‘เดอ เบสท์ โกลบอล’ สร้างแบรนด์ BUTA MAX พลิกโฉมธุรกิจหมูแปรรูปไทย

เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมูอย่างที่คิด

เดอ เบสท์ โกลบอล

จากแนวคิดต้องการต่อยอด Family Business จำหน่ายเนื้อหมูสด หมูแช่แข็ง รวมถึงหมูแปรรูปต่างๆ ในโมเดิร์นเทรดชั้นนำเมืองไทยของ คุณรุจิกร วสุโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ด โปรดัคท์ จำกัด ในเครือบริษัท พี.เอส.ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด นำมาสู่การแตกไลน์สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ใหม่ BUTA MAX (บูตะแมกซ์) เปลี่ยนภาพลักษณ์ ‘หมู’ ที่เป็นอาหารให้กลายเป็นสินค้าประเภท ‘Snack’ ตอบโจทย์ความต้องการ-คว้าใจผู้บริโภคยุคใหม่ เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์และซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมี่ยม

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ค้าขายในตลาด สู่ค้าขายในห้าง

คุณรุจิกร กล่าวว่า บริษัท พี.เอส.ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด ได้จดทะเบียนบริษัทในปี 2535 เป็นธุรกิจที่ก่อตั้งโดยคุณพ่อและคุณแม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นยังเป็นกิจการที่ค้าขายอยู่ในตลาด จากนั้นบริษัทจึงเริ่มส่งสินค้าจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดอย่างจริงจัง

ห้างแม็คโครเปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่บางกะปิ เมื่อปี 2533 ขณะนั้นบริษัทส่งสินค้าในนามบุคคลธรรมดาซึ่งค่อนข้างเกิดปัญหา เช่น การวางบิล ดังนั้น ในปี 2535 คุณพ่อ-คุณแม่จึงร่วมกันจัดตั้ง บริษัท พี.เอส.ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด เพื่อผลิตสินค้าส่งขายกับทางบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด ซึ่งห้างแม็คโครถือเป็นสิ่งใหม่ของบ้านเราในตอนนั้น จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับความนิยมอย่างสูงจนต้องส่งสินค้า 2-3 รอบต่อวัน

หมูแช่แข็ง’

คุณรุจิกร เผยว่า โดยปกติเมื่อโรงงานชำแหละหมูเสร็จเรียบร้อยก็จะสามารถนำมาจำหน่ายได้ทันที แต่เมื่อส่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดต้องมีรอบเวลาการรับสินค้า ซึ่งในอดีตโรงงานของบริษัทจึงต้องผลิตในตอนกลางคืน เพื่อส่งสินค้าในตอนเช้า ดังนั้น จึงต้องมีการผ่านอุณหภูมิเพื่อให้คงคุณภาพเอาไว้ ซึ่งก็คือวิธีที่เรียกว่า ‘หมูเย็น’

โดยจุดสำคัญที่ทำให้ พี.เอส.ฟู้ด โปรดักส์ เติบโต มาจากการที่บริษัทเป็นรุ่นบุกเบิกของยุคแช่แข็ง ซึ่งตอนนั้นเป็นสินค้าขายยาก ดังนั้น บริษัทจึงร่วมกับแม็คโครโดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ให้ผู้บริโภคทราบว่าของที่ผลิตเพื่อนำไปทำแช่แข็งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เพราะเป็นการผลิตเพื่อทำแช่แข็งโดยเฉพาะไม่ใช่การนำของเหลือมาทำ ก่อนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเติบโตแบบก้าวกระโดดมาจนถึงปัจจุบัน

แตกไลน์ธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ‘ออนไลน์’

ในเรื่องนี้ คุณรุจิกร เล่าว่า บริษัท เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ด โปรดัคท์ จำกัด คือการต่อยอดธุรกิจจากบริษัท พี.เอส.ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นกิจการจำหน่ายเนื้อหมูสด ชิ้นส่วนต่างๆ ในโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก

โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พี.เอส.ฟู้ดฯ เห็นว่าเทรนด์ออนไลน์กำลังมา ซึ่งเป็นโจทย์ยากของโรงงานที่ผลิตเนื้อสด กลายเป็นคำถามไปยังผู้บริหารว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าทำธุรกิจในโลกออนไลน์ได้

พี.เอส.ฟู้ดฯ จึงแตกไลน์เป็นบริษัท เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ดฯ ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ออนไลน์โดยเฉพาะ ผลิตสินค้าใหม่ๆ ภายใต้แบรนด์ BUTA MAX (บูตะแมกซ์ออกสู่ท้องตลาด โดยเป็นของแห้งพร้อมรับประทาน มีรูปลักษณ์ฉีกจากที่เคยมีในตลาด เช่น กุนเชียง หมูทุบ หมูฝอยกรอบ บริษัทก็มีการดัดแปลงให้เป็นดีไซน์อุตสาหกรรม มีแพ็กเกจจิ้งที่ดี-คุณภาพ การยืดอายุสินค้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นห้างไฮเอนด์และตลาดออนไลน์

สินค้าของบริษัท แตกต่างกันอย่างไร?

คุณรุจิกร กล่าวว่า พี.เอส.ฟู้ดฯ มีการวางเซ็กชั่นสินค้าที่แตกต่างกันไป ผลิตภัณฑ์ของ เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ดฯ จะเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม มีความแตกต่างตั้งแต่สูตรการผลิต ไปจนถึงแพ็กเกจจิ้งที่มีการนำสไตล์ญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ เป็นต้น

แนวคิดการสร้างแบรนดิ้งเป็นอย่างไร

สำหรับเรื่องนี้ คุณรุจิกร ให้ความเห็นว่า สินค้าของ เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ดฯ จะมีการทำให้เป็นสแน็กมากขึ้น จากคนที่คิดว่าเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว เช่น กุนเชียง ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร บริษัทก็นำมาประยุกต์ทำให้เป็นขนมกินเล่นได้ ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่ฉีกออกมา สะดวกกับคนรุ่นใหม่ กินง่าย และมีการแพ็กขนาดเล็กลง พร้อมรับประทาน (Ready to eat) มากขึ้น

ทำอย่างไรให้สินค้าเป็นที่รู้จัก

ในตอนแรก คุณรุจิกร เผยว่า เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ดฯ ได้วางแผนนำสินค้าออกงานแฟร์ต่างๆ เนื่องจากการให้ผู้บริโภคได้เลิร์นนิ่งตามงานแฟร์ จะทำให้มีคนสนใจนำไปจำหน่ายเป็นวงกว้าง กระจายสินค้าทำให้เป็นที่รู้จักเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทก็มีการทำออนไลน์ แต่ช่วงนี้โควิด-19 ระบาด บวกกับเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่ บริษัทจึงมีการผลิตสินค้าแบรนด์ Ceo (ซีโอ) ผลิตภัณฑ์ประเภท Ready to eat (สินค้าพร้อมรับประทาน) ออกมา เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคนี้ มีราคาไม่สูง สะดวก รับประทานง่าย แพ็กเกจจิ้งสะอาด ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐาน

คุณรุจิกร ให้ข้อคิดเห็นว่า เจ้าของกิจการต้องมีการจัดการ Balance Part ทั้งในส่วนวัตถุดิบ ไม่ใช่แค่ขายเป็น เพียงอย่างเดียว ดังนั้น หลักในการจัดการจึงเป็นหัวใจสำคัญ เช่น มีโรงงานจำหน่ายหมูสด ขายแต่หมู แต่จัดการต้นทุนของหมูทั้งตัวไม่เป็น ธุรกิจอาจไปไม่รอด เพราะการซื้อหมูมาทั้งตัว คือต้นทุน 100%

ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงมีการลงทุนในเรื่องการแช่แข็ง ห้องเย็น ระบบการจัดเก็บสินค้า เป็นวิธียืดเวลาเพื่อรอโอกาส เพราะคำว่า Balance Part บางครั้งความหมายก็คือการรอจังหวะ และที่สำคัญ ต้องมี Channel ที่กว้างพอด้วย เช่น มันหมู บางคนกินบางคนไม่กิน แล้วจะทำอย่างไรให้คนไม่รู้สึกว่ากินมันหมู

หลังจากทำธุรกิจมา 5 ปี (ปี 2540) ทำให้รู้ว่าบริษัทเหลือมันหมูในแต่ละปีเยอะมาก ให้ฟรีก็ไม่มีใครสนใจ คุณแม่จึงเกิดไอเดียทำกุนเชียง หาสูตร-คนช่วยสอน แล้วลงมือผลิตเป็นสินค้าขึ้นมา

โดยได้มีการพัฒนาสูตร จนได้ส่วนผสมที่ลงตัว ระหว่างเนื้อหมูและมันหมู โดยใช้ประโยชน์จากเนื้อสัมผัส เพื่อไม่ให้แข็งกระด้างจนเกินไป กลายเป็นไอเทมเด็ดขายดีก็คือ ‘กุนเชียง’ เป็นต้น

มองภาพอนาคตผลิตภัณฑ์ใหม่และบริษัทใหม่เป็นอย่างไร

คุณรุจิกร กล่าวว่า สินค้าของ เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ดฯ จะค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต ธุรกิจจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญก็คือ บริษัทต้องเรียนรู้ตลาด ตามเทรนด์คนยุคใหม่ให้ทัน แล้วพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตบริษัทมองไว้ว่าจะทำอาหารสูตรคีโต เพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพด้วย

Family Business’ ข้อดีคือการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์-เทรนด์ได้เร็ว ดังนั้น คุณรุจิกร วสุโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ด โปรดัคท์ จำกัด จึงนำข้อได้เปรียบนี้มาปรับใช้ ต่อยอดธุรกิจด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่ ผลิตสินค้าตอบโจทย์ความต้องการผู้คนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ต่างๆ ได้อย่างตรงจุด

 

รู้จัก ‘บริษัท เดอ เบสท์ โกลบอล ฟู้ด โปรดัคท์ จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่

https://www.derbestglobal.com/

https://www.facebook.com/butamaxSnack

https://web.facebook.com/Ceofoodmarket