“ดีแทค เน็ตทำกิน” ปั้นผู้ค้าออนไลน์ สร้างช่องทางรวยยุคโควิด

“ดีแทค เน็ตทำกิน” ปั้นผู้ค้าออนไลน์ สร้างช่องทางรวยยุคโควิด
“ดีแทค เน็ตทำกิน” ปั้นผู้ค้าออนไลน์ สร้างช่องทางรวยยุคโควิด

“ดีแทค เน็ตทำกิน” ปั้นผู้ค้าออนไลน์ สร้างช่องทางรวยยุคโควิด

โควิด-19 ที่เป็นวิกฤตต่อเนื่องจากปีก่อนมาถึงตอนนี้ พ่นพิษใส่ผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีสายป่านยาวพอจะทำให้ธุรกิจยืนหยัดอยู่ได้ เมื่อธุรกิจทรุด รายได้ลด ก็เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมาเป็นระลอก ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมกันเข้าก็สร้างความสูญเสียเป็นวงกว้าง

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของไทย จึงใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีในมือมาสนับสนุนผู้ค้ารายย่อย ด้วยการจัดโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” รับปี 2564

เปิดรับสมัครผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศมาอบรมหลักสูตรดิจิทัล 6 เดือนแบบฟรีๆ เริ่มซีซันแรกในเดือนมีนาคมนี้ คัดสาระเนื้อๆ เน้นๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจออนไลน์ สร้างโอกาสให้พ่อค้าแม่ขายมีช่องทางปั้นรายได้เพิ่มในยุคเศรษฐกิจซบเซา

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดีแทค เกริ่นถึงที่มาของ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ว่า สิ่งหนึ่งที่ดีแทคให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือ การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ข้อที่ 10 ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ 

ตลอดระยะเวลาราว 7 ปีที่ผ่านมา “ดีแทค เน็ตทำกิน” หรือชื่อเดิมคือ ดีแทค เน็ตอาสา เน้นการลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตกับประชาชนทั่วประเทศ ทุกเพศทุกวัย และหลากหลายอาชีพ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ในโลกอินเทอร์เน็ต รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องช่องทางทำมาค้าขายออนไลน์ เป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ทางหนึ่ง กระทั่งโควิด-19 มาเยือน คนไทยไม่น้อยได้รับผลกระทบแสนสาหัส โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ ดีแทคจึงเปิดเกมรุกช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” 

เศรษฐกิจช่วงโควิดเป็นการเปิดแผลใหญ่ของสังคมเลยก็ว่าได้ เราเห็นผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่มีหน้าร้านแล้วยอดขายตกโดยเฉลี่ย 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันเราก็เห็นการค้าออนไลน์เติบโตมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะพลิกเกม มีสูตรเดียวเท่านั้นคือคุณต้องประสบความสำเร็จในการค้าออนไลน์ให้ได้ เป็นเหตุผลที่เราปรับเป็น ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ มุ่งอบรมผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคนชายขอบ หมายถึงมีสินค้าที่ดีแต่ยังไม่มีตัวตนบนออนไลน์ หรือมีแล้วแต่ยังขายไม่ได้หรือขายไม่ดี เพราะยังไม่ใช่ช่องทางหลัก ซึ่งเราจะให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจออนไลน์” อรอุมา ขยายความ

“ดีแทค เน็ตทำกิน” ซีซันแรก เปิดรับสมัครผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ 100 คน โดยไม่จำกัดอายุ เพศ วัย และไม่ว่าจะใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือค่ายไหนก็สามารถสมัครได้หมด ขอเพียงมีความตั้งใจจริงที่จะทำธุรกิจออนไลน์ให้สำเร็จ 

นอกจากเรื่องทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว อรอุมา ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ดีแทคภายใต้การนำของ ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยังขยายโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง อย่างการขยายโครงข่ายคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ กว่า 2,400 แห่ง ควบคู่กับการขยายเทคโนโลยี 5G-เรดี้ แมสสีฟ ไมโม กว่า 20,000 สถานีฐาน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งหมดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “ทูมอร์โรว์ ฟอร์ ออลล์” หรือ “พรุ่งนี้ที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน” ของดีแทค

ดีแทคมองว่าสังคมทุกวันนี้ไม่ได้เป็นของคนที่มีความรู้ด้านดิจิทัลเท่านั้น แต่เป็นสังคมของทุกคน ซึ่งเรื่องทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีส่วนจำเป็นในการขยายโอกาสให้ทุกคนในประเทศเข้าถึงโลกดิจิทัลอย่างทั่วถึง” ผู้บริหารดีแทค กล่าว 

อีกแรงสำคัญในการขับเคลื่อน “ดีแทค เน็ตทำกิน” คือทีมงานคนรุ่นใหม่ที่ประกอบด้วย “โค้ชไอซ์” ภัทรียา จันติ๊บ “โค้ชตุ๊ก” วงสุรีย์ คำจุมพล “โค้ชบูม” วรางคณา ยันต์แดง “โค้ชแป๋ว” วนิดา เสร็จกิจ และ “โค้ชเบนซ์” ยุทธพงษ์ สนั่นนาม

ทั้งหมดผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ จากดีแทคมาแล้วอย่างเข้มข้น อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะต่างๆ ที่ต้องรู้ในการทำธุรกิจออนไลน์ ทั้งยังลงพื้นที่คลุกคลีกับผู้ประกอบการรายย่อยมาแล้วทั่วไทย ทำให้สามารถวิเคราะห์ ให้คำแนะนำจุดแข็งและโอกาสทางธุรกิจของผู้ค้าแต่ละรายได้อย่างตรงจุด 

สำหรับหลักสูตร “ดีแทค เน็ตทำกิน” นั้น โค้ชทั้ง 5 คน ให้รายละเอียดว่ามี 6 หัวข้อ คือ 

พื้นฐานการตลาดยุคดิจิทัล ปูพื้นว่าการตลาดออนไลน์คืออะไร พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นแบบไหน รวมถึงให้รายละเอียดเรื่องเครื่องมือการทำการตลาดต่างๆ

แพลตฟอร์มการทำการตลาดออนไลน์ ชวนทุกคนมาเรียนรู้แพลตฟอร์มที่จะนำเสนอสินค้าได้โดนใจลูกค้าที่สุด ทั้ง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูบ ไลน์ 

การถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับการตลาดออนไลน์ สอนเทคนิคการจัดวางองค์ประกอบเบื้องต้นและการถ่ายภาพสินค้าให้สวยงามน่าซื้อ

การสร้างคอนเทนต์และจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เจาะลึกการเขียนคอนเทนต์ให้ปังบนออนไลน์

ปักหมุดธุรกิจติดดาว สร้างตัวตนบนออนไลน์ด้วยการปักหมุดบนกูเกิลแมป และการใช้กูเกิล บิสซิเนส เพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างการรับรู้

คำแนะนำด้านธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการนำไปปรับปรุงคุณภาพและแพ็กเกจเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า 

วิธีสอนของพวกเราเริ่มจากการปูพื้นให้ทุกคนเข้าใจเหมือนกันหมดก่อน ถ่ายทอดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย พูดคุยกับทุกคนเหมือนเราเป็นเพื่อนหรือเป็นลูกหลาน แนะนำไปทีละขั้นตอนให้ลองทำไปพร้อมๆ กัน ใครไม่เข้าใจก็สามารถถามเข้ามาในกรุ๊ปไลน์ที่เราตั้งไว้ได้ เรายินดีให้คำปรึกษาทุกเรื่อง” “โค้ชไอซ์” ภัทรียา เสริม

ที่ผ่านมา “ดีแทค เน็ตทำกิน” ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้ประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์มาแล้วจำนวนมาก ยกตัวอย่างพอหอมปากหอมคอ เช่น “น้ำพริกบ้านทนาย” ที่เดิมขายในร้านขายของชำในอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท แต่ตอนนี้ขายออนไลน์ส่งทั่วไทย และมีแผนส่งขายตลาดต่างประเทศ “เจ๊แมว ข้าวต้มนักเลง” ร้านข้าวต้มชื่อดังที่ตั้งแผงในตลาดอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ฝ่าโควิด-19 มาได้ด้วยการขายออนไลน์ เป็นต้น

อีกกรณีหนึ่งเป็นคุณป้าวัย 70 กว่า ขายผ้าทอที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีความตั้งใจอยากขายออนไลน์ เราก็สอนตั้งแต่เปิดปิดสมาร์ตโฟน สอนโพสต์ สอนไลฟ์สดให้ชาวเน็ตได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนและการทอผ้าที่นั่น จากขายผ้าทอออนไลน์ได้หลักพันต่อเดือน ก็ไปถึง 40,000-50,000 บาทต่อเดือนแล้ว” “โค้ชตุ๊ก” วงสุรีย์ เล่า

การช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไทยมีทักษะดิจิทัล กระทั่งสร้างธุรกิจออนไลน์และสร้างรายได้เพิ่มในสภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ไม่เพียงเป็นกำลังใจอย่างดีให้ทีม “ดีแทค เน็ตทำกิน” เท่านั้น แต่ยังเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่ทีมงานสามารถนำไปถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการรายย่อยคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ เพื่อสร้างความสำเร็จในธุรกิจออนไลน์ได้ต่อไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็ตอบโจทย์ของ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ตอบโจทย์ปากท้องของทุกคน

ผู้ประกอบการรายย่อยคนไหนสนใจเข้าร่วมโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” สามารถสมัครได้ที่ www.dtac.co.th/NetforLiving 

ล้มแล้วอย่าท้อ ลุกแล้วลุยไปด้วยกัน เพราะทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ