เทรนด์โพรไบโอติกส์ในจีนกระแสแรง เข้าใจผู้บริโภคโอกาส SMEs ไทย

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่เราคุ้นชินในปัจจุบัน ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตเครื่องดื่มนมเปรี้ยวเพียงอย่างเดียว แต่ได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มาส์กหน้า ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือแม้แต่อาหารสุนัขและแมวยังมีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์

Euromonitor บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโพรไบโอติกส์ทั่วโลกมีมูลค่า 222,500 ล้านหยวน และยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมโพรไบโอติกส์ทั่วโลกพบว่า ตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความโดดเด่นมากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 47 ของทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2017 จีนเป็นประเทศที่บริโภคโพรไบโอติกส์เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และอิตาลี 

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

สำหรับการผลิตวัตถุดิบโพรไบโอติกส์ขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบันก็คือ บริษัท Dupont และบริษัท Christian D.A. Hansen คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 ของการผลิตทั้งหมด โดยปัจจุบันในตลาดมีบริษัทจีนที่ผลิตวัตถุดิบโพรไบโอติกส์ยังไม่มากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น

โดยบริษัทจีนที่เป็นผู้นำในการผลิตโพรไบโอติกส์มีหลักๆ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท SCITOP BIO-TECH บริษัท WECARE-PROBIOTICS บริษัท HEBEI INATURAL BIO-TECH และบริษัท BIOGROWING โดยผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ในจีนมักจะถูกขายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการนำโพรไบโอติกส์ไปใช้ในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลายนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ ได้แก่ การผลิตโยเกิร์ต เครื่องดื่มกรดแลคติก นมถั่วเหลือง ไวน์กรดแลคติก น้ำส้มสายชู เป็นต้น และโพรไบโอติกส์ยังเป็นสารเติมแต่งในผลิตภัณฑ์อาหารว่าง อาทิ ลูกอม ไอศกรีม เบเกอรี่ ที่ให้รสชาติพิเศษ-ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง

ปัจจุบันยังมีการนำเอาโพรไบโอติกส์มาเป็นสารให้คุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็ก เช่น ลูกอม โยเกิร์ตอัดเม็ด ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน เนื่องจากช่วยในการดูแลกระเพาะอาหารของเด็ก ช่วยในการดูดซึมสารอาหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้ปกครองหันมาให้ความสำคัญและสนใจที่จะเลือกซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์ให้กับบุตรหลานมากยิ่งขึ้น

ซึ่งนอกจากอาหารและเครื่องดื่มแล้ว โพรไบโอติกส์ยังถูกนำมาใช้ในการดูแลร่างกายทั้งภายในและภายนอก อาทิ ฟัน ช่องปาก และผิวพรรณ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้า มาส์กหน้า ครีม บำรุงหน้า เซรั่ม ครีมกันแดด

โดยจากการสำรวจตลาดของบริษัท Hexa Research บริษัทวิจัยการตลาดชื่อดังพบว่า ในปี 2017 ขนาดตลาดเครื่องสำอางโพรไบโอติกส์มีมูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 8 ต่อปี โดยในปี 2025 คาดว่าจะมีมูลค่า 26.30 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยุคนี้ถือเป็นยุคทองของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ในจีน เนื่องจากได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เริ่มเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกเลือกใช้ในการผลิตอาหารสำหรับเด็กและผู้ใหญ่มากขึ้น โดยมีแนวโน้มได้รับการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ รวมถึงมีการผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการผลิตมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ได้รับความนิยม สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างทั่วถึงทุกเพศทุกวัยมากยิ่งขึ้น

การเติบโตของเศรษฐกิจที่รวดเร็วและการพัฒนาความเป็นเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนต้องเผชิญกับความกดดัน และความเครียดที่ก่อให้เกิดปัญหาการนอนไม่เพียงพอ รวมถึงการบริโภคอาหารแปรรูปในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งวิถีชีวิตที่เร่งรีบเช่นนี้อาจทำลายความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพของลำไส้มากขึ้น

โดยงานวิจัยล่าสุดของบริษัท Beneo เปิดเผยว่า ผู้บริโภคชาวจีนร้อยละ 25 มีความกังวลต่อปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารในลำไส้ และผู้บริโภคชาวจีนร้อยละ 33.3 เชื่อว่าหากร่างกายมีระบบย่อยอาหารที่ดีจะมีผลเชิงบวกต่ออารมณ์และช่วยปรับปรุงคุณภาพของชีวิตให้ดีขึ้นได้

การที่ผู้บริโภคชาวจีนหันมาตระหนักและใส่ใจถึงสุขภาพของลำไส้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (SMEs) ไทย ที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์และเส้นใยอาหารที่จะเข้ามาขยายตลาดในจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารว่างและเครื่องดื่ม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ขณะที่ผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกายอย่างเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลส่วนบุคคล ก็เป็นอีกกลุ่มสินค้าหนึ่งที่มีโอกาสในการขยายตลาด

หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์ที่ชาวจีนนิยม และมีความโดดเด่นในด้านคุณสมบัติและมีความเป็นธรรมชาติ จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นตามไปด้วย

ซึ่งการจะเจาะตลาดจีนได้นั้น ผู้ประกอบการไทยต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเผยแพร่ให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยการร่วมมือกับ KOL (Key Opinion Leader) และ KOC (Key Opinion Customer) เพื่อช่วยให้การเจาะตลาดสินค้าส่งออกเข้าสู่ประเทศจีนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคหลักในตลาดจีนได้อย่างกว้างขวาง

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

https://xw.qq.com/

https://news.21food.cn/