ส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย แต่งกายด้วยผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์

ส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย แต่งกายด้วยผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์
ส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย แต่งกายด้วยผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์

ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ เป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) เกิดจากภูมิปัญญาการทอผ้าโดยการสร้างลวดลายบนผืนผ้าที่ผสมผสานระหว่างการใช้เทคนิคการขิดและการจกของชาวอีสานที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าแพรวาที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้าประเภทนี้ ประกอบด้วยตัวลายทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1. ลายหลัก 2. ลายคั่น และ 3. ลายช่อปลายเชิง หรือลายเชิง

สำหรับผ้าไหมแพรวาสลับลายพิเศษ ลายเบอบุ่นอุ้มดอกจุ้มตีนหมาอุ้มดอกหางปลาวา เป็นผ้าไหมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผ้าไหมไทย ตรานกยูงพระราชทานจากกรมหม่อนไหม ลักษณะเป็นผ้ากว้าง 73 ซม. ยาว 5 เมตร ลาย 2.50 เมตร พื้น 2.50 เมตร ใช้วิธีการทอแบบใช้นิ้วก้อยในการจกหรือสะกิดลาย ใช้เส้นไหม 7 สี ในการเกาะลายที่ส่งผลให้เกิดเอกลักษณ์พิเศษที่โดดเด่น คือลายผ้าจะมีความนูน ลายละเอียด การทอผ้าไหมลายนี้ ช่างทอผ้า 1 คน ต้องใช้เวลาถึง 2 เดือนในการทอจึงแล้วเสร็จ

ผ้าไหมแพรวาสลับลายพิเศษ ลายเบอบุ่นอุ้มดอกจุ้มตีนหมาอุ้มดอกหางปลาวา จะมีความงดงามมากยิ่งขึ้น เมื่อใช้วิธีนุ่งห่มแบบเทคนิคการคิดค้นด้วยวิธีพันผูกเครื่องแต่งกายแบบโบราณของไทยผสมกับเทคนิคการออกแบบมูลาจ (Moulage) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการออกแบบแฟชั่นชั้นสูงในแถบยุโรป มาประยุกต์ให้เป็นการแต่งกายที่ทันสมัย ถือเป็นเทคนิคที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยจากความผูกพันด้วยสายใยของคนในครอบครัวเช่นเดียวกับเครื่องนุ่งห่ม ดังที่เห็นจากการนุ่งโจงกระเบน การห่มสไบ ที่ใช้วิธีการพันและผูกไม่ให้หลุด และยังสามารถนำผ้าทั้งผืนที่ใช้แล้วกลับมาเก็บรักษาไว้ได้อีกด้วย