คืนถิ่นเพราะโควิด คิดหาอาชีพใหม่ เปลี่ยนฝนเป็นทุน

เมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีจี ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. จัดงานเสวนาออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM ในหัวข้อ “ชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทุน” โดยมีเรื่องราวจากปากคำของ “คนคืนถิ่น” เพราะฤทธิ์โควิด-19 มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

อยากรู้พวกเขากลับไปทำอะไร อาชีพใหม่ แบบไหน ที่ตั้งต้น ทำให้ตั้งตัว รอดพ้นวิกฤตใหญ่ครั้งนี้
.

.

.

ตกงานจากไซต์ก่อสร้าง หวนบ้านเกิด ปลูกผัก เลี้ยงปลา

คุณจันทร์-จันทร์สุดา กุลสอนนาม
คุณจันทร์-จันทร์สุดา กุลสอนนาม

คุณจันทร์-จันทร์สุดา กุลสอนนาม หนึ่งในผู้คนนับล้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตกงานจากไซต์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ กระทั่งต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ที่บ้านเกิด จังหวัดขอนแก่น

“ทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างมา 20 กว่าปี จนแคมป์คนงานโดนสั่งปิด ตัดสินใจกลับบ้านที่ขอนแก่น เพื่อไปทำอาชีพเกษตร เนื่องจากพอมีที่ดินอยู่บ้างแต่แล้งน้ำ พอกลับมา ไปขอพักกับพ่อเข็ม ซึ่งทำเกษตรอยู่แล้ว ก็ช่วยทำและพักอยู่ด้วย จนพ่อเข็มยกที่นาประมาณ 5 ไร่ ให้มาทำเกษตร แล้วก็ให้บ่อปลามา อีก 1 บ่อ เลยตัดสินใจเลี้ยงปลาหมอ ปลาดุก และปลูกพริก แตงกวา และถั่ว” คุณจันทร์ เล่า

ก่อนบอกอีกว่า ตอนอยู่กรุงเทพฯ รายได้ต่อวัน 500 บาท ทำไปโดนโกงไป ก่อนกลับขอนแก่น ยังโดนโกงค่าแรงอีก 30,000 บาท กลับมาอยู่บ้านทั้งๆ ที่ไม่มีทุน แต่มาถึงรู้ว่าอากาศดี ได้อยู่กับครอบครัว เรียนรู้วิถีชาวบ้าน ชาวไร่ และคิดว่าคงไม่กลับไปแล้ว

ส่วนพ่อเข็ม ซึ่งคอยช่วยเหลือคุณจันทร์ให้เริ่มต้นนับหนึ่งได้ที่บ้านเกิด กล่าวเสริมว่า เห็นว่าคุณจันทร์ เป็นคนขยัน สนใจใฝ่รู้ ถ้าช่วยส่งเสริมน่าจะไปได้ดี แต่ก่อนจะช่วย ตัวเขาเอง มีทุนเรื่องน้ำ ที่เก็บใช้มาอย่างประหยัด อยู่ก่อนแล้ว

“ปลูกผักใช้น้ำมือสอง ที่มาจากสระจากบ่อ มารด ตอนนี้ฝนเริ่มตก ต้องเริ่มเก็บเพื่อมาสู้ฤดูแล้งต่อ เพราะแล้งมาหลายปี ต้องวางแผนบริหารที่ดิน และจัดการน้ำให้ดี เพราะไม่ได้ใช้คนเดียว แต่มีคนที่เราช่วยเหลือ เขาพึ่งพาน้ำจากเราด้วยเหมือนกัน นี่เป็นวิธีบริหารจัดการน้ำของเรา” พ่อเข็ม ว่าอย่างนั้น

อดีต BA ห้าง ทำเกษตรพืชน้ำน้อย ขายผักหวานออนไลน์

คุณหนิง-ลลิสสา อุ่นเมือง
คุณหนิง-ลลิสสา อุ่นเมือง

คุณหนิง-ลลิสสา อุ่นเมือง อดีตพนักงานขายเครื่องสำอาง ชีวิตพลิกผันเพราะโควิด ต้องเดินทางกลับบ้านเกิด เริ่มต้นอาชีพทำเกษตรพืชน้ำน้อย ตั้งตัวใหม่ที่บ้านเกิด จังหวัดพะเยา

“อยู่กรุงเทพฯ 3 ปี ตอนโควิดมา 2 ระลอกยังพออยู่ได้ แต่พอระลอก 3 อยู่ไม่ไหว ช่วงเดือนกุมภาที่ผ่านมา จึงตัดสินใจกลับบ้าน ซึ่งที่บ้านแม่ทำสวนมะขามอยู่ก่อน เลยช่วยแม่เก็บมะขามไปขาย แต่มะขามเป็นพืชตามฤดู 1 ปีเก็บผลผลิตได้ครั้งเดียว จึงมานั่งคิดต่อว่า จะทำยังไงเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในแต่ละวัน” คุณหนิง เกริ่นให้ฟัง

ก่อนบอกต่อ ปรับตัวทำงานที่บ้านเกิดยากเหมือนกัน แต่โชคดีที่มีต้นทุนด้านเกษตร ทั้งที่ดินและสระน้ำ แต่สระน้ำ มีอุปสรรคบ้าง เพราะในชุมชน มีการทำฝายท่อนำน้ำเข้าสระ เพื่อเก็บไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง จึงคิดต่อยอด จะปลูกผักอายุสั้น ที่ใช้น้ำน้อย อย่าง แตงกวา แตงไทย มะเขือเทศ พริก มะเขือพวง ทำให้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5 พันบาท ถือว่าพออยู่ได้ เพราะที่บ้านไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก เมื่อเทียบกับตอนใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ

“โควิด ทำให้ได้คิด บ้านเกิดเป็นที่พักพิงและเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่รู้จบ สามารถต่อยอดนำพืชท้องถิ่นมาสร้างรายได้ เช่น นำผักหวานป่ามาขายออนไลน์ ทำแพ็กเกจสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และที่สำคัญ เมื่อรู้ว่าจะได้น้ำ จงหาสระ หาภาชนะ นำมาเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพราะน้ำเป็นทุนของชีวิตที่ไม่ต้องลงทุนอะไร” คุณหนิง เผย

ปลดหนี้หลักล้าน เริ่มต้นใหม่ด้วยน้ำ และปลาส้ม

คุณเก๋-ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์
คุณเก๋-ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์

คุณเก๋-ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์ ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนวังธรรม จังหวัดอุดรธานี ที่ไม่ได้กลับบ้านเกิดเพราะพิษโควิด แต่เขากลับมาก่อนหน้านี้ถึง 5 ปี และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างน่าสนใจ ที่สามารถปลดหนี้หลักล้าน เริ่มต้นใหม่ได้ด้วย “น้ำ”

“ตอนกลับมาบ้าน สร้างบ่อน้ำข้างบ้าน เพื่อให้ที่อยู่อาศัยอยู่แล้วสบายกาย สบายใจ และเป็นต้นทุนในการเลี้ยงปลาเอง ซึ่งผมพบว่าตัวเองมีความสามารถในการทำปลาส้ม โดยมีพ่อเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้” คุณเก๋ ย้อนที่มา

ก่อนเล่าต่อ ศึกษาจบจากโรงเรียนจ่าทหาร และภรรยากับเขา มีความสามารถในการทำอาหาร เลยมาช่วยกันคิดจะทำอะไรให้สามารถปลดหนี้ได้เร็วๆ จนวันหนึ่งจับปลาที่เลี้ยงไว้บ้าง ซื้อมาบ้าง นำมาทำปลาส้มขายกันเอง ซึ่งได้ผลตอบแทนดี จึงทำให้ใช้หนี้หมดได้ไว จากนั้นจึงคิดทำสินค้าใหม่ๆ กระทั่งออกมาเป็น ปลาส้มสูตรโบราณ (พ่อให้มา) สูตรสมุนไพร และสูตรพรีไบโอติกส์

คุณเก๋ บอกอีกว่า เมื่อได้สินค้าน่าสนใจแล้ว จึงขยายสาขา โดยช่วงก่อนโควิดขยายได้ 10 สาขา และฝากขายตามร้านทั่วไป ทำให้มีผลประกอบการจาก 10 จุดที่เป็นตลาดออฟไลน์ วันละ 2-3 พันบาท พอโควิดระลอกล่าสุดมา ต้องปิดการขายออฟไลน์ไป เพราะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ปัจจุบันจึงเหลือที่ขาย 2 อำเภอ 4 ตลาด กำไรจุดละ 1-2 พันบาทต่อวัน

“น้ำ เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ทุกอย่างที่มีในวันนี้ ล้วนมาจากน้ำ จึงอยากตอบแทน โดยจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคม ทำให้ชุมชนมีรายได้ และให้ชื่อวิสาหกิจแห่งนี้ว่า วังธรรม ที่แปลว่า วังแห่งน้ำ ซึ่งมีธรรมะล้อมรอบ” คุณเก๋ กล่าว

ผู้ประกาศข่าวคนดัง ทำเกษตรผสมผสาน สุขในบั้นปลาย

คุณกิตติ สิงหาปัด
คุณกิตติ สิงหาปัด

อีกหนึ่งแขกรับเชิญที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์คืนถิ่น คือ คุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศคนดัง ล่าสุดทราบกลับไปทำนาที่จังหวัดขอนแก่น ได้พักใหญ่แล้ว

“เป็นลูกหลานเกษตรกร เมื่ออายุมากขึ้นคงไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เพราะสุขภาพไม่ค่อยดี เลยคิดเปลี่ยนที่นาให้เป็นสวน และเมื่อคิดทำเกษตรผสมผสาน น้ำต้องมาก่อน เอารถแบ็กโฮมาขุดสระ ฝนตกน้ำก็เต็ม และน้ำอยู่ได้ทั้งปี สูบมารดน้ำต้นไม้” คุณกิตติ เกริ่นให้ฟัง

ก่อนเล่าต่อ ตอนทำนาปีที่ผ่านมา กะไว้ว่าถ้าฝนไม่ตกดีจะสูบน้ำจากสระออกมาทำนา แต่โชคดีฝนมาเร็วและนาอยู่ในเขตกรมชลประทาน เขื่อนอุบลรัตน์ เพิ่งปล่อยน้ำมาหลังจากน้ำท่วมใหญ่ ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้น้ำเพราะเขื่อนแล้งมาหลายปี แม้ที่นาอยู่ในเขตเขื่อนชลประทานก็จริง แต่เมื่อน้ำไม่พอก็ไม่มีน้ำของชลประทานมา ฉะนั้น การขุดสระเพื่อรับน้ำฝน จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการทำเกษตร หรือถ้าปีไหน กรมชลประทานปล่อยน้ำมาก็เอาน้ำเข้ามาเก็บในบ่อ ดีกว่าปล่อยไหลไปเปล่าๆ คิดว่าการมีสระในไร่นาจะช่วยพ้นแล้ง มีน้ำใช้ตลอด แถมเลี้ยงปลาได้ด้วย

“บ้านเราเป็นสังคมเกษตรก็จริง แต่ถ้ามาดูจะเห็นพื้นที่เกษตรถูกปล่อยรกร้างเต็มไปหมด แม้กระทั่งใกล้ๆ นาผม สวนของพี่น้องชาวบ้านหลายแปลงถูกทิ้งไม่มีใครมาปลูกอะไร เคยคิดอยากให้ลูกหลาน เอาต้นไม้ที่ปลูกแล้วเก็บผลผลิตกินได้มาลง นานๆ เดือน-2 เดือน อาจมาดู วางระบบน้ำไว้ ซึ่งเป็นผลดีกับพื้นที่ กับสภาพแวดล้อม กับตัวเอง ไม่มีอะไรเสียหาย ขุดบ่อน้ำ ดินที่ได้ก็เอามาถมปลูกต้นไม้ได้ ทำแล้วมีความสุข อากาศดี อายุมากขึ้นแล้วไม่ใช่วัยต่อสู้แข่งขันในป่าคอนกรีต มีแต่ความเครียด ออกมาอยู่แบบนี้บั้นปลายชีวิตจะมีความสุข” คุณกิตติ ว่าอย่างนั้น

อบจ.แพร่ ทำแผนงานจัดการน้ำ เตรียมรับคนตกงานกลับบ้าน

คุณอนุวัธ วงศ์วรรณ
คุณอนุวัธ วงศ์วรรณ

คุณอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ที่มีแผนงานจัดการน้ำ เตรียมรับคนตกงานกลับบ้าน ในนาม อบจ.แพร่ กล่าวว่า การจัดการระบบน้ำของจังหวัดแพร่ ได้รับคำแนะนำจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า การแก้ไขต่างๆ จังหวัดต้องมีศูนย์บริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้ทำตามและได้รับความเอื้อเฟื้อจาก สสน. ทำให้ปัญหาไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ถือเป็นเรื่องดีที่เกษตรกรในวันนี้มีพื้นที่ มีสระน้ำ เพราะลำพังเกษตรกรส่วนใหญ่คงไม่สามารถมีแหล่งน้ำเป็นของตนเองได้ทุกคน จึงเป็นหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเข้ามามีบทบาท

“เกษตรกร มีความรู้ ความสามารถ ในการเพาะปลูกอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาในประเด็นนี้ แต่ปัจจัยหลักที่เกษตรกรต้องการ อย่าง น้ำ ยังมีปัญหา จึงอยากขอความร่วมมือจาก องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ได้ทำการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในด้านแหล่งน้ำ ซึ่งในขณะนี้ เป็นช่วงที่ยังมีฝนอยู่ อยากให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีแหล่งน้ำในความรับผิดชอบของตน ช่วยกันกักเก็บน้ำเพื่อให้มีเพียงพอสำหรับเกษตรกรที่มีความต้องการใช้ ไปจนถึง พฤษภาคมปีหน้า” คุณอนุวัธ กล่าว

และว่า มีความกังวลกรณี เฟกนิวส์ (Fake News) เรื่องที่มีการปล่อยข่าวเกี่ยวกับปริมาณน้ำต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะ น้ำท่วม ฝนเยอะ จึงอยากจะให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านแหล่งน้ำ ได้กรุณาติดตามข้อมูลที่เป็นที่เชื่อถือได้ ว่าปริมาณน้ำจะมีความเป็นไปอย่างไรด้วย ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ในปีต่อไปควรกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด การพร่องน้ำเพื่อที่จะรอฝนต่อไป ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ดี ขอให้เก็บให้เต็มไว้ก่อน แล้วจะพร่องทีหลังก็ได้

“ขอขอบคุณ เอสซีจี ที่ให้ความอนุเคราะห์เติมเต็มเกษตรกร ในส่วนที่ อบจ. อาจมีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ การได้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ทำให้เกษตรกรแพร่ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการและไม่สามารถทำได้ทั่วทั้งจังหวัดก็ตาม แต่ส่วนที่ อบจ. ได้ทำไปแล้ว เกษตรกรมีความพึงพอใจและได้รับประโยชน์อย่างมาก” นายกอบจ.แพร่ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญน้ำ ชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทุน

ดร.สุทัศน์ วีสกุล
ดร.สุทัศน์ วีสกุล

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สสน. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำใน 7 เดือนของปีนี้ ภาพรวมฝนยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อนต่างๆ เช่น เหนือเขื่อนภูมิพล เหนือเขื่อนป่าสักฯ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของประเทศ การที่ฝนน้อยทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้น้อยลงด้วย 4 เขื่อนหลักของประเทศมีน้ำแค่ 1,634 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผู้อำนวยการ สสน. กล่าวต่อ ปี 2563 มีน้ำในเขื่อนหลักประมาณ 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการคาดการณ์ในฤดูฝนนี้ เดือนกันยายนและตุลาคม ประเทศไทยตอนบน จะกลับมามีฝนมากกว่าปกติ และคาดว่าจะมีแนวโน้มพายุเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยประมาณหนึ่งลูก ทางส่วนราชการ ต้องเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและน้ำป่า แต่นับเป็นโอกาสดีในการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ประชาชนชุมชนต่างๆ สามารถเก็บน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำท้องถิ่น แหล่งน้ำชุมชนได้ ช่วยลดภาวะน้ำท่วมและเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ จึงอยากเสนอว่าควรพลิกวิกฤต เก็บน้ำไว้เป็นทุนมาสร้างอาชีพ

ดร.รอยล จิตรดอน
ดร.รอยล จิตรดอน

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ สสน. กล่าวว่า น้ำ คือทุน คือจุดเริ่มต้นของหลายสิ่ง ถ้าสามารถ บริหารน้ำได้ ก็บริหารเกษตร บริหารตลาด บริหารการขาย ได้หมด เหตุการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนพากันกลับบ้าน 4-5 ล้านคน ขณะที่มีเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ก่อนแล้วราว 5-6 ล้านครัวเรือน ต่อไปเกษตรกร จะกลายเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากเห็นประเทศไทย มีสภาพย้อนกลับไปเหมือนเมื่อปี 2542 คือ พอเศรษฐกิจฟื้นทุกคนแห่กลับเข้าเมืองอีก ฉะนั้น ทำอย่างไร ถึงจะพัฒนาอาชีพในพื้นที่ได้ ปัจจุบัน สสน. มีตัวอย่างความสำเร็จเต็มไปหมด และพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับทุกชุมชน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ขณะที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า น้ำเป็นปัจจัยแห่งชีวิต อย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยรับสั่งไว้ น้ำ คือ ชีวิต แต่วันนี้สิ่งที่น่าวิตก คือ ความไม่แน่นอนด้านทุน จะทำอย่างไรที่จะแปลงน้ำให้เป็นทุน ที่ผ่านมาพวกเราไม่ค่อยมองเห็นน้ำเป็นเงิน ใช้เหมือนเป็นอากาศที่สูดหายใจ ใช้จนเพลินกระทั่งมองข้ามความสำคัญ และลืมไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เลี้ยงดูชีวิต ปัจจัย 4 เสื้อผ้า อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีน้ำ ฉะนั้น อยากให้เปลี่ยนสายตาการมองใหม่ น้ำ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหรือว่าโดยธรรมดา

ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า เวลานี้สถานการณ์โควิด-19 ให้บทเรียนอีกครั้ง หลายคนต้องกลับบ้าน แต่เมื่อกลับบ้านแล้ว จะมีกินมั้ย ถ้าคำตอบคือมี ความทุกข์จะหายไปเกินครึ่ง ฉะนั้นเวลานี้ ดิน ทุกกระเบียดนิ้วต้องทำประโยชน์ให้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่โตกว้างขวาง แค่พื้นที่เล็กน้อยหลังบ้านอย่าปล่อยปละละเลย ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์

“และแน่นอน ถ้าไม่มีน้ำคงทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้น ต้องคิดสะระตะให้ดี ตั้งแต่ตักน้ำขึ้นมา มีบ่อเล็ก บ่อน้ำตื้นบ่อบาดาล สติปัญญาต้องคิด ไม่ใช่ปลูกต้นไม้แล้วเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แต่พระองค์ท่านสอนให้คิด ว่ามีน้ำแค่นี้จะทำอะไร” ดร.สุเมธ กล่าว

และว่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเริ่มจากการประมาณน้ำก่อน เพราะเป็นเรื่องของทุน ดูว่าขีดความสามารถใช้ได้เต็มที่เท่าไหร่ กระบวนความคิดต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา น้ำมีแค่นี้ ต้องทำอะไร เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ตอนไหนน้ำมากค่อยปลูกพืชน้ำมาก ปรับไปตามสภาพทุนที่มี ความอยู่รอดจะเกิดขึ้น

“เวลานี้ ขอฝากพืชโตเร็วไว้ อย่าไปมุ่งหวังพืชที่มีราคา 30 ปีถึงได้ใช้งาน ปัจจุบันแทบทุกโครงการที่ทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ดูแลอยู่จะเน้นการปลูกไผ่ เพราะสามารถเห็นการเติบโตทันตา ทั้งนี้ อยากให้บริหารน้ำเหมือนบริหารเงินเดือน คือ เงินเดือนออกวันเดียวต้องใช้อีก 29 วัน ถ้าฝนตก 3 เดือน มาช่วงไหนก็ไม่รู้ แต่ต้องพร้อมเก็บไว้ให้พอใช้อีก 9 เดือน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัว ถ้าทำได้จะเกิดประโยชน์ ชีวิตพบสิ่งที่ปรารถนา คือ ความสุข” ดร.สุเมธ กล่าว

ก่อนฝากแง่คิดทิ้งท้าย

การทำเกษตร ถ้าขี้เกียจอย่าทำ อย่านึกว่าง่ายๆ กดนู่น กดนี่แล้ว ดอกผลจะออกมา บางอย่างปลูกตอนหนุ่ม ได้กินตอนแก่ก็มี คนเมืองที่ย้ายกลับต่างจังหวัดมาทำเกษตร ใช่จะเจอแต่ความสนุก แต่สามารถพบเจอความสุขได้จริง ต้องแยกกันให้ดี”