เอามื้อสามัคคี โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

เอามื้อสามัคคี โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
เอามื้อสามัคคี โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

เอามื้อสามัคคี โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

พช. มุ่งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นวิถีชีวิต ทั้งยังเป็นการพัฒนาคนให้มีความรู้ พึ่งพาตนเอง มีความเป็นเจ้าของร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านชุมชนให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข” กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จและเกิดประโยชน์ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน

นอกจากนี้ การพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาพื้นที่ ในการทำแปลงจะใช้หลักการแบบที่เรียกว่า “การเอามื้อสามัคคี” ซึ่งหมายถึง การร่วมช่วยเหลือลงแรงกันหรืออาจเรียกได้หลากหลาย เช่น การลงแขก การซอแรง เป็นต้น ด้วยการยึดหลักเรียนให้รู้ ดูให้เห็น ทำให้เป็นด้วย 9 ฐานเรียนรู้ ลงมือทำจริงด้วยกิจกรรม “จิตอาสาเอามื้อสามัคคี” เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการยังชีพในภาวะวิกฤต และวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองสู่ความยั่งยืน

การเอามื้อสามัคคี ถือเป็นการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง สร้างองค์ความรู้กสิกรรมธรรมชาติ วางแผนทำกิจกรรม แบ่งหน้าที่ แบ่งคน แบ่งงาน ภายใต้แนวคิด “คึกคัก คล่องแคล่ว ครื้นเครง” และลงมือปฏิบัติจริง ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การห่มดิน การจัดการน้ำ การปั้นคันนา การทำแซนด์วิชปลา การบำรุงดิน การปลูกดอกไม้ล่อแมลง การปลูกหญ้าแฝก การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไม้ 5 ระดับ (สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน กินหัว) จบกิจกรรมด้วยการท่องคาถา “เลี้ยงดิน ให้ดิน เลี้ยงพืช” และการเก็บอุปกรณ์ เมื่อเสร็จจากกิจกรรมลงมือปฏิบัติ ก็รับประทานอาหารร่วมกันโดยแต่ละคนหิ้วปิ่นโตอาหารมาจากบ้าน ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทำเกษตรมาแบ่งปันกัน และในระหว่างการรับประทานอาหารก็จะมีการแบ่งปันความรู้สึกดีๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้ทำจริง

กิจกรรมเอามื้อสามัคคี ร่วมกันพัฒนาแปลง ถือเป็นกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันในสังคม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ร่วมเรียนรู้สร้างทักษะผ่านการลงมือปฏิบัติตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ

อีกทั้งเป็นการปลูกฝังหลักความรู้คู่คุณธรรม ตามวิถีแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการร่วมแรงร่วมใจ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เสียสละ มีความเพียร ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างสรรค์บรรยากาศที่ดีในการทำงานแบบพี่แบบน้อง สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการทำงานที่ได้หลัก 3 อย่าง คือ “ทำงานได้งาน ทำงานได้เพื่อน ทำงานได้พัฒนาตนเอง”