อนาคตฟินเทคในประเทศไทย

อนาคตฟินเทค ในประเทศไทย

ในโลกการเงินยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ฟินเทคได้เข้ามามีบทบาทในผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น ซึ่งฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงิน ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นสินค้าและบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และปลอดภัย รวมทั้งช่วยลดต้นทุนของผู้ใช้งาน ด้วยประโยชน์และวัตถุประสงค์ของฟินเทคนี้เอง ทำให้ฟินเทคได้รับการพัฒนาและมีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น แนวโน้มบทบาทของฟินเทคในอนาคตในด้านต่างๆ สามารถสรุปได้เป็นประเด็นหลักๆ ดังนี้

บทบาทอนาคตของฟินเทคด้าน Investment

ในด้านการลงทุน ปัจจุบันฟินเทคได้เข้ามามีบทบาทในการลงทุนหลายรูปแบบ ได้แก่ การบริหารด้านการลงทุน (Investment Management) การระดมทุน (Crowdfunding) สกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) การประกันภัย (Insurance) ระบบการชำระเงิน (Payment Method) และโบรกเกอร์การเทรดออนไลน์ (Online Trading Broker) ทิศทางบทบาทของฟินเทคในภาคการลงทุนในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในฐานะที่เป็นเครื่องมือประสิทธิภาพสูงช่วยในการลงทุน โดยแนวโน้มการเติบโตจะเป็นไปในทิศทางต่อไปนี้

1. Investment Management – ฟินเทคกับการบริหารด้านการลงทุน

โดยฟินเทคจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ช่วยจัดการด้านการลงทุนหรือแพลตฟอร์มการลงทุนมีให้นักลงทุนได้เลือกหลากหลาย ได้แก่ แอพพลิเคชั่นลงทุนในกองทุนรวม Private Fund ทองคำ เป็นต้น รวมทั้งยังมีแพลตฟอร์มที่ใช้ AI ช่วยในการวิเคราะห์หุ้น และจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) ด้วย ซึ่งในอนาคตฟินเทคจะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพเครื่องมือเหล่านี้ เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์การลงทุนและโอกาสการสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุน

2. Crowdfunding Platforms – ฟินเทคกับแพลตฟอร์มการระดมทุน

ในปัจจุบัน คราวด์ฟันดิงแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างผู้ประกอบการ และนักลงทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถระดมทุนได้โดยตรงจากนักลงทุน และยังเป็นการเปิดโอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุนในการเลือกธุรกิจที่ตนเองสนใจมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดสามารถดำเนินการผ่านคราวด์ฟันดิงแพลตฟอร์มได้ ดังนั้น การพัฒนาของฟินเทคสู่คราวด์ฟันดิงแพลตฟอร์มนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสการลงทุนแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการลงทุนอีกด้วย ซึ่งในอนาคตการลงทุนบนแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น และเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง และให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย เป็นต้น

3. Digital Currency – ฟินเทคกับสกุลเงินดิจิทัล

ปัจจุบันสกุลเงินดิจิทัลและเทคโนโลยี Blockchain ได้รับการยอมรับมากขึ้น จากแนวคิดความเท่าเทียมกันด้านสกุลเงินและเป็นช่องทางหนึ่งในการลงทุน ซึ่งความก้าวหน้านี้เกิดจากการพัฒนาของฟินเทค ที่ได้สมมติชุดข้อมูลขึ้นมาในโลกออนไลน์ แล้วทำให้ชุดข้อมูลนั้นใช้งานได้เหมือนเงินจริง สามารถใช้จ่ายได้ และยังใช้ในการลงทุนและเก็งกำไรได้ ดังนั้น การพัฒนาของฟินเทคในสกุลเงินดิจิทัลสามารถเรียกได้ว่าเป็น Technology Disruptive ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

4. Insurtech – ฟินเทคกับการลงทุนด้านประกันภัย

ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้ความสนใจลงทุนด้านการประกันชีวิตและประกันภัยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะประกันเหล่านี้จะคืนผลตอบแทนให้ตามระยะเวลาที่กำหนด อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น ฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินจึงถูกนำมาใช้เพื่อคำนวณเบี้ยประกันที่มีความซับซ้อน ผลตอบแทน และความเสี่ยง นอกจากนี้ ในด้านของผู้เสนอขายประกันยังใช้ฟินเทคช่วยในการคำนวณอัตราส่วนลดอย่างเป็นเหตุเป็นผลให้กับผู้ซื้อได้ด้วย ดังนั้น ฟินเทคจึงช่วยให้การบริหารจัดการระบบประกันง่ายขึ้น ซึ่งแนวโน้มในอนาคต ฟินเทคจะช่วยพัฒนาระบบให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งการประมวลผลมีความแม่นยำและรองรับผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้นด้วย

5. Payment Technology – ฟินเทคกับระบบการชำระเงิน

ในด้าน Banking Technology ปัจจุบันได้มีการนำฟินเทคมาใช้กับระบบธนาคารมากขึ้น ซึ่ง Banking Technology ที่สำคัญคือ Mobile Banking ที่ได้รับการพัฒนาจากภาคธนาคารเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินมากยิ่งขึ้นและสะดวกขึ้น โดยผ่านระบบแอพพลิเคชั่นธนาคาร ซึ่งในระบบ ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่างๆ และบริหารจัดการด้านการเงินของตัวเองได้ และรองรับฟังก์ชั่นเดียวกันกับที่ธนาคารแบบดั้งเดิมสามารถทำได้ ได้แก่ การตรวจสอบยอดบัญชี การโอนเงิน จ่ายบิล เป็นต้น ซึ่งในอนาคต Banking Technology มีแนวโน้มพัฒนาให้สามารถรองรับเครือข่ายการชำระเงินได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในภาคธุรกิจได้ ในส่วนของ Payment Technology หรือเทคโนโลยีระบบการจ่ายเงิน ปัจจุบันมีลักษณะการดำเนินงานคือ เป็นระบบตัวแทนการจ่ายเงิน ที่ผู้ใช้ต้องเปิดบัญชีกับทางแพลตฟอร์มและจะสามารถใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ ซึ่งระบบการจ่ายเงินดังกล่าว ได้แก่ ระบบ เครดิตการ์ด E-Wallet เป็นต้น โดยระบบแพลตฟอร์มดังกล่าวจะต่างจาก Mobile Banking คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่ใช่ธนาคาร และให้บริการเฉพาะการใช้จ่ายเท่านั้น

6. Online Trading Broker โบรกเกอร์การเทรดออนไลน์

ฟินเทคที่มีต่อโบรกเกอร์การเทรดออนไลน์ที่ช่วยให้เทรดเดอร์ซื้อขายสินทรัพย์ได้อย่างง่ายดาย เช่น นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นผ่านโทรศัพท์มือถือผ่านการให้บริการจากโบรกเกอร์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นความสำคัญของฟินเทค (Fintech) ที่มีต่อโบรกเกอร์ออนไลน์ ได้แก่ โบรกเกอร์ที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ เช่น สามารถฝากถอนผ่านโทรศัพท์มือถือได้แบบเรียลไทม์, การออกแบบอินเทอร์เฟซการเทรดที่ใช้งานง่าย รวมไปถึงการปรับปรุงเครื่องมือการเทรดที่ตอบโจทย์เทรดเดอร์ได้ เหล่านี้ถือเป็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างโบรกเกอร์ออนไลน์ด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของเทรดเดอร์เอง

บทบาทอนาคตของฟินเทคในด้าน Finance หรือด้านการเงิน

บทบาทอนาคตของฟินเทคในด้านการเงินในประเทศไทย สามารถแบ่งได้เป็น 6 ด้านหลักๆ ดังนี้

1. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน

ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการนำฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การโอนเงินผ่าน Digital Payment ด้วยระบบพร้อมเพย์ ซึ่งเป็นบริการทางเลือกด้านการเงินที่หน่วยงานภาครัฐมีไว้สำหรับอำนวยความสะดวกด้านการเงินให้กับประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่าง​ๆ โดยสามารถใช้ได้ทั้งการโอนเงินและรับเงิน ซึ่งระบบพร้อมเพย์ดังกล่าวจะใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับเงินแทนการใช้หมายเลขบัญชีธนาคารได้ จึงสะดวกแล​ะง่ายต่อผู้ใช้งาน เพราะเพียงแค่จดจำหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน ก็สามารถโอนและรับเงินได้แล้ว โดยในอนาคตการพัฒนาระบบการโอนเงินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานนี้อาจได้รับการพัฒนาให้รองรับการทำธุรกรรมได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ค่าธรรมเนียมต่ำลงจากการที่มีผู้ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ มากขึ้นด้วย

นอกจากเทคโนโลยีการโอนเงินแล้ว การชำระเงินค่าโดยสารรถสาธารณะของเราในปัจจุบันยังมีการนำเอาฟินเทคมาใช้ด้วย เช่น บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันได้มีการนำมาใช้กับรถโดยสารประจำทาง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับชำระค่าโดยสารและความปลอดภัยจากการลดปริมาณการพกพาเงินสด รวมทั้งยังมีความแม่นยำในการคำนวณค่าโดยสารและรายได้ที่ได้รับ ดังนั้น ในอนาคตการใช้ฟินเทคเพื่อพัฒนาด้านการคมนาคมจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นแน่นอน

2. E-Trade Connect หรือแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อการค้า

โดยฟินเทคได้ถูกนำมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินสำหรับการค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าเนื่องจากสามารถเก็บหลักฐานทางการเงินและการค้า รวมถึงการดำเนินการขั้นตอนทางการเงินเพื่อทำการค้าระหว่างกันได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยี E-Trade Connect มีให้บริการในหลายธนาคาร โดยจะให้ลูกค้าสามารถกำหนดขั้นตอนการอนุมัติเองได้ และรับจ่ายเงินกับคู่ค้าได้ รวมทั้งสามารถบันทึกข้อมูลรายการซื้อขายไว้ได้ และรับส่ง Trade e-Report หรือรายงานธุรกรรมการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

3. การพัฒนาบริการทางการเงินระหว่างประเทศ

ในปัจจุบัน ฟินเทคได้เพิ่มการพัฒนาและประสิทธิภาพของธุรกิจด้านการชำระเงินมากขึ้น โดยได้ขยายบริการ digital payment ระหว่างประเทศมากขึ้น ผ่านการชำระเงินทาง QR Code การพัฒนาดังกล่าวทำให้เครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศเกิด Interoperability หรือสามารถเชื่อมโยงการใช้บริการกันได้ ตัวอย่างเช่น เครือข่ายบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เครือข่ายกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Mobile Wallets ซึ่งในอนาคต การพัฒนาด้าน Digital Payment จะช่วยลดข้อจำกัดในการชำระเงินระหว่างประเทศและส่งเสริมให้มีการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

4. การพัฒนาข้อมูลด้านการเงิน หรือ Data Analytics

การพัฒนาข้อมูลด้านการเงินจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้วิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการได้ ตัวอย่างเช่น ในภาคธนาคารได้มีการประยุกต์ใช้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินเพื่อให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ ฟินเทคที่ใช้ในด้าน Data Analytics ยังสามารถช่วยสร้างประสบการณ์การใช้ Social Platform ที่มีการบริการที่ทัดเทียมกันได้ ซึ่งในอนาคต Data Analytics จะช่วยกำหนดกลยุทธ์และทิศทางของธุรกิจต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากมีความแม่นยำของการประมวลผลข้อมูลสูง รวมทั้งจะมีการใช้ในการวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งฟินเทคเหล่านี้ได้แก่ Data Governance และ Data Privacy และหากเทคโนโลยีทั้ง 2 ประเภทนี้ใช้ควบคู่กันไป จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น

5. การป้องกันและรับมือภัยไซเบอร์

ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการเงินไม่ได้แค่นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินเท่านั้น แต่ได้มีการนำมาใช้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสร้างความโปร่งใสด้านการเงินให้กับหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย โดยได้มีการพัฒนาระบบป้องกันข้อมูลด้านการเงินให้มีการกำหนดความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล หรือ Accessibility เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางการเงิน ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและผู้ให้บริการในภาคการเงินได้มีการร่วมมือกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการป้องกันภัยไซเบอร์ดังกล่าว รวมทั้งยกระดับศักยภาพในการป้องกันภัยและการบริหารความเสี่ยง โดยในอนาคต การป้องกันภัยไซเบอร์มีแนวโน้มที่จะยกระดับการป้องกันมากขึ้น เพื่อให้เท่าทันการโจรกรรมข้อมูลทางการเงินที่มีหลายรูปแบบมากขึ้น

6. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ

โดยฟินเทคจะช่วยเอื้ออำนวยต่อการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทั้งในภาคธุรกิจและภาคการเงิน ทั้งนี้ เนื่องจากฟินเทคได้เพิ่มความสะดวกทั้งทางด้านข้อมูลและการทำธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้น จึงสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยเอื้อให้เกิดการแข่งขันและสร้างแรงจูงใจในภาคธุรกิจและภาคการเงินได้ ซึ่งในอนาคต เมื่อฟินเทคได้รับการพัฒนามากขึ้น ภาคธนาคารจะเพิ่มบทบาทของตนเองมากขึ้น โดยจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้กำกับดูแลการทำธุรกรรมด้านการเงิน แต่ยังเพิ่มบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการด้านการเงินอีกด้วย เพราะสำหรับธนาคารซึ่งเป็นผู้ให้บริการหลักด้านการเงิน จะมีการพัฒนาบทบาทของตนเองโดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าจะเป็นสิ่งหลัก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบทบาทดังกล่าว จะต้องประกอบด้วยการออกแบบและวางแผนการบริการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาฟินเทคไปพร้อมๆ กับการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และการบริการด้านการเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคการเงินได้

สรุป

จากการพัฒนาฟินเทคในประเทศไทยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าในอนาคต ฟินเทคจะมีการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ โดยเน้นที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเข้าถึงผู้ใช้ และการลดข้อจำกัดของขั้นตอนด้านการเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและการเงินเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้น