น้ำหอมจากขนแพะ ฝีมือนักวิจัยไทย โดดเด่น มีกลิ่นเฉพาะตัว เลียนแบบยาก!

น้ำหอมจากขนแพะ ฝีมือนักวิจัยไทย โดดเด่น มีกลิ่นเฉพาะตัว เลียนแบบยาก!
น้ำหอมจากขนแพะ ฝีมือนักวิจัยไทย โดดเด่น มีกลิ่นเฉพาะตัว เลียนแบบยาก!

น้ำหอมจากขนแพะ ฝีมือนักวิจัยไทย โดดเด่น มีกลิ่นเฉพาะตัว เลียนแบบยาก เตรียมใช้ประโยชน์ ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ดร.ขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. นำเสนอผลงานวิจัยพัฒนา “ผลิตภัณฑ์น้ำหอมจากขนแพะ : HIRCUS”

ซึ่งทาง วว. นำนวัตกรรมการสกัดขนแพะมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอม ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ผ่านการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแพะ (การสกัดแยกกลิ่นและศึกษา Male Pheromone จากขนแพะเหลือทิ้ง) ให้นำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต โดยผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่พัฒนาสำเร็จมีกลิ่นเฉพาะตัว โดดเด่น และลอกเลียนแบบยาก

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยพบว่า เมื่อนำขนแพะมาสกัด มีกลิ่นหอมที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นน้ำหอมได้ เนื่องจากมีกรดไขมัน (Fatty Acid) สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เมื่อนำมาพัฒนาเป็นน้ำหอม นอกจากได้เป็นกลิ่นน้ำหอมแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอางในระดับอุตสาหกรรมได้

หากนำมาใช้แพร่หลายจะทำให้เกิดความต้องการจากท้องถิ่นและทำให้ขนแพะมีมูลค่าสูง สามารถจำหน่ายได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมนโยบาย BCG ในการเป็น Circular Economy สามารถสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ มีคุณค่า

ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของประเทศ เพื่อการแข่งขันกับนานาชาติ และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่เป็น Green Economy ในนโยบาย BCG

“…การวิจัยซื้อขนแพะจากจังหวัดกระบี่มาราคา 1,000 บาท ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องใช้ขนแพะปริมาณ 100 กรัม จะได้สารสกัด 0.5 มิลลิกรัม ผลิตเป็นน้ำหอมได้ 3 ขวด สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้ประมาณ 9 กลิ่น เป็นกลิ่นสำหรับผู้หญิง 7 กลิ่น และกลิ่นสำหรับผู้ชาย 2 กลิ่น ขณะนี้มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป หรือเป็นที่ปรึกษาเพื่อทำน้ำหอมเฉพาะส่วนบุคคล”

“ส่วนการพัฒนาต่อจากนี้อาจเป็นการนำสิ่งที่เหลืออยู่ ได้แก่ ขนแพะที่เหลือจากการสกัดสารออกแล้ว หรือ ขนแพะที่สะอาดแล้ว โดยอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรงปัดแก้มขนแพะ ซึ่งมีราคาแพงในตลาดต่างประเทศ และอาจพัฒนาการใช้ประโยชน์ในรูปแบบเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชั่น (Encapsulation Technology) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการวิจัยนี้สามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่ เนื่องจากโครงการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดกระบี่ เช่น อาจนำไปใช้ในกิจการโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น…” ดร.ขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2577-9000  E-mail : [email protected]  เว็บไซต์  www.tistr.or.th