 1 ใน 4 ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่าเหล่าธุรกิจใหญ่ที่ขับเคลื่อนประเทศ แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่หากไม่ให้การร่วมมือ ประเทศและทั่วโลกก็อาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่ง SMEs ไทยเองที่มีจำนวนมากถึง 99% ในระบบเศรษฐกิจไทยก็ควรมีส่วนร่วมช่วยลงมือด้วยเช่นกัน

อีกทั้งเรื่องความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากเกิดกระแสรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อมมากมาย ยังช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบให้แก่ธุรกิจที่ยึดมั่นในแนวทางปฏิบัติ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ยั่งยืน มากกว่า รวมถึงเพิ่มโอกาสในการส่งออก ซึ่งในอนาคตอาจจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ Net-zero มาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของบางประเทศหรือทั่วโลกด้วย

 

อุปสรรคของ SMEs ต่อการปรับตัว

อุปสรรคของ SMEs ต่อการปรับตัว เพื่อเข้าสู่ Net-zero มีหลากหลายประการ แตกต่างกันไปตามแต่ละปัจจัย แต่ส่วนใหญ่ที่มักจะเจอก็คือ

1) ขาดความตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

2) ขาดความรู้ว่า จะปรับตัว ด้วยการลดหรือจัดการกับก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ให้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพอย่างไร พอไม่มีความรู้หรือความชำนาญที่มากพอ เลยทำให้การปรับตัวต้องใช้ทุนสูงขึ้น

3) SMEs ส่วนใหญ่ต้องต่อสู้กับความท้าทายในแต่ละวัน ด้วยความรวดเร็ว ในขณะที่การลงทุนควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จำเป็นต้องใช้เวลาและเงินจำนวนหนึ่ง

และอื่นๆ ที่ทำให้ SMEs คิดหนักกว่าจะตัดสินใจเข้าสู่ Net-zero ด้วยความสมัครใจ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐในหลายประเทศจึงต้องสร้างนโยบายมา เพื่อช่วยกำกับดูแลเหล่าธุรกิจ รวมถึง SMEs

 

วิธีเบื้องต้นเพื่อให้ SMEs ก้าวเข้าสู่ Net-zero

เชื่อว่า คงมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบหรือไม่มั่นใจว่า ควรจะเริ่มต้นปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจเข้าสู่ Net-zero ส่วนนี้จึงขอมาบอกต่อวิธีเบื้องต้น เพื่อให้ SMEs ก้าวเข้าสู่ Net-zero ได้อย่างมีประสิทธิภาพกัน

– ประเมินธุรกิจของคุณ : เริ่มแรกคือ คุณควรที่จะประเมินก่อนว่า มีกระบวนการใดในธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์บ้าง และปริมาณเท่าไหร่ เพื่อให้ง่ายต่อการระบุ และวางแผนให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

– ปรับนโยบายในที่ทำงานบางส่วน : นอกจากเรื่องกระบวนการบางส่วนแล้ว คุณอาจจะลองวางนโยบายภายในที่ทำงานบางส่วนด้วยก็ได้ เช่น ระยะเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อลดการเดินทางที่เร่งรีบจนก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น หรือการตกแต่งภายในที่ทำงานโดยเน้นความยั่งยืน รวมถึงการเลือกใช้หน้าต่างและพัดลมบ้าง (แต่ก็เข้าใจว่าประเทศไทยร้อนมาก จะไม่เปิดเครื่องปรับอากาศก็ลำบากเหมือนกัน อย่างไรควรปรับตามความเหมาะสมเป็นหลัก) เป็นต้น

– รีไซเคิลและรียูส : สำหรับ SMEs อาจจะยังไม่ถึงขั้นต้องรีไซเคิลและรียูสจริงจังในกระบวนการผลิต แต่อาจจะเริ่มลงมือจากการทำงานภายในองค์กร เช่น มีการคัดแยกถังรีไซเคิล, หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว มาเป็นพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลหรือรียูสได้ เป็นต้น

– เข้าร่วมโครงการที่สนับสนุน Net-zero : หากมีโอกาส ลองเข้าร่วมโครงการที่สนับสนุนการเข้าสู่ Net-zero เช่น GI-SMEs อบรมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ, โครงการประเมินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ของ อบก. โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เป็นต้น โดยอาจติดตามข่าวสารหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่าง กระทรวงอุตสาหกรรม, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออื่นๆ

ในปี ค.ศ. 2050 นี้ ประเทศที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ เช่น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น จะก้าวเข้าสู่ยุค Net-zero อย่างเต็มตัว ดังนั้น ธุรกิจ SMEs ควรเร่งศึกษาและค่อยๆ วางแผนปรับตัวไปเรื่อยๆ เนื่องจากจะส่งผลดีมากกว่าการไปเร่งปรับตัวทันทีในตอนนั้น อันเนื่องจากกฎและระเบียบการที่เข้มข้นมากขึ้น

โดยเฉพาะตลาดในยุโรปและอเมริกา ที่มุ่งเน้นนโยบายและการค้าที่ไม่ทำร้ายโลก รวมถึงเรื่องซัพพลายเชนที่ยั่งยืนที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องมีการตื่นตัวและปรับตัวเสียแต่ตอนนี้ เพราะในอนาคตสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือ สินค้าที่มีส่วนทำร้ายสิ่งแวดล้อมโลกจะต้องเผชิญการกดดันอย่างหนัก และอาจจะต้องหายไปในที่สุด

 

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333