สสว. แถลงผล การประกวดปลากัดออนไลน์ระดับชาติ ปี 2564 สำเร็จเกินคาด

สุดยอดปลากัดสวยงามกลุ่มหางสั้น

สสว. แถลงผล การประกวดปลากัดออนไลน์ระดับชาติ ปี 2564 สำเร็จเกินคาด พร้อมโครงการ พัฒนาและส่งเสริมคลัสเตอร์ SME ประจำปี 2564 

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงการดำเนินงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมคลัสเตอร์ SME ประจำปี 2564 ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้รับความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานพันธมิตร มีกลุ่มคลัสเตอร์เข้าร่วมโครงการ อาทิ คลัสเตอร์โกโก้ คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ คลัสเตอร์ Digital Content คลัสเตอร์ Health and Wellness คลัสเตอร์กระเทียม เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 30 คลัสเตอร์

ผู้ประกอบการตบเท้าเข้าร่วมโครงการ จำนวน 4,347 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 270 ล้านบาท ในส่วนของกลุ่มคลัสเตอร์ปลากัด มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 824 ราย ล่าสุดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 51 ล้านบาท แนวโน้มตลาดโตต่อเนื่อง คาดการณ์อนาคต จะมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท/ปี ขณะที่การจัดกิจกรรมไฮไลต์ “การจัดประกวดปลากัดออนไลน์นานาชาติ ปี 2564” (National Plakad Online Competition 2021) ผลตอบรับดีเกินคาด มีทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมชม และส่งปลากัดร่วมประกวด มากเกือบ 1,600 ตัว

สุดยอดปลากัดสวยงามกลุ่มหางยาว

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา สสว. ได้มีการดำเนิน โครงการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์ SME ปีงบประมาณ 2564 โดยมีเป้าประสงค์ เพื่อกระตุ้นความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการ คำนึงถึงความต้องการของตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มคลัสเตอร์อย่างยั่งยืน

“เราได้มีการดำเนินการร่วมกับ 5 หน่วยงานพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันอาหาร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีจำนวนคลัสเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย 11 กลุ่มคลัสเตอร์ ได้แก่  Digital Content ปลากัด โกโก้ Health and Wellness Economy กระเทียม ทุเรียน สมุนไพร แปรรูปประมงน้ำจืด แปรรูปอาหารทะเล เกลือ และไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งสิ้น 30 คลัสเตอร์”

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไป ถึงผลดำเนินการถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 4,347 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 270 ล้านบาท โดยมีการสร้างนวัตกรรมของแต่ละคลัสเตอร์ เป็นต้นว่า คลัสเตอร์ Health and Wellness Economy : เทคโนโลยีผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่น สู่ “ผ้าคอลลาเจน พัฒนาเส้นใยธรรมชาติใหม่ๆ และออกแบบชุดกีฬาให้มีฟังก์ชั่นมากขึ้น
คลัสเตอร์ Digital Content :
ใช้นวัตกรรมรูปแบบ Virtual Museum ยกระดับผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ : ระบบการควบคุมอัจฉริยะ (Smart Farm) ให้น้ำ ปุ๋ย ผ่านสมาร์ตโฟน และการนำระบบแสงเทียมเร่งการเจริญเติบโต และการออกดอกอย่างมีคุณภาพ คลัสเตอร์ปลากัด : พัฒนาระบบ Web Application ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเปิดออกซิเจนในน้ำ และที่เป็นไฮไลต์ คือ การจัดกิจกรรมประกวดปลากัดนานาชาติออนไลน์ ปี 2564 เมื่อวันที่ 18-19 กันยายนที่ผ่านมา

นายวีระพงศ์ ยังได้กล่าวต่อไปถึง “คลัสเตอร์ปลากัด” และแนวโน้มตลาดปลาสวยงามในปี 2564 ทั้งในประเทศและการส่งออกว่า จากข้อมูลกรมศุลกากรพบว่า ในปี 2563 “ปลากัดไทย” มีการส่งออกไปยัง 74 ประเทศทั่วโลก มูลค่า 213.66 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของมูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำสวยงาม โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 108,282,383 บาท (50.68%) รอลงมาได้แก่ จีน อิหร่าน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ตามลำดับ และคาดการณ์ว่าในอนาคต ปลากัดไทยจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“คลัสเตอร์ปลากัดเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์ที่ สสว. ดำเนินโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในปีนี้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 824 ราย แบ่งออกเป็น 6 คลัสเตอร์ย่อย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้ถึง 51,138,000 บาท จะเห็นได้ว่าความต้องการปลาสวยงามในตลาดต่างประเทศ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับการส่งออกปลากัด แต่เป็นเพียง 1 เดือนเท่านั้น คือ ช่วงเดือนเมษายน ปี 2563 ที่มียอดการส่งออกลดลง แต่หลังจากเดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา ยอดการส่งออกปลากัดก็กลับมาสู่สภาวะปกติ คือ ส่งออกเดือนละประมาณ 1.5-2 ล้านตัว มูลค่าประมาณ 15-20 ล้านบาท/เดือน และยังคงมีมูลค่าและปริมาณการส่งออกสูงสุดในกลุ่มสัตว์น้ำสวยงามของไทย

สุดยอดปลากัดสวยงามกลุ่มหางสั้น

ทั้งนี้ คลัสเตอร์ปลากัด ได้รับการสนับสนุนจาก สสว. มาเป็นระยะเวลา 3 ปี แล้ว ตั้งแต่ปลากัดยังไม่เป็นสัตว์น้ำประจำชาติของไทย จนปัจจุบัน นอกจากนี้ ปลากัดไทยถือเป็นสัตว์น้ำสวยงามที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด ในกลุ่มสัตว์น้ำสวยงาม

ซึ่ง สสว. ได้มีการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ปลากัดมาเป็นลำดับ ตั้งแต่การส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบของภาครัฐร่วมกับกรมประมง โดยช่วงแรกจะเน้นให้ผู้ประกอบการการเกษตรขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงปลากัด (ทบ. 1) และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยง (GAP) ต่อมาได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานด้านการประกวดปลากัดขึ้น

สุดยอดปลากัดสวยงามกลุ่มหางยาว

เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาสายพันธุ์และสีสันของปลากัดที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งให้มีการวางระบบการบริหารจัดการน้ำ และการตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพื่อให้ได้มาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยง และในปี 2564 สสว. ยังคงเน้นการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งควบคู่ไปกับมาตรฐานของสินค้า พร้อมผลักดันให้เกิดการสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้รู้จักและเห็นถึงศักยภาพความเข้มแข็งของคลัสเตอร์ปลากัด เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตปลากัดของโลก รวมทั้งพัฒนา Web Application เพื่อแก้ปัญหาในการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบการ

สำหรับไฮไลต์ ของ “คลัสเตอร์ปลากัด” ในปีนี้ คือ สสว. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสมาคมปลากัด จัด การจัดกิจกรรมประกวดปลากัดนานาชาติออนไลน์ ปี 2564 (National Plakad Online Competition 2021) ขึ้น เมื่อวันที่ 18-19 กันยายน ที่ผ่านมา นับเป็นการจัดประกวดปลากัดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

“งานนี้เราเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าร่วม ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายปลากัดไทยแล้ว ยังเป็นการขยายตลาดปลากัดของไทยไปสู่สากลอีกด้วย นับเป็นการกระตุ้นในเกิดตลาดการซื้อ/ขาย และสร้างกระแสความต้องการปลากัดได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ ยังเน้นให้มีความหลากหลายของสายพันธุ์และสีสัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในวงกว้างต่อไปได้” นายวีระพงศ์ กล่าว

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การจัดงานประกวดได้ปรับเป็นออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดระบบการรวบรวม และจัดการข้อมูลปลากัดผ่าน Web Application มีการประกวดมากถึง 54 รุ่น แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ การประกวดทั้งปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือปลากัดป่า จำนวน 18 รุ่น และการประกวดปลากัดสวยงามที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันที่สวยงาม จำนวน 36 รุ่น

สุดยอดปลากัดพื้นบ้านกลุ่มพัฒนารูปทรงและสีสัน

มีผู้สนใจส่งปลากัดเข้าร่วมการประกวด แบ่งเป็นปลากัดสวยงาม จำนวน 928 ตัว ปลากัดป่า จำนวน 662 ตัว รวมปลากัดที่ส่งเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ มากถึง 1,590 ตัว ภายในงานผู้ชมต่างตื่นตาตื่นใจกับไฮไลต์การประกวดปลากัดป่าดั้งเดิมที่พัฒนาทั้งให้มีสีสันและรูปทรงต่างๆ ที่ยังไม่เคยมีการจัดประกวดมาก่อน ส่วนปลากัดสวยงาม ได้พบกับการประชันโฉมความงามของธงชาติไทยบนตัวปลากัด  และค้นหาสุดยอดปลากัดที่มีลายและสีเหมือนธงชาติไทย ที่สำคัญ งานนี้มีต่างชาติติดตามการประกวด และเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก กว่า 10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม

สำหรับผลการประกวด ปรากฏว่า ผลการประกวดสุดยอดปลากัดป่าพื้นบ้านกลุ่มดังเดิม (THE BEST OF ORIGINAL WILD PLAKAD) เป็นปลากัดป่าอีสานหางลาย (Betta smaragdina sp. Guitar) ของนายวีระยุทธ แก้วสีขาว ฟาร์มพัฒนาปลากัด

สุดยอดปลากัดพื้นบ้านกลุ่มดั้งเดิม

สุดยอดปลากัดป่าพื้นบ้านกลุ่มพัฒนารูปทรงและสีสัน (THE BEST OF HIBRID WILD PLAKAD) เป็นปลากัดป่าอีสานหางลายพัฒนาสีสัน (Color Modified of Betta smaragdina sp. Guitar) ของนายสุจจา สานราษฎร์ ฟาร์มพัฒนาปลากัด สุดยอดปลากัดสวยงามกลุ่มหางสั้น (THE BEST OF SHORT FINS PLAKAD) เป็นปลากัดครีบสั้นรูปหางทรงพระจันทร์ครึ่งดวง ลายดวงดาว (Halfmoon plakad : Star Pattern) ของ TokToy Betta Farm

สุดยอดปลากัดสวยงามกลุ่มหางยาว (THE BEST OF LONG FINS PLAKAD) เป็นปลากัดครีบยาวรูปหางทรงพระจันทร์ครึ่งดวง (Halfmoon) ชื่อปลากัด “เจ้าทิพฟี่” ของนายเกียรติชัย ศิริกระจาย ร้านปลากัดสวยงามปากช่องเขาใหญ่ By afffe และผลการประกวดสุดยอดปลากัดสีธงชาติไทย (Thai Flag Color) เป็น ปลากัดครีบสั้นหางพระจันทร์ครึ่งดวง (Halfmoon plakad) ชื่อปลากัด “เจ้าไทไท” ของนายวีระศักดิ์  ลิ้มตระกูล ร้าน Aqua King Thailand