การตลาดบน Twitter เพิ่มยอดขายด้วยการ ‘คุย’

การตลาดบน Twitter เพิ่มยอดขายด้วยการ ‘คุย’
การตลาดบน Twitter เพิ่มยอดขายด้วยการ ‘คุย’

การตลาดออนไลน์ทุกวันนี้มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ และในขณะที่บางธุรกิจยังสนใจยอดคลิก ยอดไลก์โพสต์ ยึดติดกับการตลาดออนไลน์ด้วยเครื่องมือและช่องทางเดิมๆ ทำให้เกิดภาพการแข่งขันและทุ่มเงินค่าโฆษณาไปมาก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ แต่สำหรับในแพลตฟอร์ม Twitter เขาไม่ทำกันแบบนั้น เพราะกลยุทธ์ที่ดีที่สุดบน Twitter คือการ ‘คุย

ด้วยเหตุนี้ พื้นที่สื่อสารบน Twitter ที่ผ่านมา จึงมุ่งเน้นการสื่อสารด้วยประโยคสั้นๆ เพื่อสร้างการสนทนาเป็นวงกว้าง โดยหัวข้อการสนทนามีตั้งแต่เรื่องของอีคอมเมิร์ซ กีฬา ความงาม แฟชั่น หรืออาหาร ผู้คนทั่วโลกต่างคอนเน็กต์และพูดคุยสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน

การจะมุ่งสร้างแบรนด์พื้นที่ Twitter จึงต้องสร้างบทสนทนาขึ้นมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ผ่านมุมมองต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการวางตำแหน่งของการเป็นผู้นำทางความคิด ที่สำคัญบทสนทนายังช่วยสร้างการรับรู้ในตัวสินค้าหรือแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นวิธีที่สามารถเปลี่ยนสถานะคนที่ติดตามแบรนด์ให้เป็นลูกค้าประจำ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

5 เคล็ดลับจาก ‘บทสนทนา’ สู่ลูกค้าประจำ  

1. เพราะผู้บริโภคทุกคนไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องคิดถึงผู้บริโภคเป็นหลักว่า ใครคือผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ มีรสนิยมและสไตล์อย่างไรบ้าง แต่ละชุมชนต่างก็มีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงเรื่องของการใช้ภาษา สำหรับประเทศไทย ประชากรบนทวิตเตอร์ในประเทศไทยนับได้ว่ามีความหลากหลาย ซึ่งแบ่งออกเป็น Gen Y (37.6%), Gen Z (31.1%), Gen X (28.2%) และ เบบี้ บูมเมอร์ (3.1%) ผู้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการให้ลำดับความสำคัญของคนแต่ละเจนล้วนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การที่จะสื่อสารกับแต่ละกลุ่มประชากรก็ต้องมีความแตกต่างกันเช่นเดียวกัน

 

2. แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก การสร้างบทสนทนาต้องเป็นไปในแง่บวกและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบรนด์ควรจะต้องมีภาพของความเป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ยินดีที่จะน้อมรับกับความคิดเห็นและฟีดแบ็กต่างๆ รวมถึงการให้คุณค่ากับไอเดียใหม่ๆ และคำแนะนำจากผู้บริโภคและนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ต่อไป ทวิตเตอร์นับเป็นช่องทางที่ทำให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ในแบบที่ไม่เหมือนกับช่องทางอื่นๆ และด้วยจุดแข็งนี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้

 

3. จากบทสนทนา…สู่ความต้องการซื้อ : บทสนทนาที่ดีจะสามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้า อยากจะค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ มากขึ้น อยากที่จะคลิกเข้าไปดูสินค้าในเว็บไซต์ หรืออยากที่จะใช้โค้ดหรือคูปองส่วนลดเพื่อซื้อสินค้า โดยคนที่เป็นกระบอกเสียงของแบรนด์สามารถกระตุ้นหรือช่วยจุดกระแสให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับสินค้าได้

จากข้อมูลของ Statista Global Consumer Survey พบว่า 59% ของนักช็อปออนไลน์ในประเทศไทยเห็นด้วยว่าการรีวิวของคนบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งช่วยให้พวกเขาตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าอะไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นต่างๆ ของผู้บริโภคคนอื่นมีความสำคัญ และอาจเปลี่ยนให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าได้ แบรนด์จึงจำเป็นต้องรับฟังทุกความคิดเห็นในบทสนทนา ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการชี้แจง และให้เหตุผลเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

 

4. สร้างแรงบันดาลใจด้วยบทสนทนา ระหว่างที่มีการสนทนา แบรนด์ควรระมัดระวังไม่ให้ดูพยายามตั้งใจขายสินค้ามากจนเกินไป เนื่องจากทวิตเตอร์เป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้ามาพูดคุยและแบ่งปันความคิดเห็น ซึ่งการรีวิวที่จริงใจและตรงไปตรงมานี้เองที่เป็นกระบอกเสียงอันทรงพลัง แบรนด์จึงควรสนใจในบทสนทนา ทำความเข้าใจผู้บริโภคและเคารพพวกเขา พูดคุยแลกเปลี่ยนบทสนทนาให้ตรงกับหัวข้อนั้นๆ ไม่ใช่ตั้งใจขายแต่สินค้าอย่างเดียวเท่านั้น

5. คิดให้ไกลกว่าแค่ปิดการขาย : แบรนด์ส่วนใหญ่โฟกัสกับการสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อสินค้า และปิดการขายให้ได้ หรือนึกถึงแต่ยอดขายเป็นหลัก ซึ่งหลายๆ ครั้งไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่มาถึงจุดที่แบรนด์อาจลืมไปแล้วว่าการสนทนากับลูกค้าเป็นพลังที่สำคัญ โดยการสนทนาสามารถสร้างความภักดีได้ ผู้บริโภคที่มีความพึงพอใจในตัวสินค้า สามารถกลายมาเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ได้

 

การสนทนาจะนำไปสู่การกลายมาเป็นกระบอกเสียงที่ดีที่สุดของแบรนด์ ทั้งนี้ ทวิตเตอร์จึงเป็นพื้นที่พิเศษไม่เหมือนใคร ที่ผู้บริโภคสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่มีต่อสินค้าและสามารถสร้างอิทธิพลต่อคนอื่นๆ พร้อมทั้งสามารถกระตุ้นยอดขายให้กับแบรนด์ได้

แหล่งอ้างอิง Twitter Thailand (@TwitterThailand) 

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333