‘ผ้าลายบ่อสวก’ งานฝีมือ ‘บ้านซาวหลวง เมืองน่าน’ จากชุมชนสู่ Creative Economy

ร้อยเรียงเรื่องราว..บอกเล่าสตอรี่บนผืนผ้า

‘ทอผ้า’ ภูมิปัญญาท้องถิ่นงานอดิเรกยามว่างเว้นจากการเกษตรของชาวบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน จุดประกายแรงบันดาลใจคนในพื้นที่ในการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ก่อกำเนิด ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง’ ที่ใช้เรื่องราวเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในชุมชน มาร้อยเรียงสตอรี่ลงบนผืนผ้า กลายเป็นผ้าทอฝีมือประณีตบรรจง สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ

งานอดิเรก’ สู่วิสาหกิจชุมชน

คุณวัลลภา อินผ่อง รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง เผยว่า ชาวบ้านหมู่บ้านซาวหลวง มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ทำสวนยาง ในยามว่างกิจกรรมของผู้คนในชุมชนก็คือทอผ้า ชาวบ้านจึงได้มีการหารือกันว่างานอดิเรกนี้ น่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่ นำมาสู่การก่อตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ในปี 2527

ชูเอกลักษณ์ ทำให้เป็นที่รู้จักด้วย ‘ผ้าลายบ่อสวก’

คุณวัลลภา เล่าว่า เนื่องด้วยกลุ่มทอผ้าทั้งในจังหวัดน่านและเมืองไทยมีจำนวนมาก แม้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้านซาวหลวงจะทอผ้าสวยมีคุณภาพ แต่ก็ต้องหาจุดเด่นให้เป็นที่รู้จัก โดยเมื่อปี 2540 กรมศิลปากรได้มาขุดเจอปากไหโบราณ แหล่งเครื่องปั้นดินเผาสมัยโบราณที่มีอายุกว่า 700 ปี ในตำบลบ่อสวก ก่อเกิดแนวคิดการทำผ้าลายบ่อสวก สร้างอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้นมา

ผ้าลายบ่อสวก เกิดขึ้นจากการที่ช่างแกะลายผ้าทอในหมู่บ้านไปดูสถานที่ขุดเจอไหโบราณ แล้วจินตนาการผสมผสานกับลายดั้งเดิม ใส่สตอรี่บนผืนผ้า สร้างเรื่องเล่าให้เห็นภาพใกล้เคียงกับตำนานมากที่สุด กลายเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะบ้านซาวหลวง

ขยายตลาดทอผ้าเป็นผืน ด้วยการแปรรูป

ในเรื่องนี้ คุณวัลลภา กล่าวว่า ด้วยความที่กลุ่มทอผ้าในจังหวัดน่านมีค่อนข้างเยอะ จึงอาจเกิดการแย่งส่วนแบ่งตลาด-ลูกค้า ทางกลุ่มฯ จึงแปรรูปผ้าทอพัฒนาสินค้าให้หลากหลาย เช่น เสื้อ เสื้อคลุม ผ้าขาวม้า ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ผ้าปูเตียง จะช่วยขยายตลาดของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง และตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค

การแปรรูปมาจากผ้าทอที่นำลายผ้าซิ่นมาออกแบบเป็นการใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยขยายตลาดใหม่ๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากอาชีพหลักทางการเกษตร

จำหน่ายสินค้าอย่างไร ในช่วงโควิด-19 ระบาด

คุณวัลลภา เผยว่า ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ทางกลุ่มฯ จะไปร่วมออกงานอีเว้นต์ต่างๆ ทั่วประเทศ พอเกิดการระบาดจึงทำให้ต้องหันมาจำหน่ายทางออนไลน์ โดยสินค้าจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ลูกค้าที่เคยซื้อแล้วประทับใจในผลิตภัณฑ์

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมาเที่ยวเมืองไทย จะสั่งซื้อทางออนไลน์เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีร้านเสื้อผ้าที่ทางกลุ่มฯ รับผลิตแบบ OEM ตามออร์เดอร์

สำหรับการทอผ้า ทางกลุ่มฯ ไม่ได้บังคับสมาชิกต้องมาทอผ้าทุกวัน เพราะมีงานประจำก็คือการปลูกข้าว ทำสวนยาง เมื่อมีเวลาว่างจึงมาทอผ้า หากมีออร์เดอร์เยอะทางกลุ่มฯ จะแจ้งสมาชิกให้มาช่วยกัน ซึ่งมีทั้งการทอที่กลุ่มฯ และที่บ้าน

เล่าสตอรี่สินค้าผ่านไลฟ์ กลยุทธ์มัดใจผู้บริโภค

สำหรับเรื่องนี้ คุณวัลลภา กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง นอกจากจะมีหน้าร้าน การจัดจำหน่ายตามงานอีเว้นต์ซึ่งต้องพักชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทางกลุ่มฯ ได้มีการจำหน่ายออนไลน์ ผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊ก โดยมีการไลฟ์แล้วบอกเล่าเรื่องราวสตอรี่ของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง โดยผู้รับชมหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเข้ามา ทางกลุ่มฯ ยินดีตอบข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี

จากงานอดิเรกในอดีต ที่ปัจจุบันชาวบ้านหมู่บ้านซาวหลวงได้นำการทอผ้ามาสร้างรายได้ ผนึกกำลังกันจนเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง’ ใช้เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในชุมชนมาสร้างสตอรี่บนผืนผ้า ก่อกำเนิดจุดเด่นทำให้ ‘ผ้าลายบ่อสวก’ เป็นที่ถูกใจชาวต่างชาติและคนไทย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่

รู้จัก ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง’ เพิ่มเติมได้ที่

กลุ่มวิสาหกิจผ้าทอมือซาวหลวง

ซาวหลวงผ้าทอมือเมืองน่าน