เปลี่ยนอย่างไร? ถึงรอดในสมรภูมิค้าปลีกยุคนี้

ปัจจุบันค้าปลีกในโลกแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังต้องสู้กับเทคโนโลยีการค้าปลีกออนไลน์ในยุคดิจิทัล ที่มีผู้เล่นหน้าใหม่โดดเข้ามาชิงมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งยังต้องมาเผชิญกับวิกฤตโควิด 19 ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ให้หันมาใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารและการใช้ชีวิตประจำวันอีก

ดังนั้น การปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อก้าวให้ทันสถานการณ์และฉีกหนีคู่แข่งให้เร็วจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

จะเห็นว่าผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งในไทยและต่างประเทศต่างหันมาเพิ่มศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทข้อมูล การบริหารจัดการร้านค้า การชำระเงิน การจัดทำแอปพลิเคชันออนไลน์ รวมถึงการใช้ระบบหุ่นยนต์หรือ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการค้าปลีกในฝั่งตะวันตกอย่าง Walmart ซึ่งต้องฝ่าวิกฤตทั้งโควิด 19 และพายุ Digital Disruption ทำให้วอลล์มาร์ทตัดสินใจลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ด้วยการนำเทคโนโลยีสำหรับการจัดการวางสินค้ามาช่วยบริหารสินค้าคงคลังภายในร้าน หรือที่เรียกว่า นวัตกรรมชั้นวางสินค้า (Shelf level Innovation )

ด้วยการติดกล้องวงจรปิดสำหรับติดตามสต็อกสินค้าบนชั้นวาง หรือที่เรียกว่า Shelf Camera เพื่อให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าบนชั้นวางได้ทันทีแบบเรียลไทม์ และมีระบบแจ้งเตือนพนักงานมาเติมสินค้าเมื่อสินค้าบนชั้นวางเหลือน้อยหรือหมด ช่วยลดความหงุดหงิดของลูกค้า ทำให้ไม่ต้องไปเดินตามหาพนักงานด้วย

หรือกรณี บริษัท Accenture ซึ่งเป็นที่ปรึกษาธุรกิจค้าปลีก กล่าวว่า เทคโนโลยีทีเรียกว่าป้ายบอกราคาสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Shelf Labels : ESLs เป็นที่ได้รับความนิยมในวงกว้างของธุรกิจค้าปลีก ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็กและห้าง เพราะมีจุดเด่นที่จะแสงราคาสินค้าแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบ เปรียบเทียบราคา และเปลี่ยนแปลงราคาได้ตามคู่แข่ง หรือตามโปรโมชั่นสินค้าที่ห้างจัดทำขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยลดระยะเวลาที่พนักงานจะต้องมาเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า ให้มีเวลาเหลือสำหรับไปทำงานด้านอื่นได้

ในอนาคตป้าย ESLs นี้ยังจะสามารถบรรจุข้อมูลด้านสินค้า อาทิ แหล่งที่มา ข้อมูลด้านโภชนาการ รวมถึงโปรโมชั่นต่างๆที่ร้านต้องการสื่อสารกับลูกค้าได้ทันที

นอกจากนี้ ห้างค้าปลีกยังมีความนิยมในการนำระบบหุ่นยนต์ (Robot) มาใช้เพื่อตรวจสอบนับสต็อกสินค้า โดยวอลล์มาร์ทเป็นค่ายแรกๆ ที่ริเริ่มนำมาทดลองใช้เมื่อปี 2560 ในร้านสาขา 500 แห่ง ซึ่งแนวโน้มในอนาคตการพัฒนาระบบหุ่นยนต์อาจจะสามารถขยายไปสู่การทำหน้าที่อื่นๆ ด้วย เช่น หุ่นยนต์ในระบบรักษาความปลอดภัย หุ่นยนต์ทำความสะอาด

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในห้างค้าปลีกยังมีข้อจำกัดเรื่อง “ต้นทุน” ที่ค่อนข้างสูง และยังไม่มีระบบการประกันภัยการทำงานที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่ชัดเจน

ก่อนหน้านี้ได้มีการนำ “ระบบแจ้งเตือนการเข้าคิวร้าน” มาใช้มากขึ้น และเริ่มมีการพัฒนามาใช้อย่างกว้างขวางหลังโควิด 19 ที่ประเทศต่างๆ มีการจำกัดจำนวนลูกค้าที่จะสามารถเข้าไปใช้บริการในร้านได้ไม่เกินกี่คน เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้มีการสร้างแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนลูกค้า

เมื่อถึงเวลาที่สามารถเข้าไปได้ หรือเพื่อเป็นระบบให้ลูกค้าสามารถจองเวลาที่ต้องการมาใช้บริการ อำนวยความสะดวก ลดการเข้าคิวหน้าร้านที่ต้องพบปะผู้คนลงได้ ซึ่งในประเทศไทยก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น QQ เป็นต้น

สุดท้ายที่เห็นชัดเจนว่าเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลาย คือเทคโนโลยีเกี่ยวกับ “การชำระเงินที่ทันสมัย” ที่เริ่มมีการใช้อย่างจริงจังช่วงโควิด เพื่อลดการสัมผัส ซึ่งเรียกกว่าระบบชำระเงินที่ไร้การสัมผัส (Contactless) ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้คิวอาร์โค้ด การชำระเงินผ่านทางนาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ ซึ่งเป็นการใช้ฟังก์ชั่นในการชำระเงินเพียงแตะนาฬิกาลงที่เครื่องจ่ายเงินก็สามารถชำระเงินได้ จากนั้นพนักงานขายก็จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวเงินที่เข้าบัญชี

อย่างกรณีล่าสุดทางประเทศจีนได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินผ่านทางหน้าตาของผู้ซื้อ หรือที่เรียกกว่า Facial Payment หรือการใช้วิธีการชำระเงินผ่านฝ่ามือ หรือ Palm-Recognition ของลูกค้าที่ซื้อสินค้าในร้าน  Amazon Go ในสหรัฐ

อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบนี้เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกของลูกค้า แต่ก็จะต้องมีการคำนึงถึงความแม่นยำในการคำนวณราคาสินค้าป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333