เผยแพร่ |
---|
‘บ้านลูกชุบ’ สรรค์สร้างสุดประณีต เลอค่าขนมไทย
“ร้านเราไม่ได้ขายแค่ขนม เราทำธุรกิจแอบแฝง ขายความรู้สึกดีๆ ที่ทุกคนมอบแก่กันผ่านขนมบ้านลูกชุบของเรา”
คุณสินีนาฏ ประเสริฐภักดี เจ้าของธุรกิจบ้านลูกชุบ กล่าวเปื้อนยิ้มและภูมิใจความสำเร็จของธุรกิจที่ส่งต่อมาจากคุณแม่ จากจุดเริ่ม ‘ลูกชุบพาณิชย์’ อาชีพเสริมครั้งครอบครัวรับราชการกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันขนมไทยบ้านลูกชุบถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบที่แปลกตาไปจากชุดผลไม้รวมแบบเดิมๆ ใส่เรื่องราว และความพิถีพิถัน ออกแบบเป็นชุดของขวัญลูกชุบสุดสร้างสรรค์ อีกตำนานของขนมไทยที่ถูกเล่าในอีกแง่มุมที่น่าสนใจ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ขนมไทย…ของใคร
ก่อนจะเป็นกิฟเซ็ตลูกชุบชุดผลไม้มงคล ลูกชุบชุดน้ำพริกปลาทู ลูกชุบการ์ตูน หรือแม้แต่ลุกชุบมะม่วงน้ำปลาหวานที่หน้าตาดูเปรี้ยวเข็ดฟัน แต่รสชาติหวานละมุน ซึ่งพื้นฐานขนมไทยดั้งเดิมมักมีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง น้ำตาล และมะพร้าว ก่อนเกิดการ ‘Fusion’ หรือการผสมผสานทางวัฒนธรรมอาหาร
ประวัติศาสตร์ระบุว่า ในอดีตไทยติดต่อค้าขายกับต่างชาติ และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันหลายด้าน ไม่แปลกที่แม้แต่อาหารหรือขนมจะพลอยมีวัตถุดิบที่แปลกใหม่ เพิ่มสีสันให้กับขนมไทยแบบเดิมๆ ที่เน้นหอมหวานมันก็มีสีสันและรสชาติที่ต่างไปจากเดิม
โดยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีบักทึกว่าอาหารไทยและขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดการคิดค้น พัฒนารูปแบบของขนมไทยดั้งเดิมให้มีสีสัน รสชาติ และหน้าตาที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ตามแบบไทยได้อย่างชัดเจนคือ ความประณีตและพิถีพิถันในทุกขั้นตอน รวมทั้งการใส่เรื่องราวให้ขนมไทยอีกด้วย
กระนั้นมีหลายข้อมูลที่มีการบันทึกว่า ขนมไทยบางชนิดเป็นภูมิปัญญาจากชาติตะวันตก อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ทองม้วน ที่เป็นองค์ความรู้ที่ ‘ท้าวทองกีบม้า’ (Maria Guyomar de Pinha) ซึ่งเป็นลูกครึ่งโปรตุเกส–ญี่ปุ่น ถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘ราชินีแห่งขนมไทย’ ซึ่งเรื่องนี้ คุณสินีนาฏ ตั้งข้อสงสัยเหมือนๆ กับผู้ที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ขนมไทยทุกคนว่า เรื่องนี้มีข้อมูลที่เป็นความจริงมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในส่วนของลูกชุบที่บางตำราก็ระบุว่ามีพื้นเพมาต่างแดนเช่นกัน
แต่งเติม ‘ลูกชุบไทย สไตล์โมเดิร์น’
“พี่มองว่าขนมที่ทำจากไข่ ต้องยกให้ต่างชาติ แต่ถ้าแค่เอาถั่วมากวน แล้วชุบวุ้น ภูมิปัญญาไทยเราคิดเป็น”
หนึ่งในสมมติฐานที่ คุณสินีนาฏ คิดว่าลูกชุบ ‘น่าจะ’ เป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญามากกว่า ทั้งในแง่ของวัตถุดิบและส่วนประกอบวิธีการต่างๆ รวมทั้งข้อมูลในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าลูกชุบเป็นขนมที่เป็นภูมิปัญญาจากโปรตุเกส ซึ่งเธอเชื่อว่าความรู้ของคนเรา สามารถที่จะคิดในสิ่งเดียวกันได้ แม้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และไม่ใช่ว่าสิ่งนี้เราคิดวันนี้แล้ว จะไม่มีมนุษย์คนอื่นคิดได้เลยก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ ขนมลูกชุบที่นำถั่วมากวน ปั้นเป็นรูปทรงที่สวยงามและชุบด้วยวุ้น ซึ่งองค์ประกอบของวุ้นที่ต้องเป็นสาหร่ายทะเลเท่านั้น (ซึ่งคาดว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน) มีบางประวัติระบุว่า ขนมลูกชุบเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นขนมในรั้วในวังที่ใช้ในโอกาสพิเศษ งานเทศกาลหรือมีงานพิธีใหญ่ๆ ไม่ใช่ขนมที่จะทำกินกันทุกวัน เนื่องจากเป็นขนมที่ให้เวลาในการทำนาน ซึ่งนี่คือคุณสมบัติพื้นฐานของขนมไทยสูตรตำรับชาววังที่ถูกเผยแพร่ต่อมา
ด้วยเหตุนี้ ‘บ้านลูกชุบ’ จึงได้มีการนำขนมลุกชุบ ‘มาเล่าเรื่องใหม่’ หรือสร้าง Storytelling บอกเล่าเรื่องราวผ่านหน้าตาของขนมที่แปลกตาออกไป ไม่ใช่ลูกชุบ ‘ผลไม้รวม’ หน้าตาบ้านๆ อย่างที่เราเคยเห็นจนชินตา เปลี่ยนเป็นลูกชุบไทยสไตล์โมเดิร์น อาทิ ลูกชุบชุดผลไม้มงคล ลูกชุบรูปไข่ ลูกชุบรูปการ์ตูน ซึ่งมีหลายหลายรูปแบบให้เลือกซื้อหา เหมาะแก่การเป็นของขวัญ ของฝากสุดพรีเมียมในทุกเทศกาล จนมีคำพูดติดปากในกลุ่มลูกค้า “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อ (อาจจะ) ไม่ได้กิน”
ปรับวัตถุดิบ สร้างสรรค์งานประณีต เพิ่มคุณค่า
คุณสินีนาฏ บอกว่า การพัฒนาเนื้อวัตถุดิบที่ใช้สำหรับทำลูกชุบ ที่ผ่านมาได้มีการทดลองไปเรื่อยๆ และเมื่อ 2 ปีที่ก่อน ได้ไปเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ทำให้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งที่เขาทำนมถั่วแอลมอนด์และนมถั่วพิสตาชิโอ เลยนำถั่วแบบของเขามาใส่ในลูกชุบของเราโดยทดแทนกะทิ กรณีถ้ามีลูกค้าเเพ้กะทิหรืออยากสั่งทำเเบบพิเศษก็มี เเต่เรามองว่าถั่วจำพวกนี้มีราคาเเพง จึงนำถั่วอัลมอนด์กับถั่วพิตาชิโอมาผสมกับถั่วเขียว จะทำให้ลูกชุบมีเนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป
โดยรวมลูกค้าชอบ รสชาติดี แตกต่าง จากเริ่มต้นที่เราพัฒนาหน้าตาของลูกชุบให้น่าสนใจ ผ่านการปั้นด้วยแรงมืออย่างประณีต แม้ที่ร้านจะมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานเร็วขึ้น แต่ในส่วนขั้นตอนที่ต้องเป็นงานฝีมือ ยังคงเป็นแรงงานคน ซึ่งมีทีมงานกว่า 50 ชีวิต ขณะที่การพัฒนาคุณภาพและรสชาติ บ้านลูกชุบสนใจที่จะนำวัตถุดิบใหม่ๆ มาเป็นส่วนผสมกับถั่วเขียว เพื่อให้ได้รสชาติที่ดียิ่งขึ้น และแน่นอนว่ามูลค่าก็สูงขึ้นด้วย
และอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ ตลาดลูกชุบอาจไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นของแทนใจ แทนคำขอบคุณ หรือของที่จะลึกเสียมากกว่าของกิน
‘บ้านลูกชุบ’ ช่องทางจำหน่ายที่เปลี่ยนไป
คุณสินีนาฏ เล่าว่า โดยก่อนหน้านี้บ้านลูกชุบมีออร์เดอร์ประจำจากร้านอาหารรายใหญ่และโรงแรม ในช่วงแรกตอนที่ย้ายมาที่กรุงเทพฯ แถวถนนอรุณอมรินทร์ (ก่อนหน้านั้นอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี) จากตอนแรกที่ทำลูกชุบส่งขายที่โรงแรมเพราะอยากให้คนรู้จักเรามากขึ้น แต่ปัจจุบันไม่ได้ส่งให้ที่ไหนเลย เพราะมีลูกค้าหน้าร้าน ขณะที่ส่วนใหญ่ในตอนนี้เป็นลูกค้าจากออนไลน์ เรามีบริการจัดส่งแบบ Delivery หรือจะมารับเองที่ร้านก็ได้
“ขนมบ้านลูกชุบต้องคงคุณภาพที่สม่ำเสมอ เราไม่ได้กำหนดว่าลูกค้าต้องเยอะ ทำพออยู่ได้ ถ้าจะทำยอดขายเยอะๆ คงต้องเหนื่อยกว่านี้”
ยิ่งพอมีตลาดออนไลน์เข้ามาช่วย ทำให้เหนื่อยน้อยลง เพราะตลาดกว้างมาก โลกออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มลูกค้าได้ โดยปัจจุบันทำการตลาดใน Facebook Instagram และ LINE ด้วยช่องทางการขายที่พัฒนาขึ้นทำให้สามารถที่จะสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง ที่สำคัญคือมี feedback กลับมาหาเราเป็น Order สินค้าที่น่าพอใจ นับเป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกมากๆ ส่วนเรื่อง Order รับไม่จำกัด เท่าไหร่ก็ทำให้ ชิ้นเดียวก็ทำได้
“ลูกค้า Order ลูกชุบ เราก็ส่งรูปไปให้ดู แล้วลูกค้าก็เลือก เราก็ประสานกับทีมงานจัดส่งไปตามที่อยู่ที่ลูกค้าระบุไว้ ก็เป็นการขายที่สนุกดี และบางครั้งคำขอบคุณที่ตอบกลับมา ก็ทำให้เราหายเหนื่อยได้”
ที่ผ่านมาแม้จะเผชิญปัญหาการระบาดของโควิด 19 แต่ขนมบ้านลูกชุบยังคงเปิดดำเนินการปกติ ลูกค้าสามารถสั่งออนไลน์ได้ปกติ และการจัดส่งแบบ Delivery ที่รวดเร็ว มีมาตรฐาน ส่งตรงถึงบ้าน ค่าบริการคิดตามระยะทางเเละน้ำหนัก ทำให้การจัดการดำเนินไปอย่างราบรื่นตามสมควร ทั้งยังคงมีออเดอร์เนืองแน่น
สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ว่า ‘ลูกชุบไทย สไตล์โมเดิร์น’ ยังคงอยู่เหนือระบบตลาดทั่วไป แต่เป็นการตลาดในรูปแบบ ‘Emotional Marketing’ สินค้าให้อารมณ์ ความรู้สึกที่อยากได้ มากกว่าอยากกิน หรืออยากให้ใครสักคน มากกว่าซื้อมากินให้อิ่ม นี่เป็นความพรีเมียมที่ลอกเลียนได้ยาก เพราะไม่เพียงเอกลักษณ์ขนมไทยที่โดดเด่น แต่ยังใส่เรื่องราวอีกมากมายผ่านการคิดอย่างสร้างสรรค์ การกวนถั่ว ปั้น ลงสี จัดแต่งและส่งต่อเรื่องราวผ่านลูกชุบเช็ตต่างๆ
รวมทั้งที่ผ่านมา ‘บ้านลูกชุบ’ ได้มีการวางระบบภายในร้านให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมี 3 สาขา คือ สาขาอรุณอัมรินทร์ สาขาจรัญสนิทวงค์ 50 และสาขาปากช่อง
คุณสินีนาฏ บอกว่า ที่ผ่านมามีต่างชาติหลายรายให้ความสนใจ และขอให้เราสอนให้ ไม่แน่ในอนาคตอาจได้เห็นองค์ความรู้ของบ้านลูกชุบไทยถูกถ่ายทอดไปในอาเซียน ซึ่งเธอไม่มีแนวคิดแบ่งแยกเรื่องเชื้อชาติ และอยากให้ความรู้นี้ถูกถ่ายทอดต่อไป รวมทั้งคนที่กำลังมองหาอาชีพ คนรุ่นใหม่ที่รักจริงในการทำขนม ซึ่งจะเป็นความรู้ที่นำไปประกอบอาชีพได้ด้วย
รู้จักบ้านลูกชุบได้ที่
https://www.facebook.com/baanlukchup
IG : baanlukchup
LineID : 0639218444
Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333