แนะ SMEs รุก B2B E-Commerce เข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ

แนะ SMEs รุก B2B E-Commerce เข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะกิจการน้อยหรือใหญ่ต้องได้รับผลกระทบทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ากิจการขนาดเล็กมักจะปรับตัวเข้าสู่ ECommerce หนึ่งในทางรอดที่สำคัญของทุกธุรกิจทั่วโลกได้ไวกว่า ขณะที่ธุรกิจแบบ B2B หรือการค้าระหว่าง 2 ธุรกิจ (Business to Business) ที่พวกเรามักจะคุ้นเคยกับรูปแบบออฟไลน์มากกว่า กลับก้าวไปข้างหน้าในยุคโควิด-19 ได้ยากขึ้น เราจึงอยากแนะนำให้คุณได้ทำความรู้จัก B2B E-Commerce กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นโอกาสสำหรับคนที่กำลังมองหาตลาดใหม่ๆ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

เหตุผลที่คุณควรเจาะตลาด B2B E-Commerce

ถึงแม้ว่าที่เกริ่นไปในข้างต้นจะเปิดด้วยเรื่องโควิด-19 แต่ความจริงแล้วกระแส B2B E-Commerce ได้เติบโตมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ในปี 2559 ที่แม้ว่าจะมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตของรูปแบบธุรกิจนี้น้อยกว่ารูปแบบ B2C แต่หากนับมูลค่ารวมแล้ว ตลาด B2B กลับมีมูลค่ารวมสูงกว่า B2C ประมาณเท่าตัวมาตลอด

สำหรับมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) และธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) ว่ามีมูลค่าสูงถึง 26.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 30% ของจีดีพีโลก เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 4% จากตัวเลขจะเห็นว่าแนวโน้มการค้าของโลกกำลังไปสู่ระบบออนไลน์ถึง 1 ใน 3 และหากวิเคราะห์เจาะลึกต่อพบว่า 82% ของมูลค่าทั้งหมดเป็นการค้าออนไลน์แบบ B2B ส่วนรูปแบบ B2C มี 18% หรือมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โตขึ้นจากปี 2561 ถึง 11%

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ แม้สหรัฐ จะเป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่ารวม 9.58 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยญี่ปุ่น 3.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน 2.60 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกาหลีใต้ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ประเทศส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนการค้าแบบ B2B มากกว่า 45%

ขณะที่จีนมีสัดส่วน B2B เพียง 18% ทำให้จีนเป็นผู้นำทางด้านตลาดอีคอมเมิร์ซที่ขายตรงไปยังผู้บริโภค (B2C) คือมีมูลค่า 1,539 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยสหรัฐ 1,261 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหราชอาณาจักร 251 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวิเคราะห์เฉพาะ B2C ของประเทศที่มีมูลค่าสูงสุด 20 ประเทศแรกของโลก พบว่า ครอบคลุมตลาดทั่วโลกถึง 82% มีมูลค่ารวม 4,021 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนนักช็อปปิ้งออนไลน์ 20 ประเทศ รวม 1,339 ล้านคน จำนวนสูงสุดคือจีน 639 ล้านคน และสหรัฐ 189 ล้านคน

สำหรับไทยติดอันดับที่ 16 ของโลก มีมูลค่ารวม 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 5.3% ของจีดีพี มีนักช็อปปิ้งออนไลน์ราว 5 ล้านคน เป็นอันดับ 1 ในอาเซียนและอันดับ 6 ในเอเชีย

นอกจากนี้ ได้มีรายงานเมื่อปีที่ผ่านมาค้นพบว่า ตลาด B2C โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะค้นหาข้อมูลสิ่งที่กำลังสนใจ อย่างสินค้าและบริการ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในกิจการของตน ผ่านทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจเสมอ ตั้งแต่การหาความรู้ข้อมูล เพื่อให้ได้ของที่ดีในราคาที่คุ้มสุด การบริการทั้งก่อน-หลังการขาย ฯลฯ

เพราะต้องตัดสินใจซื้อขายในปริมาณมาก เลยต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อความมั่นใจ ซึ่งสิ่งที่ให้ความสะดวกสบายในการหาข้อมูลได้อย่างทันใจก็หนีไม่พ้น อีมาร์เก็ตเพลสที่เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Aliexpress, Thaitrade.com, Shopify Plus, BigCommerce, Enterprise, OpenCart, Magento  และ 3dcart เป็นต้น

 

ข้อดีของการโฟกัสตลาด B2B E-Commerce

หากจะพูดถึงข้อดีของการทำ B2B E-Commerce อาจแบ่งออกได้หลายประการ ดังนี้

1) เข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ : โลกออนไลน์ ทำให้คนไกลได้ใกล้กัน และทำให้คนไม่รู้จักมาเจอกันได้ กับโลกธุรกิจเองก็เช่นกัน เครื่องมือบนโลกออนไลน์ เช่น ช่องทางเว็บไซต์ ฯลฯ ที่มีหน้าแคตตาล็อกที่เปิดเผยให้สาธารณะได้เข้ามารับชมได้ง่าย เน้นทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่กำลังสนใจในสินค้าหรือบริการของคุณ

2) จัดการซัพพลายเออร์และลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ : หลายครั้งที่เครื่องมือดิจิทัลสามารถช่วยให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการซัพพลายเออร์และลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ช็อปปิ้งที่ดีขึ้น และรักษาความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ลดการทำงานไปได้หลายฝ่าย

3) เสนอขายให้ลูกค้าเดิมได้โดยไม่ลำบากใจ : ลองนึกภาพดูว่า เวลาเราเจอคนเดิมๆ มาขายของให้บ่อยๆ แต่บางช่วงเราอาจจะไม่พร้อมหรือยังไม่สนใจ ก็อาจจะตอบกลับไปไม่ถูก แถมกลายเป็นว่าไม่กล้าซื้อขายด้วยอีกเลย ในขณะที่ทางออนไลน์คุณสามารถติดตั้งโปรแกรมช่วยเสนอขาย ให้เปิดการขายได้อย่างต่อเนื่อง ขายได้อัตโนมัติ และลูกค้าสามารถเจอสิ่งที่กำลังมองหาได้อย่างสะดวกและสบายใจ โดยที่ไม่ต้องถามกลับไป-มาบ่อยๆ

4) วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้แบบเชิงลึก : หมดยุคกับการนั่งเสี่ยงดวงเดาใจลูกค้า เพราะคุณสามารถสร้างแพลตฟอร์มและแคมเปญช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้เชิงลึก แม้แต่ผู้ที่สนใจแต่ยังไม่เคยซื้อขายกับองค์กรของคุณก็ตาม เพราะในทุกแพลตฟอร์ม B2B E-Commerce จะมีระบบที่คอยช่วยเก็บข้อมูล วิเคราะห์ แสดงรายงานที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ ทำให้เห็นว่าใครกำลังสนใจอะไรในร้านของคุณ และอื่นๆ ทำให้เสนอขายและปิดการขายได้ง่ายขึ้น

แนวโน้มของ B2B ECommerce ในอนาคต

แน่นอนว่า B2B E-Commerce จะกลายเป็นช่องทางการขายที่สำคัญในยุคตลาดดิจิทัลที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ ณ ขณะนี้ ยิ่งเกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 จนพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เห็นได้ชัดจากการคาดการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ B2B  ของสหรัฐอเมริกาโดย Forrestor ว่า มูลค่าตลาดจะสามารถกลับไปแตะที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในปี 2566 นี้

หรือแม้แต่อย่างไทยเอง ในปีที่ผ่านมามูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซก็สามารถโตจนก้าวขึ้นไปแตะ 270,000 ล้านบาท และถูกคาดการณ์ว่าในปีนี้จะเติบโตขึ้นราว 35% เลยทีเดียว คงพอจะสะท้อนให้หลายธุรกิจเห็นถึงความสำคัญของ e-Commerce ไม่เว้นแม้แต่รูปแบบ B2B E-Commerce ที่มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นช่องทางสำคัญของธุรกิจสูง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบการที่กำลังเปลี่ยนรุ่นไปสู่คนยุคมิลเลนเนียลและถัดไปเรื่อยๆ ซึ่งเติบโตมากับการใช้เทคโนโลยี แทนที่กลุ่มคน Baby Boomer และ Gen x

 

สำหรับ SMEs ที่กำลังคิดว่า E-Commerce ไม่ตอบโจทย์สำหรับการทำธุรกิจรูปแบบ B2B อาจจะต้องลองปรับมุมมองและเริ่มต้นศึกษา เพื่อเตรียมตัวลงทุนให้กิจการของคุณก้าวทันโลกที่กำลังหมุนไปด้วย Digital Economy เพราะการทำ B2B E-Commerce ก็เปรียบได้กับหน้าร้าน การตั้งทำเลดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง หากวันนี้กิจการของคุณกำลังมีแค่เพียงออฟไลน์ ก็คงไม่ต่างจากการตั้งหน้าร้านในมุมอับยากที่คนจะเข้าถึง

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333